You cannot create experience. You must undergo it.
เราไม่สามารถสร้างประสบการณ์ขึ้นได้เอง เราเพียงแค่ต้องดื่มด่ำกับมัน เมื่อมันเกิดขึ้น
เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วครับ ตั้งแต่ที่ผมเริ่มมีแนวคิดในการ เพิ่มรายได้ และ ลดรายจ่าย เพื่อนำมาเก็บออมลงทุนให้มีทรัพย์สินมากพอจะเลี้ยงตัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากงานประจำ จนประมาณต้นปี 2014 ผมก็สามารถออกจากงานประจำ มาทำเว็บ A-Academy แบบ Full-Time ได้สำเร็จ
ช่วงนี้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างอึมครึม หุ้นตก ปริมาณการซื้อขายลดลง ข่าวสารทางเศรษฐกิจการเมืองต่างๆ ก็ไม่สู้ดีนัก ทำให้ผมย้อนนึกถึงวันเก่าๆ ในช่วงที่ลงทุนสะสมทรัพย์สินในรูปของหุ้นมา ซึ่งผมเริ่มลงทุนในหุ้นอย่างจริงจังในปี 2007 และลงทุนมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ก.ค. 2015)
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะในช่วงนั้นหุ้นขึ้นมาจากแถวๆ 6-700 จุด มาที่ประมาณ 1450 จุด ณ ปัจจุบัน แต่ระหว่างทางก็มีการปรับตัวลงหนักๆ ถึง 3 รอบใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นพิเศษในบทความนี้
โชคดีได้เจอวิกฤติเร็ว… วิกฤติแรกก็ลูกใหญ่ที่สุดในทศวรรษเลย
ผมรู้จักหุ้นช่วงปี 2005 และปลุกปล้ำลองผิดลองถูกกับมันมา กว่าจะเจอแนวทางที่คิดว่า “ใช่สำหรับตัวเอง” ก็ปลายปี 2006 แล้ว ดังนั้นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของผมกับการลงทุนในหุ้นคือตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ซึ่งก็ถือว่าเริ่มได้ดีมาก เพราะปีแรกหุ้นก็ขึ้นจาก 700 จุดไป 900 จุด (+28%) ทำเอาพอร์ต “หลักหมื่น” ของผมเติบโตขึ้นถึงขั้นพลิกชีวิต! ซะเมื่อไหร่ 😛 (เงินมันน้อยครับ ขึ้นยังไงก็ยังอีกไกลจากเป้าหมาย)
ความรู้สึกตอนนั้นมันก็ค่อนข้าง “มั่นใจ” ว่าเราเดินมาถูกทาง เลือกหุ้นดีๆ (ตามที่สอนใน Series 10) แล้วก็ทยอยซื้อทุกเดือนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละ น่าจะพาเราไปถึงเป้าได้
แต่แล้วความเป็นจริง (อันโหดร้าย) ของตลาดหุ้นก็แสดงตัวออกมาช่วงกลางปี 2008 ซึ่งเกิด วิกฤติ Sub-Prime หรือ วิกฤติ Hamburger ขึ้นในสหรัฐฯ
ช่วงนั้น SET Index ใช้เวลาประมาณครึ่งปี
ปรับลง 500 จุด จาก 900 จุด ลงไปที่แถวๆ 400 จุด คิดเป็นการปรับลงมากถึง -58% !!!
อยากให้ลองจินตนาการตามดูนะครับ การปรับลงหนักขนาด -58% นี้ หากเทียบกับดัชนีระดับปัจจุบันที่ 1450 จุด จะเทียบเท่าการตกถึง 840 จุดเลย… น่าสะพรึงมาก!
หุ้นตกเยอะ… แล้วทำไมถึงบอกว่าโชคดี ?
เหตุผลแรกคือพอร์ตตอนนั้นยังเล็กมากครับ (พอร์ตหลักหมื่น + เงินลงทุนเพิ่มรายเดือนอยู่หลักพันเอง) ดังนั้น ต่อให้มันเสียหายแบบหมดเกลี้ยงเลย มันก็สร้างใหม่ได้ในเวลาไม่นานแน่ๆ (ตอนนั้นผมอายุประมาณ 24) เต็มที่ก็เหมือนเสียเวลาเปล่าๆ ไปซักสองปีเท่านั้น… แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ผมรู้สึก “โชคดี” หรอกครับ
เหตุผลหลักคือ “การได้ทำความเข้าใจหลักการที่เลือกใช้อย่างถ่องแท้” ต่างหาก!
เพราะใครๆ ก็พูดได้ว่า “ให้เลือกหุ้นที่ดี ไม่กระจุกเกินไป และทยอยลงทุนแบบ DCA เป็นประจำ” แต่พอขาลงมาจริงๆ เราจะยังทำอย่างนั้นได้อยู่มั๊ย ? หรือแค่ DCA เป็นเฉพาะขาขึ้น ?
ในเวลานั้น… ผมซึ่งเป็น “มือใหม่” ที่เพิ่งสัมผัสตลาดขาขึ้นหนักๆ มาหยกๆ และกำลัง “ระเริง” ในความสำเร็จ เหมือนถูก “ตบหน้า” อย่างแรง
- ข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุน ตลาดหุ้น มีแต่ข่าวร้ายๆ ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
- หุ้นที่ (คิดว่า) ดีๆ ที่เราเลือกไว้ แม้แรกๆ จะพอยืนอยู่ได้ แต่สุดท้ายก็ร่วงหนักไม่แพ้ตลาดเหมือนกัน
- ยิ่งทยอยลงทุนในแต่ละเดือน หุ้นก็ยิ่งตกไปเรื่อยๆ
- เดือนแรกๆ ก็ยังพอไหว แต่ทำไปหลายเดือนเข้า มันเหมือนเรากำลังโง่… หวังลมๆ แล้งๆ
ถามสิ่งที่ควรถาม… ในเวลาที่ต้องใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์!
น่าจะเป็นโชคของผม ที่มีความเป็น “เจ้าหลักการ” อยู่พอสมควร เพราะในช่วงที่ใจสั่นหวั่นไหวอยู่นั้น มันก็เกิด “คำถาม” ขึ้นในใจเกี่ยวกับหลักการที่ผมเลือกใช้
Q1 : หุ้นจะตกไปเรื่อยๆ จนไม่มีวันขึ้นเลยใช่หรือไม่ ?
เอ… ไม่น่าใช่นะ เท่าที่เราเรียนรู้มา “ราคาหุ้นในระยะสั้นเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยอะไรก็ได้” แต่ว่า “ราคาหุ้นในระยะยาวแปรผันตามกำไรต่อหุ้นของกิจการ” นั่นคือบริษัทที่กำไรยังดี ยังโต ราคาหุ้นตกยังไง สุดท้ายก็จะวิ่งกลับมาสะท้อนกำไรของกิจการจนได้!
หุ้นที่เราเลือกแม้ตอนนี้ราคาจะตก แต่กิจการก็ยังอยู่นี่หน่า คนก็ยังกินยังใช้ ยังขายของได้อยู่ กำไรก็น่าจะยังยืนๆ ได้ ลดก็คงนิดหน่อย พ้นช่วงนี้ไปก็น่าจะดีขึ้นสิ
Q2 : หยุดเฉลี่ยขาลงก่อนมั๊ย… รอให้บรรยากาศดีขึ้นค่อยเริ่มใหม่ ?
อืมม… ตอนที่ศึกษาวิธีการลงทุนแบบ “Dollar-Cost Averaging (DCA)” เนี่ย เค้าก็มีบอกไม่ใช่เหรอว่า เป็นวิธีที่ “เลี่ยงการกะเก็งภาวะตลาด” คือ “ราคาขึ้นก็ซื้อเพื่อรักษาวินัยการลงทุน ราคาลงก็ซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ดีขึ้น จากจำนวนหุ้นที่จะซื้อได้มากขึ้น”
แล้วถ้าเราจะทยอยซื้อเฉพาะตอนหุ้นขาขึ้น มันก็ไม่ใช่วิธี DCA แล้วสิ คือทำครึ่งเดียว สรุปว่าจะใช้วิธีการอะไรกันแน่ เพราะถ้าใช้ DCA ก็ต้องเฉลี่ยตอนขาลงด้วย (อันที่จริงๆ ยังมีวิธีจัดการอื่นๆ อีกมากมาย แต่ตอนนั้น รู้ดีแค่วิธีนี้จริงๆ ครับ)
Q3 : แล้วถ้ามันลงไปเรื่อยๆ ยาวนาน ไม่ขึ้นเสียทีล่ะ ?
สรุปว่าจะลงทุนกี่ปีกันแน่ ? จะใช้เงินเดี๋ยวนี้หรือจะใช้ตอนไหน ?
เพราะถ้าจะต้องใช้เงินเร็วๆ นี้ ก็ต้องไม่ใช่วิธีนี้ตั้งแต่ต้นสิ
แสดงว่าก็ยังรอได้หลายปีอยู่ หุ้นที่เลือกก็เลือกดีแล้วไม่ใช่เหรอ ?
Q4 : แล้วกรณีเลวร้ายสุดๆ นานแค่ไหนกว่ามันจะดีขึ้น ?
อนาคตไม่มีใครรู้… แต่ในอดีต ตลาดขาลงกรณีเลวร้ายสุดของหุ้นไทย เคยเกิดขึ้นสองรอบ
Q5 : แล้วเราลงทุนได้ยาวกว่านั้นมั๊ย ?
ยาวกว่าสิ… ก็กะจะลงจนมันโตเป็นหลายๆ ล้านนู่นแน่ะ
รักษาวินัยลงทุนไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ก็ไม่เลว!
หลังจากถามเอง-ตอบเอง ไปหลายๆ คำถาม แม้จะยังหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่ ณ ตอนนั้นก็คิดว่า ลองดูซักตั้งจะเป็นไรไป พอร์ตก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย อะไรๆ ก็คิดทบทวนไว้แล้ว
ผลคือเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป ก็พบว่ามีเงินหลายๆ ก้อนที่ได้ซื้อในราคาที่ต่ำมากๆ บางก้อนนี่ แค่ราคาหุ้นกลับมาที่ระดับเดิมก่อนวิกฤติ เงินก้อนนั้นก็กำไรขึ้นมาเกินเท่าตัว (มากกว่า 100%) เลยทีเดียว
ซึ่งหลังจากวิกฤติครั้งนั้น… ผมก็ทำแบบเดิมมาเรื่อยๆ ผ่านวิกฤติขนาดกลางๆ ติดลบ 20-30% มาอีกประมาณ 2 ครั้ง (ช่วงปลายปี 2011 กับ 2014) พร้อมๆ กับที่เงินใหม่ก็เพิ่มขึ้น ตามความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน และความรู้จักเลือกใช้จ่ายอย่างรู้หน้าที่ (หน้าที่ของคนหวังมีอิสรภาพทางการเงิน ^_^)
ช่วงนั้นนี่ถึงขั้นแอบอยากให้มันมีวิกฤติ แล้วหุ้นตกหนักๆ ซะบ้าง เพราะหลังวิกฤติทีไร พอร์ตก็โตได้มากทุกที สาเหตุสำคัญก็เพราะมันมีอานิสงฆ์จากเงินก้อนใหม่ๆ โดยเฉพาะเงินโบนัส ที่ผมเอามาลงทุนเกือบทั้งหมด เลยได้ซื้อหุ้นตอนราคาถูกๆ ในปริมาณมาก 🙂
หลักคิดแบบนี้… ยังใช้ได้อยู่มั๊ยในปัจจุบัน ?
ต้องตอบเป็นกรณีๆ ไปครับ ผมคิดว่า หลักคิดแบบนี้ยัง “ใช้ได้” ถ้าท่านใดอยู่ในสถานการณ์ต่อไปนี้
- มีเป้าหมายเพื่อให้เงินลงทุนเติบโต (Growth Objective)
- ระยะเวลาการลงทุนยังเหลืออีกยาวนาน (อย่างน้อยก็ 5-7 ปีขึ้นไป)
- มีการเลือกหุ้นที่ดี หรือ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการเลือกหุ้นที่ดี ที่ระยะยาวกำไรของกิจการจะเติบโตขึ้น
- พอร์ตการลงทุนยังมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับเงินลงทุนเพิ่มที่จะทยอยใส่เข้ามาในอนาคต
- ไม่มีทักษะ หรือ ไม่ชอบการกะเก็งคาดการณ์ภาวะตลาด
แต่ถ้าไม่เข้าข่าย ตามนี้ผมก็ไม่ค่อยแนะนำ เพราะผมเองก็ไม่ได้ใช้วิธีการนี้แล้ว เนื่องจากวัตถุประสงค์การลงทุนของผมมันเปลี่ยนไปมากจากวันนั้นมาถึงวันนี้
อ้าว… แล้วคุณเอใช้วิธีการไหนล่ะตอนนี้ ?
ทุกวันนี้ผมแทบไม่มีเงินใหม่ใส่เข้าพอร์ตเลย งาน A-Academy นั้นก็ไม่มีรายได้, สัมมนาส่วนใหญ่ก็จัดฟรี, รายได้ที่รับจ๊อบจากการเป็นวิทยากรให้สถาบันการเงินต่างๆ ก็พอใช้ไปแบบเดือนชนเดือน (ช่างน่าสงสาร 😛 แต่ข้อดีก็คือตั้งแต่ลาออกมาปีเศษ ก็ยังไม่ต้องรบกวนเงินจากพอร์ตมาใช้เป็นรายได้)
นั่นคือ ณ ตอนนี้ ถ้าหุ้นตกหนักๆ
- ผมก็ไม่มีเงินใหม่ ให้ถัวเฉลี่ยเข้าไป ต่อให้มีก็น้อยมาก ผลประโยชน์แบบที่เคยได้ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
- ถ้าไม่ทำอะไร พอร์ตก็จะลดลงมาก อาจจะมากถึงขั้นหวั่นไหว ต้องกลับไปทำงานประจำ 😛
วัตถุประสงค์การลงทุนของผมตอนนี้ จึง “ไม่ใช่การให้เงินโตเยอะๆ โดยรับความเสี่ยงเต็มที่” แต่เป็น “การให้เงินเติบโต ภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด”
ทุกวันนี้ผมใช้วิธีการบริหารพอร์ตตามที่สอนใน “Series 9 : กลยุทธ์การลงทุน” เป็นหลัก โดยมีกระบวนการหลักๆ ในการบริหารความเสี่ยงแบบ 2 ชั้น คือ
- มีการปรับพอร์ตแบบ Tactical Asset Allocation (ตอนที่ 9-14)
โดยเพิ่ม/ลด การถือครองเงินสด ไปตามภาวะตลาดที่คาดการณ์ (ส่วนตัวผมดูความถูกแพงผ่าน P/E ของตลาดหุ้นเป็นหลัก ดูแบบซื่อๆ โง่ๆ ตามที่สอนในวิดีโอนั่นล่ะครับ) - มีการกำหนดจุด Fail-Safe Stop ให้กับพอร์ตการลงทุน (ตอนที่ 22)
นั่นคือผมมีมูลค่าพอร์ตในใจค่าหนึ่ง ที่จะไม่ยอมให้พอร์ตลดต่ำลงกว่านี้ เพราะถ้าต่ำกว่านี้ มันก็จะไม่สบายใจ ครั่นเนื้อครั่นตัว จนถึงขั้นอาจอยากกลับไปทำงานใหม่ 😛
ผมมีการทดลอง สมมติให้หุ้นที่ถือตกหนักๆ ดูอยู่ตลอด ว่าถ้าตกหนักๆ แล้วพอร์ตจะลงไปขนาดไหน ส่วนใหญ่มันก็ไม่ค่อยถึงจุด Fail-Safe Stop หรอกครับ
ถ้าถึงเมื่อไร คงได้อัพเดท Resume ล่ะ 555+
ปัจจุบัน ผมทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในบ.เอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ข้อมูลคร่าวๆ ดังนี้ครับ
1. ทำงานตำแหน่งผจก.ฝ่ายเงินเดือน 8 หมื่นต่อเดือน
2. ปัจจุบัน อายุ 34 ปี
3. มีลูก 2 คน (คนที่ 1 เพิ่งเข้าเรียน คนที่ 2 เพิ่งเกิด)
4. ผมไม่มีภาระผ่อนอะไรครับ (ทั้งบ้านและรถ) เพราะพักบ้านพ่อแม่
5. รายรับ-รายจ่ายต่อเดือนนะครับ
– เงินเดือน 80,000 บาท (ยังไม่ได้หัก PDF 5% และภาษีหักแล้วสุทธิประมาณ 7 หมื่น)
– ให้พ่อแม่ 15,000 บาท (พ่อแม่เพิ่งเกษียญ) และตั้งใจจะให้พ่อแม่เพิ่ม 10-20%/ปี ของเงินที่ให้แต่เดือน
– ฝากประจำให้ลูกเดือนละ 5 พัน
– ค่าโทรศัพท์เดือนละ 249 บาท (แต่ใช้ไม่เคยคุ้มเลย เพราะไม่เคยถึงยอดที่กำหนด)
– กองทุน RMF เดือนละ 1 หมื่น (เป็น Index Fund) ซึ่งผมคิดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของ RMF ที่ลงในแต่ละเดือน เมื่อเงินเดือนปรับขึ้น (เงินเดือนผมขึ้นประมาณ 7.5%/ปี)
– ซื้อหุ้นเองเดือนละประมาณ 2 หมื่น (คล้ายๆ ตัดเงินเป็นประจำทุกเดือน แต่เราไปลงทุนในหุ้นเอง (DCA))
– ที่เหลืออีกประมาณ 2 หมื่นก็เอาไว้ใช้บ้าง (แต่สิ้นเดือนก็จะเหลือเล็กน้อยประมาณ 4-5 พัน)
– ปัจจุบัน มีเงินเก็บส่วนตัว 1 ล้านเศษๆ (จริงๆ ผมเริ่มทำงานเก็บเงินเป็นจริงเป็นจริงตอนอายุเกือบ 29 แล้ว เพราะใช้เวลาไปศึกษาต่อ โดยก่อนหน้านั้นที่ทำงานมาก็ไม่ค่อยเก็บเท่าไร)
6. เป้าหมายของผมคือ ตั้งเป้าว่า อยากเก็บเงินส่งลูกไปเรียนต่อโทเมืองนอกทั้ง 2 คน ซึ่งก็คงอีกประมาณ 20-25 ปี
7. ปัจจุบัน ภรรยายังทำงานอยู่ เขาก็เก็บลงทุนของเขาเอง แต่จะมาคอยถามว่า ลงทุนยังไงดี (ปัจจุบัน มีเงินเก็บส่วนตัวเขาประมาณ 7-8 แสน)
8. ผมอยากเกษียญตอนอายุ 55 (เป็นความหวังแต่ไม่รู้จะได้ไหม ก็ต้องพยายามต่อไป)
เพื่อนๆ คนทำงานประจำหรืองานไม่ประจำก็ได้นะครับ มีการวางแผนชีวิตกันยังไงบ้าง มาแชร์กันครับ
ปล.ขออนุญาต tag 3-4 ห้องนะครับ
ไม่ทราบว่าทางผู้เชี่ยวชาญในที่นี้พอจะแนะนะได้บ้างไหมครับ
แนะนำด้านการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ต้องขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม
1.เป้าหมายการเกษียณอายุ
1.1 เกษียณที่อายุ 55 ปีหลังเกษียณต้องการใช้จ่ายเดือนละกี่บาท
1.2 จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยดูจากอายุเฉลี่ยของบรรพบุรุษ
2.เป้าหมายส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ
2.1 ส่งไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศใด แต่ละประเทศมีระยะเวลาการเรียน และค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน
จะจำไว้ เพื่อคอยเตือนตัวเอง ให้มีสติค่ะ … เป้าหมายเราอีกไกล port เรายังเล็ก “ต้องทำความเข้าใจ หลักการที่เราเลือกใช้อย่างถ่องแท้” คุณเอ สอนไว้
ที่ผมเข้าใจจะถูกต้องไหมครับ ช่วยชี้แนะหน่อยครับผม
ผมจะเลือกชื้อหุ้นผ่านแอฟ Streaming โดยผ่าน หลักทรัพย์ SCBS ถ้าสมมุติผมชื้อหุ้น PTT โดยDCAจนถึงสิ้นปี62 และถือจนขึ้นปีถัดไปและถือยาวชื้อสม่ำเสมอ เราได้รับเงินปันผลตามประกาศบริษัทไหมครับแบบนี้