ตอนนี้ผมกำลังวางแผนเรื่องการเงินแต่ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร โดยจะขอแจง รายรับ-รายจ่ายดังนี้
อายุ 24 ปี อาชีพ พนง. บริษัทเอกชน
รายรับ
ทางเดียวคือ เงินเดือน 30,000 บาท/เดือน,
โบนัสประมาณ 60,000 บาท/ปี
รายจ่าย
ค่าผ่อนบ้าน 7,000 บาท/เดือน
ค่ากินใช้ 7,000 บาท/เดือน
เก็บออม
เก็บ 9,000 บาท/เดือน (ส่วนตัว)
เก็บ 5,000 บาท/เดือน (กองกลางกับแฟน)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (บริษัท) 900 บาท/เดือน
เงินเก็บส่วนตัว 90,000 บาท (ดอกเบี้ยประมาณ 2.85%)
เงินเก็บกองกลาง 130,000 บาท (ดอกเบี้ยประมาณ 2.85%)
เป้าหมาย
ระยะสั้น
ต้องการเก็บเงินให้ได้ 200,000 ภายใน 1 ปี
แต่งงาน งบ 300,000 บาท
ระยะกลาง
ซื้อรถยนต์ ราคา 500,000 – 700,000 ภายใน 2-3 ปี
ต้องการมีเงิน 1,000,000 ภายใน 5 ปี
ระยะยาว
เงินเกษียณอายุ 20,000,000 บาท อายุเกษียณ 49 ปี (ใช้จ่าย 20,000 บาท/เดือน)
คำตอบ
คำถามเชิงวางแผนการเงินแบบนี้เป็นคำถามที่ผมหนักใจที่สุด เพราะว่าค้างอยู่ใน Inbox ผมเป็นจำนวนมาก
ซึ่งตอบตรงๆ ว่าผม “ไม่มีแรงมากพอ” ที่จะตอบให้ได้ทุกๆ คำถาม
มันเป็นอะไรที่ต้องนั่งคุยกัน ต้องปรับนั่นนี่ มีรายละเอียดที่ไม่ใช่จะสามารถพิมพ์ตอบได้ง่ายๆ และสั้นๆ
นั่นทำให้ผมฝันว่า เราควรจะมีนักวางแผนการเงิน ที่ให้บริการกับคนธรรมดา ที่เงินไม่เยอะมากด้วย
จะเก็บค่าทำแผนก็ได้ (เอาให้เหมาะสม) เพราะเท่าที่ผมเห็น ก็อาจจะบริการลูกค้าระดับที่มีฐานะมากกว่านี้
บ่นพอแล้ว… ผมขอตอบดังนี้ดีกว่าครับ
ขอบอกหลักการก่อนนะครับ การวางแผนแบบนี้เราต้อง
“จับคู่เป้าหมายกับ Action ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้”
คือ ไม่สามารถลงทุนคลุมๆ แล้วแบ่งเงินมาให้แต่ละเป้าหมายใช้ได้
มันมั่วเกินไป และโอกาสที่จะสำเร็จบางเป้า ไม่สำเร็จบางเป้ามีสูง และแต่ละเป้าก็รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน
อยากให้ศึกษาซีรี่ย์ “วางแผนการลงทุน” เยอะๆ ครับ
http://www.a-academy.net/personal-finance/s06-investment-planning/
ในนั้นจะมีไฟล์ Excel ให้วางแผน เราต้องแยกวางแผนเป็น “1 เป้าหมาย = 1 แผนการลงทุนย่อย”
สำหรับคำถามนี้ ผมขอเริ่มจากการสรุปข้อมูลดังนี้ก่อน
มีเงินอยู่แล้ว 90,000 + 130,000 = 220,000 บาท
ทอง 3 บาท ตีเป็นมูลค่าประมาณ = 57,000 บาท
ออมเพิ่มได้ = 9,000 + 5,000 = 14,000 บาท/เดือน
มีโบนัสที่ผมขอถือวิสาสะสมมติให้นำมาออมเพิ่มได้ครึ่งหนึ่ง คือ 30,000 บาท/ปี
(ขออนุญาตรวมเงินส่วนตัว กับกองกลางเข้าด้วยกันเลยนะครับ
ในความเป็นจริง รวมได้มั๊ย ต้องนั่งคุยกันยาวเลยครับ แต่ถ้าไม่สมมติแบบนี้ เราต้องส่งเมล์ไปๆ กลับๆ กันหลายรอบ)
ต่อไปเป็นคำแนะนำนะครับ
ผมเรียนก่อนว่า การวางแผนการเงินนั้น มีทางเลือกหลากหลายเป้าหมายเดียวกัน อาจทำได้เป็น 100 วิธีการ
สิ่งที่ผมแนะนำเป็นแค่ทางเดียว ซึ่งอาจเหมาะหรือไม่เหมาะกับเราก็ได้
ผมไม่สามารถแจกแจงเหตุผลทั้งหมดได้ด้วยการพิมพ์ แต่จะขอตอบแบบเร็วๆ ให้นำไปใช้เป็น “ตัวอย่าง” เท่านั้น
สุดท้ายต้องวางแผนเองนะครับ!
เป้าหมายระยะสั้น
ผมไม่แน่ใจว่าเงินเก็บ 2 แสน กับเงินแต่งงาน 3 แสนนี้ ใช่ก่อนเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นคนละก้อนกัน
ขอนับเป็นก้อนเดียวกันก่อนนะครับ เพราะไม่งั้นเป้าหลังๆ อาจไม่สำเร็จ
ก้อนนี้เงินเก็บปัจจุบันรวมทองคำน่าจะพอแล้ว (ประมาณ 2.7 แสนบาท จะเก็บเพิ่มอีกหน่อยก็ได้)
เนื่องจากเป็นเงินสั้น รอการใช้ ก็ควรนำมาจัดสรรในพวกกองทุนรวมตลาดเงิน หรือตราสารหนี้
คือให้มีความคล่อง ทองอาจขายก็ได้ครับ
เป้าหมายระยะกลาง
1. รถยนต์ ราคา 700,000 ภายใน 2-3 ปี
สมมติว่าดาวน์ 20% ต้องเก็บเงินดาวน์ 140,000 บาท
มีเวลาเก็บเงิน 3 ปี ระยะสั้นแค่นี้ เราแพลนง่ายๆไม่ต้องคิดดอกเบี้ยก็ได้ครับ เพราะยังไงก็ลงเสี่ยงมากไม่ได้
ต้องเก็บเดือนละ 140,000 บาท / 36 เดือน = 3,888 ปัดขึ้นเป็นประมาณ 4,000 บาท/เดือนนะครับ
ก้อนนี้ระยะเวลากลางๆ เสี่ยงสูงไม่ได้ แนะนำลงกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ได้ครับ
น่าจะดีกว่าเงินฝาก และกองทุนรวมตลาดเงินครับ
และหลังจากนั้นต้องผ่อนรถ
เนื่องจากเป้าเราเยอะมาก ผมคิดว่าค่างวดไม่ควรสูงเกินไป
เลยขอสมมติให้ผ่อนรถ 7 ปีไปเลย หากคิดดอก Flat Rate 2.5% จะต้องผ่อนเดือนละประมาณ 8,000
(วิธีคิดยังไง ให้ดูวิดีตอน “หนี้รถ” ลิ้งค์นี้ครับ http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/03-car-loan/)
จะเห็นว่า การซื้อรถทำให้เงินออมรายเดือนของเราลดลงเยอะมาก เป้าต่อไปก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ
สรุปกำลังที่ยังเหลือ
ช่วง 3 ปีแรก ก่อนซื้อรถ หลังจากหักเงินเก็บเพื่อดาวน์รถไปแล้วเราจะยังออมเพิ่มได้อยู่เดือนละ 10,000
เมื่อซื้อรถ เราจะเหลือเงินออมเพิ่มได้แค่เดือนละ 6,000 บาท เพราะต้องเอาไปส่งค่างวดรถ
(นี่ยังไม่ได้คิดถึงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการมีรถนะครับ)
2. เงินเก็บ 1 ล้านบาทภายใน 5 ปี
ยากมากครับ เป้าสูง เวลาสั้น มีเป้าอื่นอยู่ก่อนหน้า ลองคิดจากเงินที่มีเหลือนะครับ
3 ปีแรก ออมเดือนละ 11,000 (เหลือจากที่เก็บดาวน์รถ) ได้ 10,000 x 12 x 3 = 360,000 บาท
หลังจากนั้น อีก 2 ปี ออมเดือนละ 6,000 บาท เพราะต้องส่งค่างวดรถ
ได้ 6,000 x 12 x 2 = 144,000 บาท
ออมโบนัสปีละ 30,000 บาท 5 ปี = 150,000 บาท
รวมเงินต้นที่จะเก็บได้ใน 5 ปี = 654,000 บาท
สมมติว่าเงินก้อนนี้ นำไปลงทุนกองทุนผสมมีหุ้นสัก 30% (เพราะเวลาไม่ยาวมาก)
ตีว่าได้ผลตอบแทน 7% เงินจะโตเป็นประมาณ 7.8 แสนใน 5 ปี ซึ่งก็ยังไม่ถึงเป้าคือ 1 ล้านบาท
จริงๆ ถ้ารวมกับเงินเดือน + โบนัสที่ปรับขึ้น แล้วออมเพิ่มไป ก็คงถึง 1 ล้านได้อยู่ครับ
แต่ผมคำนวณให้ดูไม่ได้ เพราะต้องนั่งคุยสมมติฐานกันอีกเยอะเช่น เงินเดือนขึ้นเท่าไร ออมเพิ่มได้อีกมั๊ย จะมีลูกมั๊ย ?
เป้าหมายระยะยาว
เงินเกษียณ 20,000,000 บาท อายุเกษียณ 49 ปี
มีเวลาเตรียม = 49 – 24 = 25 ปี
ต้องบอกว่า 5 ปีแรกเราใช้เงินไปกับเป้าหมายอื่นหมดแล้ว
ผมไม่แน่ใจว่าเป้าเงิน 1 ล้านภายใน 5 ปี จะนับรวมเป็นเงินเกษียณด้วยมั๊ย
ถ้านับ ก็ยังพอมีความหวัง แต่ถ้าไม่นับ (คือจะเอาไปใช้อย่างอื่น) แผนก็จะยากขึ้นอีก
ผมจะแพลนแบบที่ไม่นับให้ดูนะครับ คือ 5 ปีแรก ตีซะว่า เราไม่ได้เก็บเงินเพื่อเกษียณเลย
เพราะพยายามไปทำให้เป้าซื้อรถ + เก็บเงินล้านสำเร็จอยู่
เราจึงเหลือเวลาแค่ 20 ปีในการเก็บเงินเท่านั้น
ดังนั้น 7 ปีแรก (ส่งงวดรถ 7 ปี ) จาก 20 ปีที่เหลือ เราจะออมได้เดือนละแค่ 6,000 บาท
ถัดจากนั้นอีก 13 ปี จาก 20 ปีที่เหลือ จะออมได้เดือนละ 14,000 บาทตามเดิม (ส่งงวดรถหมดแล้ว)
โบนัสก็ยังออมได้ปีละ 30,000 เช่นเดิม
เอาแค่เงินต้นก่อนนะครับ… หากเก็บแบบนี้ไปจนอายุ 49 จะเก็บเงินต้นได้เท่ากับ
(6,000 x 7 x 12) + (14,000 x 13 x 12) + (30,000 x 20) = 3.29 ล้านบาท
หากนำไปลงทุนในกองหุ้น 100%
แล้วได้ผลตอบแทนสัก 10% ต่อปี ณ อายุ 49 เงินจะโตเป็นประมาณ 8.9 ล้านบาท
ถ้าได้ผลตอบแทนสัก 12% ต่อปี ณ อายุ 49 เงินจะโตเป็นประมาณ 11.2 ล้านบาท
ซึ่งก็ยังห่างจากเป้าหมายที่ 20 ล้านบาทอีกมากโขอยู่
ส่วนนึงก็เพราะยังไม่ได้คิดว่าเงินเดือนขึ้น โบนัสขึ้นจะออมเพิ่มมั๊ย แล้วก็ยังไม่ได้คิด Provident Fund ด้วย
แต่คิดว่าคงทำให้ดูไม่ไหวครับ
โดยสรุป ผมมีประเด็นอย่างบอกดังต่อไปนี้ครับ
1. การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
อย่างเคสนี้ ถ้าไม่ต้องเก็บเงิน 1 ล้าน แต่มามุ่งทำเป้าเกษียณอายุก่อน
ผมว่า 20 ล้านบาทจะถึงได้ เพราะไม่ต้องเสีย 5 ปีไปเก็บเงินล้าน
(ดอกเบี้ยทบต้น 20 ปี กับ 25 ปี ผลลัพธ์แตกต่างกันมากๆๆๆๆ ครับ)
2. ผมอาจจะผิดก็ได้ ที่ไม่นำ 1 ล้านบาทที่เก็บได้ใน 5 ปีแรก
มารวมเป็นเงินเกษียณ เพราะถ้ารวมผมเชื่อว่าเป้า 20 ล้านบาทถึงได้
3. สมมติฐานต่างๆ ที่ผมยังไม่ได้ใส่เข้าไป
จะทำให้ผลลัพธ์ในการวางแผนแตกต่างไปมาก เช่น อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน อัตราการออมเพิ่ม
เงินที่ได้คืนจากการลดหย่อนภาษี (แล้วนำมาลงทุนเพิ่มได้) ฯลฯ
4. ข้อจำกัดบางอย่าง ก็ไม่ได้พูดถึง เช่นข้อจำกัดการถือครอง การต้องลงทุนต่อเนื่อง
การไม่สามารถขายได้ก่อนเวลาที่กำหนด หากเลือกลงทุนใน LTF/RMF ครับ
5. การวางแผนการเงินจริงๆ ต้องมานั่งคุยกันให้รายละเอียดมากกว่านี้ การตอบผ่านหน้าจอแบบนี้ทำได้ลำบาก
หรืออีกทางหนึ่ง ศึกษาเยอะๆ ครับ ดูซีรี่ย์แรกๆ ของเว็บนี้เยอะๆ
มันจำเป็นสำหรับการวางแผนการเงิน อย่าดูแต่ซีรี่ย์เรื่องลงทุน
6. เป้าหมายบางเป้าหมาย อาจไม่ใช่เป้าแข็งๆ ที่เปลี่ยนไม่ได้
เช่น การลดเงินลงบ้าง การเลื่อนระยะเวลาออกไปบ้าง ถ้าทำอย่างมีเหตุผล โอกาสการบรรลุเป้าหมายก็จะมากขึ้น
7. พิมพ์เหนื่อยมากครับ ถ้างงๆ อ่านยากๆ ต้องขอโทษด้วยครับ
แผนแบบที่ถามมานี้ ถ้าทำกันจริงๆ ต้องทำเป็นเล่ม ไม่ต่ำกว่า 20 หน้าครับ T-T
8. ผมจะขอตอบคำถามลักษณะนี้น้อยลง เพราะแรง+เวลาไม่พอจริงๆ
แทนที่จะถามแบบครอบทุกเป้าหมาย ถ้าแยกถามเป็นประเด็นๆ ที่สงสัย หรือเป็นแต่ละเป้าหมายย่อยๆ
ผมจะช่วยได้มากกว่านี้ครับ
ปล 1. ตัวเลขทั้งหมดนั้น ผมคำนวณโดยใช้ Excel ที่แจกฟรีอยู่แล้วในซีรี่ย์ “วางแผนการลงทุน”
ตัวที่ใช้มากที่สุดอยู่ในตอนนี้ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/06-planning-uneven/
ปล 2. ประเภทกองทุนที่แนะนำนั้น ผมแนะนำตามแนวทางในวิดีโอตอนนี้ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/31-conclusion-mf-for-all-purposes/