เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 57 ที่ผ่านมา
“ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ปรมาจารย์ด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของไทย
ท่านได้โพสบทความที่ชื่อว่า “การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือน”
(อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/23/1439)
เมื่อ ดร.นิเวศน์ ให้ข้อคิดอะไร ผมเองจะพยายามตั้งใจฟังเป็นพิเศษ
เพราะกล้าพูดได้เลยว่า ผมเอง “มีวันนี้เพราะ ดร. ให้”
คำว่า “ให้” ที่ว่านี่คือ ให้องค์ความรู้ด้านการลงทุนที่มีคุณูปการต่อผมมาก
มากถึงขั้น “เปลี่ยนชีวิต” ผมได้!
สาระคัญที่เกี่ยวข้องกับโพสนี้ และ Infographic ที่ผมได้ทำขึ้นก็คือ
ดร.นิเวศน์ แนะนำทางเลือกการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือนไว้
โดยแนะนำ ให้ลงทุน “เป็นประจำ” ใน “กองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี SET50”
ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 50 ตัวโดยไม่มีการเลือกหุ้น
ซึ่งในระยะยาวจนเกษียณคือ ประมาณ 30 ปีขึ้นไปนั้น
ท่านเชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ “เสี่ยงน้อยมาก”
คำแนะนำที่มีค่านี้ จริงๆ แล้วสอดคล้องกับ สุดยอดปรมาจารย์อีกท่านหนึ่ง
ซึ่งผมก็ “มีวันนี้เพราะท่านให้” ด้วยเช่นกัน นั่นคือ Warren Buffett
เค้าเคยแนะนำนักลงทุนทั่วไปว่า
“The best way in my view is to just buy a low-cost index fund
and keep buying it regularly over time, because you’ll be buying
into a wonderful industry, which in effect is all of American industry”
แม้กระทั่งพินัยกรรมล่าสุดของ Buffett ก็ยังระบุให้นำเงินมรดกถึง 90%
ลงทุนใน “กองทุนหุ้นที่อ้างอิงดัชนี S&P500”
วิธีลงทุนแบบดังกล่าวดียังไงนั้น คงไม่สามารถเล่าในโพสนี้ได้จบ
แต่คงมีโอกาสนำมาทยอยเขียน และเล่าผ่านวิดีโอบนเว็บไซต์ A-Academy ในอนาคต
แต่สิ่งที่ผมอยาก “ชวนคิด” ตอนนี้ คือสิ่งที่ผมเพิ่งไปค้นพบมากกว่าครับ
ผมลองไปเปิดข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ดาวโหลดได้ฟรี
ของ “กองทุนเปิดทหารไทย SET50” ซึ่งเป็นกองทุนดัชนีลักษณะคล้ายๆ
กับที่ ดร.นิเวศน์ ท่านแนะนำให้ลงทุน
ที่เลือกกองนี้เพราะเป็นกองทุนดัชนีอิง SET50 ที่เก่าแก่ที่สุด
และเป็น Index Fund ที่มีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุดของบ้านเรา
เรื่องประสิทธิภาพและผลลัพธ์การลงทุนนั้นคงไม่ต้องสงสัย
เพราะอยู่ในระดับที่ “ใช้ได้” อย่างที่ ดร.นิเวศน์ ท่านแนะนำ
กองทุนตั้งขึ้นเมื่อ 29 มี.ค. 44 ที่ NAV คือราคา 10 บาท
ล่าสุดเมื่อ 30 พ.ค. 57 NAV อยู่ที่ 79.2615 (ผ่านมาประมาณ 13 ปีเศษ)
โตขึ้นประมาณ 8 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนสะสมประมาณ +692%
เฉลี่ยแบบทบต้นแถวๆ 17% ต่อปี
แต่ปริศนาที่ผมพบก็คือ
“ทำไม NAV ของกองทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่ขนาดกองทุนกลับลดลง”
ช่วงแรกที่กองทุนเปิดตัวเมื่อต้นปี 2544 นั้น ขนาดกองทุนค่อนข้างเล็กประมาณ 100 ล้านบาทเท่านั้นเอง
ต่อมาค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จนขนาดกองทุนใหญ่ขึ้นมาก
ผมเริ่มต้นจับข้อมูล ช่วงที่ขนาดกองทุนเริ่มนิ่ง คือ ณ 31 ธ.ค. 46
กองทุนนี้มี NAV 27.8269 ขนาดกองทุน 6,976 ล้านบาท
เทียบกับปัจจุบัน ณ 30 พ.ค. 57 ที่ NAV 79.2615
ขนาดกองทุนกลับหดลง เหลือเพียง 5,895 ล้านบาท
ซึ่งการที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้นั้น แสดงว่า
“จำนวนหน่วยลงทุน” ต้องลดลง
พูดง่ายๆ ก็คือ ระหว่างทางที่กองทุนทำกำไรสะสมได้เพิ่มขึ้นๆ
ก็มีผู้ลงทุนทยอยซื้อๆ ขายๆ แล้วเกิดเป็นสถานะ “ขายสุทธิ” คือ
“คนขายออกมากกว่าคนซื้อเข้า”
ทำให้ จำนวนของคนที่ควรจะได้กำไรมากๆ เหลืออยู่ในกองทุนเพียงน้อยนิด
หรือบางทีอาจจะไม่เหลืออยู่แล้วก็ได้ เพราะคนที่อยู่ในกองทุน ณ ปัจจุบัน
อาจจะเป็นคนใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนได้ไม่นาน
ขณะที่คนเก่าๆ ที่ถือมาตั้งแต่ยุคต้นทุนต่ำๆ อาจขายออกไปหมดแล้ว
ปรากฎการณ์นี้เป็นที่มาของข้อสรุปที่ “ดร.สมจินต์ ศรไพศาล” CEO บลจ.ทหารไทย
เคยสอนผมไว้เมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆ ว่า
“นักลงทุนโดยเฉลี่ย… ไม่ได้รับผลตอบแทนค่าเฉลี่ย”
ที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพราะเชื่อว่า
จะมีคนที่หันมาลงทุนตามแนวทางที่ ดร.นิเวศน์ และ Warren Buffett
แนะนำมากขึ้นเรื่อยๆ
จึงอยากให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนตามแนวทางนี้
ต่อไปนี้คือข้อสังเกต 2 ข้อที่ผมพบจากประสบการณ์การลงทุนส่วนตัว 10 ปี
และการเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาการลงทุนมืออาชีพมา 4 ปี
ว่าทำไม เราถึงลงทุนระยะยาวๆ ไม่สำเร็จ
แม้เครื่องมือจะดี วิธีการจะเยี่ยม กูรูจะฟันธงแล้วก็ตาม
1. ทนจนไม่ไหว
เรามักจะทนความผันผวน ระหว่างการลงทุนไม่ไหว
ลองดูในเส้นกราฟของกองทุนเปิดทหารไทย SET50 นะครับ
การที่จะได้ผลตอบแทนโตขึ้น 8 เท่านั้น จริงๆ ง่ายที่สุดคือแค่
“ต้องอยู่ในกองตลอดเวลา”
แต่หุ้นมีช่วงที่ไม่ดีอยู่เป็นประจำ บางช่วงมีการย่อลง
หรือที่เรียกว่า “Drawdown” ถ้าแค่ติดลบ 5-10% ก็พอทำเนา
แต่บางช่วงมันลบได้ถึง 50% หรือมากกว่านั้น คือเงินในพอร์ตลดลงครึ่งนึงในเวลาไม่กี่เดือน
น้อยคนที่จะทนอยู่ได้!
คนที่ทนอยู่ได้เท่าที่ผมเห็น มี 3 กลุ่ม คือ
1) ยุ่งจนลืมติดตาม เลยไม่รู้ว่าพอร์ตติดลบไปเท่าไร
2) เข้าใจมาก เชื่อมั่นมาก มีที่ปรึกษาดี จนอดทนรอได้
3) กลัวมาก เสียดายมาก และถือคติ ว่าไม่ขายไม่ขาดทุน
กลุ่มที่ 3 นี้น่ากลัวที่สุดครับ เพราะเมื่อไร หุ้นกลับมาดี
กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจ “ออกไปตั้งหลักก่อน”
ซึ่งก็จะอารมณ์คล้ายๆ กับข้อสังเกตข้อต่อไป นั่นคือ
2. ทนรวยไม่ได้
การที่จะได้กำไรสะสมเป็นหลายเท่าตัว เช่นกองนี้โตเกือบ 8 เท่า
หรือ +692% หมายถึง เราต้องผ่านการมีกำไรในระดับ
5% -> 10% -> 20% -> 30%-> 40% ——> 100% มาก่อน
ประเด็นคือ ระหว่างที่ผมทำอาชีพที่ปรึกษาการลงทุน
ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการคุยกับลูกค้าว่า
“เงินก้อนนี้ ยังไม่ถึงกำหนดเวลาใช้
เราคุยกันว่า สามารถลงทุนได้ในระยะเวลายาวมากอีกเป็นสิบปี
ผมคิดว่า อนาคตหุ้นก็ยังไปได้ มันก็เป็นของมันแบบนี้มาตลอด
ผมว่าอย่าเพิ่งขายเลยนะครับ”
โดยส่วนใหญ่ มักจบด้วยการต้องตามใจและเคารพการตัดสินใจของลูกค้า นั่นคือ “ขายเก็บกำไรไว้ก่อน”
แล้วเชื่อมั๊ยครับ คนที่ขายไปในราคาหนึ่ง ยากเหลือเกินที่จะกลับเข้าไปซื้อในราคาที่สูงขึ้น
เรื่องของการ “ทนจนไม่ไหว ทนรวยไม่ได้”
สำหรับผม นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ที่เราลงทุนระยะยาวกันไม่สำเร็จ
แล้วจะแก้ไขยังไง ?
ถ้าตอบแบบละเอียด ผมว่าเขียนตำราเล่มหนาๆ ได้เลย
แต่ถ้าเอาแบบสั้นๆ เพื่อกระตุ้น “ต่อมการเรียนรู้”
และให้ทุกท่านไปศึกษาต่อเอาเอง (หรือจะรอศึกษาที่ A-Academy ก็ได้)
ผมว่าทางแก้ที่สำคัญที่สุดคือ
1. ต้องเข้าใจตัวเอง
เข้าใจว่าเรามาลงทุนทำไม เราอยากได้อะไรกันแน่ เราลงทุนได้ยาวเท่าไหร่
แล้วขีดจำกัดของฝีมือเราอยู่ตรงไหน ณ จุดไหนเราควรจะ “ยอมแพ้”
แล้วปล่อยให้ตลาดหรือ “สินทรัพย์” ที่เราเลือกไว้ดีแล้ว ได้ทำงานให้เรา
อย่างขยันขันแข็ง ตามที่มันเคยทำงานให้เราดู ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อมันมา
(คนส่วนใหญ่ลงทุน ก็เพราะเคยเห็นอดีตที่ดี ของสินทรัพย์นั้นๆ)
2. ต้องเข้าใจหุ้นให้ถ่องแท้
ถ้ารักจะลงทุนหุ้นในสัดส่วนเยอะๆ
แบบไม่จัดสรรเงิน ไม่จัดทัพลงทุน ไม่ทำ Asset Allocation
ท่านต้องรู้จักหุ้น ดีพอๆ กับที่รู้จักตัวเอง หรือดีกว่ารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ
ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูว่าเราเข้าใจธรรมชาติของมันรึเปล่า
1) ทำไม ดร.นิเวศน์ บอกว่าลงทุนระยะยาวแล้วเสี่ยงน้อยมาก
2) ทำไมลงทุนระยะยาว แล้วมันต้องกำไร มันมีโอกาสขาดทุนมั๊ย
3) หลักการแบบนี้มันใช้ได้กับเฉพาะกองทุนรึเปล่า กับหุ้นรายตัวมันเป็นจริงมั๊ย
4) เวลามันแย่ มันแย่ได้ขนาดไหน
5) เวลามันดี มันดีได้ประมาณไหน
6) ลงทุนใน Index ยาวๆ มันดีจริงหรือ มีข้อยกเว้นมั๊ย (ลองดูดัชนี Nikkei)
7) ถ้ามันดี ทำไม ดร.นิเวศน์ ไม่ลงทุนแนวนี้ ผมเองก็ไม่ได้ลงทุนแนวนี้
8) ทั้งหมดที่เอมันเขียนมา เพื่อจะขายของให้ที่ทำงานเก่ารึเปล่า มันรับเงินมาเขียนมั๊ย
แหะๆ ข้อหลังๆ นี่กวนๆ นิดๆ นะครับ เพราะผมเคยทำงานประจำที่ TMBAM
ตอนนี้ (25 มิ.ย. 57) ก็ยังเซ็นต์สัญญาเป็น Freelance เข้าไปช่วยงานอาทิตย์ละ 1 วันอยู่
แต่ไม่ได้รับเงินมาเขียนแน่นอนครับ! และ A-Academy ก็ไม่มีนโยบายรับเงินด้วย
จริงๆ เค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเขียนถึง
และต่อให้ไม่มีอะไรกับที่นั่นแล้ว ผมก็ยังจะเขียนเรื่องนี้อยู่ดี
เพราะผมเชื่อว่า สำหรับคนทั่วๆ ไป ที่มีงานประจำต้องทำ
วิธีการลงทุนในหุ้นแบบนี้เป็นทางเลือกที่ “เหมาะสมที่สุด” และ Index Fund ดีๆ ในบ้านเราก็มีไม่เยอะ
ถ้าไม่เขียนถึงกองของเค้า ผมก็ยังไม่รู้จะเขียนถึงกองทุนกองไหน
สำหรับคำถามที่ผมยกขึ้นมา ท่านใดที่ยังตอบไม่ได้ในหลายๆ ข้อ
ผมอยากบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องยาก หรือพิสดารอะไรนะครับ
มันแค่เพียงว่าเรา “รู้” หรือ “ไม่รู้” เท่านั้นเอง ซึ่งผมก็อยากให้รอเรียนรู้ด้วยกันไปที่นี่นะครับ
ตอนนี้กำลังปั่นเนื้อหาอยู่เต็มกำลังเลย!
ปรับปรุง ณ วันที่ 19 ส.ค. 57
สามารถเรียนรู้เรื่องของ Index Fund ได้เพิ่มเติม จากบทเรียน 2 ตอนต่อไปนี้ครับ
ตอนที่ 1 รู้จักกองทุน : http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/14-eq-index/
ตอนที่ 2 เลือกกองทุน : http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/15-eq-index-selection/
และ สามารถทำความเข้าใจพฤติกรรม และธรรมชาติของหุ้นได้จากบทเรียนชุดนี้ครับ
สินทรัพย์เพื่อการลงทุน : http://www.a-academy.net/personal-finance/s07-investment-assets/
ขอบคุณอาจารย์เอมาก ๆนะคะ ที่แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับมนุษย์เงินเดือนอีกหนึ่งคนค่ะ มีองค์ความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและเป็นประโยชน์มากๆค่ะ เสียดายมากที่เจอเวป a-academy ช้าไป ตอนนี้กำลังศึกษาทุกๆบทเรียน(และเข้ามาเรียนซ้ำเมื่อมีคำถามที่สงสัยและก็ได้คำตอบจากการมาเรียนซ้ำ) และกำลังรอบทเรียนต่อ ๆ ไปจากอาจารย์เอ นะคะ