ช่วงนี้ผมกำลังเตรียมเนื้อหาหัวข้อ
เสียดาย… ไม่ได้รู้ตั้งแต่เรียนจบ (ศาสตร์การเงินในชีวิตจริง สำหรับนักศึกษาจบใหม่)
เพื่อไปบรรยายให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มีหน้าหนึ่งของเนื้อหาที่ผมชอบ และคิดว่าสำคัญมาก
นั่นคือเรื่องของการ “จัดลำดับ” ความสำคัญของเป้าหมาย ว่าเราจะทำอะไรก่อนดี ?

ซึ่งสำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบ เข้าสู่โลกของการทำงาน ก็จะเริ่มอยากได้ “รถยนต์” เป็นอย่างแรกๆ

ทำอะไรก่อนดี  : ซื้อรถ vs เตรียมเงินใช้ตอนแก่

ผมเลยลองคำนวณเทียบให้ดูครับ ว่าถ้าสลับลำดับนิดหน่อย คือแทนที่จะเอาเงินไปผ่อนรถ
เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 7 ปี เริ่มตอนอายุ 25 ผ่อนครบตอนอายุ 32

แต่กลับเอาเงินจำนวนเดียวกันนั้น ไปผ่อน “ความมั่นคงในวัยเกษียณ” แทน
โดยเริ่มตอนอายุ 25 และ ผ่อนไป 7 ปีก็หยุดผ่อนเช่นกัน

หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ 
ในการลงทุนอะไรสักอย่าง ที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี จนถึงอายุ 60

ทั้งสองทางเลือก เราจะต้องจ่ายไปทั้งสิ้น 8,000 บาท x 12 เดือน x 7 ปี = 672,000 บาท เท่ากัน


คนที่เลือกทางแรก… (ซึ่งผมมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่เลือกทางนี้)
ก็จะได้รถมาใช้ ได้มีชีวิตสะดวกสบาย เหนือระดับก่อนใคร
ซึ่งอีกเดี๋ยวเงินก้อนนี้ ก็จะค่อยๆ ลดค่าลงไป ตามมูลค่าของรถที่ลดลงตามอายุการใช้งาน

เงินที่จ่ายไปนี้ จนถึงวันเกษียณ ตอนอายุ 60 ก็คงมีมูลค่าเป็น 0 ไม่เหลืออะไรแล้ว
สรุปคือ ได้สุขในปัจจุบันทันที ส่วนสุขวันหน้า ก็ต้องไปจัดการเอาต่างหาก


คนที่เลือกทางที่สองนั้น
คงต้องโหนรถเมล์ เบียดรถตู้ นั่งรถไฟฟ้า หรือ นั่งรถบัสสวัสดิการของบริษัทกันต่อไปอีกสัก 7 ปี
จนอายุ 32 ถ้าจะซื้อรถก็ค่อยไปว่ากันตอนนั้นอีกที

แต่เงินที่จ่ายไปตลอด 7 ปีนั้น ก็จะงอกเงยเป็นเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้มากถึง 13 ล้านบาท 
กรณีได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี หรือถ้าได้ 12% เงินก็จะโตได้ถึง 24 ล้านบาททีเดียว

นี่คือผลจากการที่รอได้ 7 ปี
ย้ายลำดับของเป้าไกล ที่ใหญ่และยาก มาทำก่อน


บทสรุปของข้อมูลนี้ คือ “ไม่มีวิธีไหนที่ผิดเลย
มันอยู่ที่ความจำเป็น และการตัดสินใจของคนแต่ละคน การคำนวณนี้ก็เพื่อให้ได้เห็น “ทางเลือก” เท่านั้น

ในโลกจริงนั้น… มันมีตัวแปรและความไม่แน่นอนมากมาย ไม่เหมือนการคำนวณทางคณิตศาสตร์แบบนี้

ผมยังจำได้ขึ้นใจ ว่าเคยมีผู้เข้าฟังบรรยายลุกขึ้นเถียงผมแบบน่ารัก
ว่าแม้เค้าจะเห็นตัวเลขแบบนี้ เค้าก็ยังเลือกซื้อรถก่อนอยู่ดี เหตุผลคือ…

มีรถ => มีแฟน
ไม่มีรถ => ไม่มีแฟน

ผมฟังเหตุผลแล้ว ก็ไม่รู้จะตอบกลับยังไง ได้แต่หัวเราะ 😛
อย่างที่บอกครับ… มันเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล

ไม่ผิดเลยที่เชื่ออย่างไร… แล้วจะไปทำอย่างนั้น
แต่อย่าลืมว่า ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย เราจะเป็นผู้รับผลจากการตัดสินใจของตัวเองเสมอ!

ดังนั้น ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดีด้วยนะครับ ว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้น มันเป็นจริง และถูกต้อง


ปล. ทุกครั้งที่มีการคำนวณ โดยใช้ “สมมติฐาน” ตัวเลขผลตอบแทนสูงๆ เช่น 10-12%
จะมีคำถามเสมอ ว่ามันมีด้วยหรือ ทำไมไม่ยกตัวอย่างที่มันเป็นไปได้ ให้มันสมจริงหน่อย
เอะอะ จะยกอะไรก็ยกมาคำนวณชุ่ยๆ อย่างนี้มันใช้ไม่ได้นะ!

ก็ต้องตอบว่า ตัวเลขที่ยกมานั้นมัน “มีความเป็นไปได้
เพียงแต่ท่านอาจจะยังไม่รู้มาก่อน หรือรู้ไม่หมด จึงอยากให้ลองศึกษาดูในบทเรียน 2 ชุดนี้ก่อนนะครับ

1. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน
http://www.a-academy.net/personal-finance/s07-investment-assets/

2. การลงทุนผ่านกองทุนรวม
http://www.a-academy.net/personal-finance/s08-mutual-fund/

ศึกษา 2 Series นี้จบ (ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง) ถ้ายังมองไม่เห็นความเป็นไปได้… มาว่าผมได้เลยครับ

แต่ถ้าต้องการแบบที่การันตีเลยว่าได้ชัวร์ๆ ต้องบอกว่าผมยังหาไม่ได้จริงๆ ครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here