คำถาม
กำลังจัดสัดส่วนกองทุนแล้วเกิดมีคำถามคือ จะแบ่งลงกองทุนตราสารหนี้กับตราสารทุน แต่เห็นบางกองทุนลงทั้งสองอย่างในกองทุนเดียวกัน มากน้อยตามนโยบายกองทุน
คำถามมีอยู่ว่า ถ้าเราเลือกลงกองทุนแบบนี้กองทุนเดียว ลงทุนรายเดือนเป็น 100% ไปเลย แต่ได้ลงทั้งหุ้นทั้งตราสารหนี้แทนที่จะลงแยกเป็นสองกอง จะเป็นไปได้มั้ยคะ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้างคะ
คำตอบ
กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนผสมกัน เราเรียกว่า “กองทุนผสม” หรือ “Balanced Fund” หากยังไม่รู้จัก ผมแนะนำให้ดูวิดีโอด้านล่างนี้ก่อนครับ
วิดีโอสอน กองทุนผสม และ วิธีเลือกกองทุนผสม
ข้อดีของกองทุนผสม
- จัดพอร์ตผสมการลงทุนให้ เบ็ดเสร็จในกองเดียว
- มีการ ปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนให้เราอัตโนมัติเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อรักษาวินัยการลงทุน โดยจะมีการขายหุ้นออกบ้างหลังจากภาวะตลาดขาขึ้น และมีการซื้อหุ้นเพิ่มบ้างในภาวะตลาดขาลง
- บางกองยังมีการ ปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มผลตอบแทนในระยะสั้น
(Tactical Asset Allocation) ให้ด้วย - การติดตามสถานะการลงทุนผ่านกองประเภทนี้ จะช่วยให้เราได้ “มองภาพรวม” ของทั้งพอร์ต แทนที่จะต้องมองเป็นรายกอง เพราะในการลงทุนเป็นพอร์ตนั้น จะมีบางช่วงที่หุ้นปรับตัวลงแน่นอน หากเรามองแยกกอง เราก็อาจหวั่นไหวได้ง่าย เช่นเห็นหุ้นขาดทุน -10% แต่ในความเป็นจริงเมื่อมองภาพรวมทั้งพอร์ต อาจจะขาดทุนแค่ -3% ก็ได้
ข้อเสียของกองทุนผสม
- เลือกสัดส่วนการลงทุนเองไม่ได้ ต้องเลือกตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง ซึ่งแต่ละ บลจ. อาจมีให้เลือกไม่เกิน 2-3 แบบ
- มักไม่ค่อยมีสัดส่วนการลงทุนเขียนไว้ชัดเจนใน Factsheet หรือหนังสือชี้ชวน ทำให้จำเป็นต้องสอบถามกับ บลจ. หรือผู้ขายเพิ่มเติม
- ไม่สามารถเลือกองค์ประกอบของกองได้อิสระ เช่น ถ้าซื้อแยกกองแล้วนำมาจัดพอร์ตเอง อาจเลือกกองทุนหุ้นจากค่าย A ซึ่งเราคิดว่าเก่งกว่า และเลือกกองตราสารหนี้จากค่าย B ซึ่งเราชอบ แต่ถ้าซื้อกองผสมจะทำแบบนี้ไม่ได้ หรือในกรณีที่ต้องการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ อาจไม่สามารถทำได้ดั่งใจ ไม่เหมือนแยกซื้อเอง
ดังนั้นสำหรับคำถามที่ถามมาว่า สามารถลงกองทุนผสมกองเดียวแทนที่จะต้องแยกซื้อได้หรือไม่ คำตอบคือ “แล้วแต่เรา” ครับ คือลองพิจารณาข้อดีข้อเสียข้างต้นดูว่า เราเหมาะกับแบบไหน ก็เลือกใช้เครื่องมือแบบนั้น
คร่าวๆ ถ้าเรามีความรู้ที่ดีพอสมควร ซื้อแยกจะได้อิสระมากกว่า แต่ถ้าเรายังใหม่ หรือต้องการระบบและวินัยมาช่วย ซื้อกองทุนผสม ก็จะง่ายและให้ผลดีได้เช่นกัน นอกจากนั้น กรณีที่เงินลงทุนต่อเดือน (หรือต่อครั้ง) ค่อนข้างน้อย การซื้อแยกกองก็อาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยอดซื้อในแต่ละเดือน ไม่ถึง “ยอดซื้อขั้นต่ำ” ของแต่ละกอง แต่การซื้อกองทุนผสมเพียงกองเดียว จะไม่มีปัญหาดังกล่าว
ส่วนศัพท์ต่างๆ ข้างต้นถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ว่าคืออะไร สามารถศึกษาเพิ่มได้ในวิดีโอต่อไปนี้ครับ
วิดีโอสอน Tactical Asset Allocation : หลักการปรับพอร์ตระยะสั้น-กลาง