ช่วงนี้มีการออกแพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ชื่อว่า

“มาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย แก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง”

ซึ่งคิดว่าเงื่อนไข ของแพ็คเก็จเงินกู้บ้านนี้ หลายท่านน่าจะได้เห็นจากสื่อต่างๆ กันไปแล้วนะครับ

ผมฟังจากวิทยุทราบว่า จากที่ประเมินกันไว้ว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 1 หมื่นคน แค่วันแรกของการเปิดให้ใช้สิทธิ์ (19 ต.ค.) ก็มีผู้สนใจถึง 2,400 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ไม่นานวงเงินก็คงเต็ม… (และอาจมีเปิดเพิ่มอีกด้วยซ้ำ)


น่าห่วง

สำหรับท่านที่ “พร้อม” ผมไม่ห่วงอะไรครับ
แต่ห่วงท่านที่ “คิดว่าพร้อม…แต่จริงๆ ไม่พร้อม”

เพราะเงื่อนไขสำคัญของเงินกู้นี้ มีค่างวดแบบ “บอลลูน” คือค่างวดจะค่อยๆ สูงขึ้น ในปีหลังๆ เช่น หากกู้บ้าน 3 ล้าน ซึ่งเป็นแพ็คเก็จที่ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท

  • ค่างวดปีแรกจะอยู่ที่ เดือนละ 15,000 บาท
  • ค่างวดปีสอง เดือนละ 17,000 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13%)
  • ค่างวดปีสาม เดือนละ 21,000 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24%)

ปีแรกผมไม่เถียงหรอกครับว่าท่านน่าจะผ่อนไหว ปีที่สองก็อาจจะพอถูไถ (กัดฟันสู้ได้อยู่) แต่ปีที่สามเป็นต้นไป ผมคิดว่าน่าจะเริ่ม “เอาไม่อยู่” แล้ว เพราะถ้าท่านเป็นคนทำงานทั่วๆ ไป เงินเดือนไม่น่าจะปรับขึ้นทันค่างวด เพราะเงินเดือนเฉลี่ยบ้านเราขึ้นกันจริงๆ ก็ปีละ 4-7% เอง แต่ค่างวดจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่า 2-3 เท่า ในแต่ละปี นี่ยังไม่รวมรายจ่ายใหญ่ที่มีแนวโน้ม “เปลี่ยนแปลง” จากการตัดสินใจซื้อบ้านครั้งนี้อีก ตัวอย่างเช่น

สำหรับท่านที่ทำงานใน กทม. เดิมเช่าบ้านอยู่ ก็เลยอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้ที่ทำงานหน่อย ค่าเดินทางก็ไม่มาก พอซื้อบ้าน (ซึ่งบ้านราคานี้ คงได้บ้านรอบนอก) ค่าเดินทางอาจเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากค่าน้ำมัน และค่าทางด่วน นอกจากนั้น บ้านที่เช่า เดิมจ่ายแต่ค่าเช่าก็จบ พอซื้ออยู่เอง เช่นซื้อในโครงการต่างๆ ก็จะต้องจ่ายค่าส่วนกลางอีก (อย่างน้อยก็เดือนละพัน) นี่ยังไม่นับค่าตกแต่ง และค่าเห่อบ้านใหม่

บ้านเป็นความมั่นคงก็ได้ เป็นความชิบหายก็ได้เหมือนกัน


แล้วควรทำยังไง ?

ผมอยากให้ลองประเมินตัวเองแบบนี้ดูครับ

  1. ศึกษาแนวทางการทำ “งบประมาณ” และดาวโหลดไฟล์ Excel จากคลิปนี้
  2. ลองประมาณการรายรับ-รายจ่ายไปในอนาคต ตั้งแต่ปีแรกไปจนถึงปีที่สามปีหรือจะไกลกว่านั้นก็ได้ โดยประเมินเงินเดือนที่จะปรับขึ้นในแต่ละปี และประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงหลังซื้อบ้าน ทั้งค่าเดินทางตัวเลขใหม่ ค่าส่วนกลาง ค่าวิถีชีวิตต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป รวมทั้งค่างวดที่จะค่อยๆ “ลอยตัว” ขึ้นด้วย
  3. สังเกตบรรทัดสุดท้ายของงบ ที่เขียนว่า “กระแสเงินสดสุทธิ” ดูซิว่า “ติดลบ” ต่อเนื่องยาวนานบ้างมั๊ย หรือ “ติดลบแบบฟันหลอ” คือลบบ้างเป็นบางเดือน ถ้าเป็นแบบนี้ ผมแนะนำว่าคิดดีๆ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ เราไม่ต้องกระโดดคว้าทุกโอกาสก็ได้ เพราะถ้าในวิกฤติมีโอกาส ในโอกาสก็มีวิกฤติได้เหมือนกันแต่ถ้าท่านทำแล้ว กระแสเงินสดสุทธิยังคงเป็นบวกได้อยู่ และได้ต่อเนื่องด้วย ก็อาจจะพอบอกได้ว่า “น่าจะไม่มีปัญหา” ยกเว้นท่านมีปัญหาด้านอื่นอีกที่ผมไม่รู้

ประยุกต์ใช้กับหนี้แบบอื่น

แนวปฏิบัติแบบนี้ ไม่ได้ใช้ได้กับเฉพาะกับแพ็คเก็จเงินกู้นี้เท่านั้นนะครับ หนี้แบบ “บอลลูน” อื่นๆ ก็ได้ใช้ หรือกระทั่งการจะดูว่า หากอยากจะผ่อนรถซักคันเราจะไหวมั๊ย ? ก็ทำได้

เพราะการที่เก็บเงินดาวน์รถสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าท่านซื้อรถได้หรอกนะครับ เพราะเมื่อจ่ายเงินดาวน์ไป และรับรถมา ท่านต้องจ่ายค่างวดรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าประกันภัย ค่าล้างรถ ค่าบำรุงรักษาอื่นๆ เพิ่มต่อเนื่อง พอนำมาทำ “งบประมาณ” คาดการณ์ไปข้างหน้า ท่านอาจได้เห็นสภาพตัวเอง “ตายทั้งเป็น” ซึ่งจะสะท้อนจาก “กระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง” ก็ได้


สรุป

บางครั้งการตัดสินใจก่อหนี้ ก็ “เชื่อความรู้สึกตัวเองไม่ได้” เพราะคงไม่มีใคร ก่อหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีปัญญาจ่าย แต่เราก่อ ก็เพราะคิดว่าใช้คืนไหวกันทั้งนั้น งบประมาณที่ผมชวนลองทำนี้ จะช่วยให้เราได้ “เห็นอนาคต” ของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ซึ่ง “ดีกว่าเชื่อความรู้สึกตัวเอง” แน่นอนครับ!