ตลอดปี 2015 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามค่อนข้างมาก ว่าควรทำอย่างไรกับพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะพอร์ตการลงทุนระยะยาว ซึ่งหลายท่านมีการวางแผนการลงทุนเอาไว้ ว่าจะนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อเป้าหมายสำคัญต่างๆ เช่น ใช้เพื่อเกษียณอายุ เป็นกองทุนสู่อิสรภาพทางการเงิน เป็นเงินทุนการศึกษาขั้นสูงของบุตร ฯลฯ

สาเหตุก็เพราะตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างมากในปี 2015 นี้ หากวัดจากดัชนี SET Index ท่านที่ลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันนี้ (15 ธ.ค. 58) จะขาดทุนไป 13% ส่วนท่านที่บังเอิญเริ่มต้นลงทุนในเดือน ก.พ. 58 ช่วงดัชนีพีคๆ แถวๆ 1600 จุด ตอนนี้ก็จะขาดทุนไปถึง 20% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผมอยากย้ำตรงนี้ว่า ในการลงทุนระยะยาวในหุ้น (ทั้งกองทุนหุ้น และหุ้นรายตัว) หรือในพอร์ตที่มีหุ้นเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะกำไรตลอดเวลา มันมี Bad Year เกิดขึ้นได้เสมอ (เช่นเดียวกับ Good Year นั่นล่ะ) และอันที่จริง ความเสี่ยงที่แสดงตัวอยู่ในปีนี้ มันก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมายอะไร ถ้าเราย้อนกลับไปดูอดีต เช่นในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ปีนั้นหุ้นตกทั้งปีถึง 40-50% (หุ้นรายตัวบางตัวตกมากถึง 70-80%)

ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้เพื่ออยู่กับมันให้ได้ เพราะในความเสี่ยงมันก็มีโอกาสของมันอยู่ หลายๆ คนที่สร้างฐานะมาด้วยการลงทุนในหุ้น ก็อาศัยความเสี่ยงนี่ล่ะเปลี่ยนชีวิตมาแล้ว แต่มันต้องดำเนินไปอย่าง “มีการจัดการ” ซึ่งเราก็สามารถจัดการได้หลากหลาย

ในบทความนี้ ผมขอแชร์แนวทางการจัดการความเสี่ยงในตลาดหุ้นขาลง (ที่หุ้นได้ปรับตัวลงไปแล้วระดับหนึ่ง และยังไม่แน่ใจว่าลงต่อไปอีกมั๊ย) โดยแบ่งตามประเภทและวิธีการลงทุนของคนแต่ละกลุ่ม ขอให้ลองอ่านและพิจารณาดูก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนกลุ่มไหน เพราะวิธีการลงทุนที่ต่างกัน สิ่งที่ควรทำก็แตกต่างกันออกไป ไม่มีคำแนะนำครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกๆ คน


กลุ่มที่ 1 : ผู้ที่เน้นวินัยการลงทุน + ระยะเวลาการลงทุนยาว

หมายถึงท่านที่ ไม่มีความรู้ / ไม่มีความเชี่ยวชาญ / ไม่เชื่อ / ไม่มั่นใจ ในเรื่องของการจับจังหวะลงทุน (Market Timing) ท่านจึงเลือกใช้วิธีการลงทุนที่เน้นวินัย เช่นการลงทุนเป็นประจำ หรือ Dollar-Cost Averaging (DCA) โดยทยอยลงทุนในกองทุนรวม (กองทุนหุ้น/LTF/RMF) หรือ ทยอยลงทุนในหุ้นรายตัว (ที่เรียกว่าการออมหุ้น) โดยท่านยังเหลือระยะเวลาการลงทุนอีกยาว เช่น จะยังลงทุนต่อเนื่องอีกเป็น 10 ปีขึ้นไป โดยยังคงมีเม็ดเงินใหม่ใส่เพิ่มเข้ามาอยู่ตลอดทาง

ในความเห็นของผม สิ่งที่ท่านควรทำคือ

  • รักษาวินัย ลงทุนตามแผนการลงทุนเดิมต่อไป นั่นคือถ้าลงทุนแบบ DCA อยู่ ก็ยังสามารถทำต่อไปได้ เพราะการที่ท่านเลือกใช้วิธีการลงทุนนี้ มันก็บอกอยู่แล้วว่าท่านไม่อยากเก็งจังหวะ และหากท่านศึกษากลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA มาดีพอ ท่านน่าจะพอเข้าใจว่าเป็นการทยอยซื้อในทุกๆ สภาวะตลาด หมายความว่าจะมีช่วงที่ท่านยิ่งซื้อยิ่งแพง (เช่นช่วงปี 2009-2013 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตลาดขาขึ้น) และก็จะมีช่วงที่ท่านยิ่งซื้อยิ่งถูก (เช่นในปี 2008 และในปี 2015 นี้) ผลคือท่านก็จะมีต้นทุนเฉลี่ยๆ ค่ากลางๆ มีผลกำไรระดับกลางๆ ซึ่งถ้าระยะเวลาการลงทุนยาวนานพอ ก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยค่ากลางๆ ของตลาดหุ้น คือแถวๆ 10-12% ต่อปี หัวใจสำคัญคือวินัยในการออมที่ท่านจะยังได้ทำอย่างสม่ำเสมอ ยามหุ้นขึ้นท่านก็ซื้อเพื่อรักษาวินัย ยามหุ้นลงท่านก็ได้ทั้งวินัยและได้โอกาสซื้อถูก
  • ถ้าท่านกลัว ขอให้ท่านศึกษาธรรมชาติของหุ้นให้ดี ว่าสินทรัพย์นี้มีพฤติกรรมอย่างไร ขึ้น-ลงจากปัจจัยใดเป็นหลัก ระยะยาวผลตอบแทนเป็นอย่างไร ในวิกฤติครั้งก่อนๆ หน้า เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปเหตุการณ์เป็นอย่างไร รวมทั้งทบทวนกลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA ด้วย ว่ามันคืออะไร มันกำเนิดมาเพื่ออะไร ทำไมจึงมีคนใช้มันอยู่ เพราะในยามที่เรากลัว หากเราไม่หนี สิ่งที่พอจะทำให้เราผ่านสถานการณ์นี้ได้ก็คือความเข้าใจที่ดี ลิ้งค์ด้านล่างนี้ คือสิ่งที่จะช่วยให้ความเข้าใจท่านได้ดีขึ้นครับ
  • ท่านใดที่ลงทุน DCA ผ่านกองทุนรวม ควรใช้โอกาสที่หุ้นปรับตัวลงนี้ ทบทวนกองทุนหุ้นที่ใช้ดูสักหน่อย ว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ยังคงดีกว่าเพื่อนๆ ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเดียวกันอยู่หรือไม่ หากท่านยังไม่รู้วิธีประเมินผลหรือวิธีเลือกกองทุนหุ้น คลิ๊กดูวีดีโอสอนได้ที่นี่ หรือถ้าดูแล้วไม่มั่นใจ ว่าจะเลือกได้ถูก ท่านยังมีทางเลือกใช้ กองทุนรวมดัชนี ที่เน้นลงทุนเลียนแบบตลาดเป็นเครื่องมือลงทุนแทนได้
  • ท่านที่ลงทุน DCA ในหุ้นรายตัว นี่เป็นเวลาทบทวน ว่าหุ้นรายตัวที่ท่านเลือกมีราคาที่เหมาะสม (Fair Price หรือ Intrinsic Value) ที่ยังสูงกว่าราคาตลาด ณ ปัจจุบันหรือไม่ เพราะเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป หากมี Upside ดังกล่าว ราคาหุ้นก็มีโอกาสปรับขึ้นไปได้ แต่ในวิกฤติแบบนี้ กิจการบางกิจการจะได้รับความเสียหายในเชิงปัจจัยพื้นฐา่นไปด้วย เช่น สูญเสียฐานลูกค้า เสียความสามารถในการแข่งขัน หรือมีสินค้าอื่นๆ มาทดแทน ทำให้แม้วิกฤติผ่านพ้นไป หุ้นที่ท่านถืออยู่ก็อาจปรับขึ้นได้ไม่มากเท่ากับที่ตกลงมา หากท่านไม่รู้วิธีการวิเคราะห์ ลองเรียนรู้จากวีดีโอใน Series 10 สอนเรื่องการลงทุนหุ้นรายตัว ได้ครับ ย้ำอีกครั้งว่าสำคัญมากนะครับ วิธี DCA เป็นแค่วิธีในการใส่เงินเข้ามาลงทุน แต่จะได้ผลดีหรือไม่ อยู่ที่หุ้นหรือสินทรัพย์ด้วย ว่าในระยะยาวต้องปรับขึ้น บางคนลงทุน DCA ในหุ้นตัวเดียวหรือไม่กี่ตัว แล้วมันก็ร่วงลงมาตลอด แบบที่พื้นฐานกิจการก็แย่ด้วย อย่างนี้ อันตรายมากครับ จะกลายเป็นซื้อถัวขาลงแบบยังหาทางขึ้นไม่เจอ ถ้ามันแย่ก็ต้องเปลี่ยนนะครับ

กลุ่มที่ 2 : ผู้ที่เน้นวินัยการลงทุน + ระยะเวลาการลงทุนสั้น

กลุ่มนี้มีแนวคิดและวิธีการลงทุนใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 1 ต่างตรงที่มีระยะเวลาการลงทุนไม่มากนัก อาจจะแค่ 3-5 ปี และโดยทั่วไปเงินลงทุนเดิมที่มีอยู่ก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับเงินใหม่ที่จะใส่เข้ามาในอีกแค่ไม่กี่ปี ดังนั้นความสามารถในการรับความเสี่ยง ความสามารถในการรอคอย จะต่ำกว่ากลุ่มที่ 1 อย่างมาก ความเสี่ยงที่เคยเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มที่ 1 กลับกลายเป็นภัยร้ายสำหรับคนกลุ่มที่ 2 นี้

คำแนะนำของผมคือ

  • ท่านต้องปรับโฟกัสจากการเน้นสร้างผลตอบแทน มาเป็นการเน้นรักษาเงินทุนมากขึ้น ดังนั้นหากท่านประเมินมูลค่าพอร์ตที่มีอยู่ รวมกับเงินลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าแล้วมัน “พอใช้” หรือมัน “พอใจ” แล้ว ท่านก็ควรจะลดความเสี่ยงในการลงทุนลง เช่นลดหุ้นลง แม้ว่ามันจะตกไปแล้วบางส่วนนั่นล่ะ เพราะในการตัดสินลงทุนที่ดีนั้น เราเน้นการมองไปข้างหน้าเป็นหลัก ความเสียหายที่เกิดแล้วก็ถือว่าเกิดแล้ว เรากลับไปปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ต้องอย่าลืมว่าเราไม่เหมือนคนกลุ่มที่ 1 ที่มีเวลามากๆ อีกแล้ว สำหรับเค้าการเสียหายนั้นมันชั่วคราว สำหรับเราการเสียหายมันอาจจะถาวร ลองศึกษาแนวคิดเรื่องการปรับพอร์ตลดความเสี่ยงได้จาก บทความนี้ และวีดีโอตอนนี้ 
  • หากท่านยังประสงค์ (หรือดันทุรัง) จะลงทุนต่อแม้เวลาจะสั้นแล้ว ท่านควรเริ่มวางแผนให้มีกลไกในการหยุดขาดทุนร่วมด้วย เพราะในกรณีที่หุ้นมันลงต่อ ท่านจะยังรักษาเงินทุนจำนวนหนึ่งไว้ได้ โดยอาจตั้งเป็นมูลค่าพอร์ตหรือมูลค่าหุ้นต่ำสุดเอาไว้ หากราคาต่ำกว่าจุดที่ตั้งไว้เมื่อไร ท่านต้องแข็งใจ ขายเพื่อหยุดการขาดทุน เพราะอย่าลืมว่าเงินนี้ไม่ใช้เงินเล่นแล้ว เป็นเงินที่เราใกล้จะต้องนำมากินนำมาใช้ เช่น ถ้าใครลงทุนเพื่อเกษียณ เงินนี้ต้องนำมาใช้จ่ายในยามเกษียณจริงๆ ลองดูวีดีโอ แนวทางการจำกัดการสูญเสีย เพิ่มเติมได้ครับ
  • หากประเมินแล้วพอร์ตที่เสียหายไป ทำให้ท่านมีเงินไม่พอบรรลุเป้าหมาย ท่านต้องแก้ไขด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่มาทุ่มลงทุนเอาตอนที่เหลือเวลาน้อยแล้ว ทางแก้ไขอื่นๆ เช่น การหารายได้เสริม การประหยัดบางอย่างเพื่อให้เก็บออมได้มากขึ้น หรือในกรณีจำเป็นการขายทรัพย์สินใหญ่บางอย่าง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในชีวิต ก็ถือเป็นแผนการที่นำมาใช้ได้ มีคนมากมายที่ขายบ้านใหญ่ มาอยู่บ้านเล็ก เพื่อนำเงินจากการขายมาเป็นค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ เพียงแค่ต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบกว่าปกติเท่านั้น

กลุ่มที่ 3 : ผู้ที่เน้นการจับจังหวะลงทุน + ระยะเวลาการลงทุนยาว

ท่านเป็นคนที่ มีความรู้ / มีความเชี่ยวชาญ / เชื่อ / มั่นใจ ในเรื่องของการจับจังหวะลงทุน (Market Timing) โดยอาศัยหลักการตัดสินใจลงทุนแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบร่วมกัน ในการคาดการณ์ทิศทางของตลาดหรือทิศทางราคาของหุ้น เช่น การตัดสินใจบนปัจจัยพื้นฐานด้วย Valuation (ความถูกแพงของหุ้น) การใช้ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis) และ/หรือ ปัจจัยอื่นๆ

ถ้าท่านมีความเชี่ยวชาญอย่างที่ท่านเชื่อว่ามีจริง อย่างน้อยในการปรับตัวลงของตลาดในครั้งนี้ ท่านไม่ควรจะเสียหายมาก อย่างแย่ก็ไม่ควรเสียหายไปมากกว่าผลขาดทุนของตลาดหุ้นโดยเฉลี่ย แต่ถ้าท่านเสียหายมากกว่านั้น อาจต้องฉุกคิดเหมือนกัน ว่าที่ท่านที่คิดว่าคาดการณ์ตลาดได้นั้น จริงๆ แล้วคาดได้จริงหรือไม่ ?

เพราะเป็นเรื่องน่ากลัวมากที่เราคิดว่าเราทำได้ แต่จริงๆ แล้วเราทำไม่ได้ หากเป็นไปได้ผมอยากชวนลองวัดผลตัวเองก่อนว่าฝีมือเราเป็นอย่างไร ลองดูแนวทางจาก บทความนี้ ครับ

ณ จุดนี้เอาเป็นว่าเราคิดว่าเรามีทักษะพอก็แล้วกันนะครับ คำแนะนำของผมต่อท่านมีดังนี้ครับ

  • สำหรับท่านที่ตัดสินใจจากปัจจัยพื้นฐาน
    คือมีราคาที่เหมาะสมของหุ้นที่สนใจลงทุน หรือถ้ามองเป็นตลาดก็คือมีระดับดัชนีที่เหมาะสมที่ท่านคิดว่าสามารถกลับเข้าไปลงทุนได้ ณ เวลานี้ท่านควรประเมินมูลค่าเหล่านั้นใหม่ทั้งหมด (Re-Valuation) โดยควรประเมินให้สะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศขณะนี้เข้าไปด้วย ท่านใดที่ใช้การประเมินมูลค่าโดยอาศัยตัวคูณราคา (Price Multiples) แบบต่างๆ เช่น P/E Ratio อาจต้องเลือกใช้ P/E ที่เหมาะสม (Fair หรือ Intrinsic P/E) ค่าใหม่ เพราะในตลาดขาลงนั้น นักลงทุนอาจไม่ยอมจ่ายราคาเดิมให้กับของชิ้นเดิม ส่งผลให้ถ้าเรายังยึดติดกับราคาที่เหมาะสมชุดเก่า เราอาจนึกว่าหุ้นนั้นยังดีอยู่ ทั้งที่ความจริง Upside มันเหลือน้อยหรือแทบไม่มีแล้ว เมื่อประเมินราคาที่เหมาะสมใหม่ได้ ค่อยมาตัดสินใจครับ ว่าจะยังถือหุ้นนี้อยู่ หรือควรขายออกไป และนอกจากจะใช้พิจารณาขายแล้ว ยังสามารถใช้พิจารณาในการซื้อกลับไปด้วยว่า ราคาหุ้นที่ตกลงมา ทำให้เกิด Upside มากพอที่จะเสี่ยงแล้วหรือยัง
  • สำหรับท่านที่ตัดสินใจจากปัจจัยทางเทคนิค
    ซึ่งต้องยอมรับว่าผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ แต่จากความรู้แบบงูๆ ปลาๆ ของผม ก็พอจะรู้ว่า ขณะนี้ (กลางเดือน ธ.ค. 58) ตลาดอยู่ในแนวโน้มขาลง (Down Trend) อาจจะมีแอบๆ ดีดขึ้นมาบ้างเป็นบางช่วง แต่แนวโน้มใหญ่ก็ยังเป็นขาลง ดังนั้น ถ้าท่านเป็นนักลงทุนแนวเทคนิคจริงๆ ผมคิดว่าคงมีการดำเนินการตัดขาดทุนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แต่ถ้าไม่ ก็ควรต้องทบทวนตัวเอง ว่าเราลงทุนแนวไหนกันแน่) ท่านใดยังไม่ตัด ก็อาจต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร ถ้ามั่นใจในหลักการจริงๆ ผมคิดว่าก็ควรต้องตัดครับ เพราะสมมติฐานข้อหนึ่งของการวิเคราะห์ทางเทคนิค คือ “แนวโน้มใดๆ ก็ตาม จะดำรงต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น” นั่นคือ ถ้าไม่ตัด ก็มีสิทธิ์จะขาดทุนต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งหลักการนี้ก็ยังสามารถนำมาใช้ตัดสินใจซื้อกลับได้เช่นกัน เช่นเมื่อมีการเปลี่ยนแนวโน้มอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาจาก Price Pattern หรือ Indicator ต่างๆ ที่ท่านเชื่อหรือเชี่ยวชาญ
  • สำหรับท่านที่ตัดสินใจโดยใช้หลักการอื่น ก็ต้องกลับไปทบทวนหลักการดีๆ ล่ะครับ ว่าเวลานี้ควรถือต่อมั๊ย แล้วตอนไหนให้กลับมาซื้อใหม่ เพราะท่านยังเหลือเวลาลงทุนอีกยาว ยังไงก็ต้องกลับมา แต่จะกลับมายังไงให้มันถูกเวลา ณ จุดนี้ถ้าใครตระหนักกับตัวเองว่า “เออ เรามันไม่มีหลักอะไรเลยนี่หน่า” ก็ต้องรีบหาวิชาแล้วครับ การรอคำตอบจาก “กูรู” บางทีก็ไม่ทันกินนะครับ กูรูบางท่าน แนะนำเราอย่าง แต่ทำของตัวเองอย่างเฉยเลยก็มี ถ้ายังต้องถามใครอยู่ ผมว่าเรายังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแท้ๆ หรอกครับ

กลุ่มที่ 4 : ผู้ที่เน้นการจับจังหวะลงทุน + ระยะเวลาการลงทุนสั้น

ผมคิดว่าท่านก็ตกอยู่ในสถานะคล้ายๆ นักลงทุนกลุ่มที่ 2 คือเวลาเหลือสั้น ดังนั้นผมคิดว่าท่านควรอ่านคำแนะนำเดียวกันกับนักลงทุนกลุ่มที่ 2 นั่นคือ อาจต้องมีการปรับพอร์ตลดความเสี่ยง + ตั้งมูลค่าพอร์ตต่ำสุดที่ยอมรับได้ + หาวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมในการบรรลุเป้าหมายแทนที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนในช่วงนี้

แต่ท่านอาจจะต่างอยู่หน่อยตรงที่ ท่านมีทักษะในการจับจังหวะ ดังนั้นถ้าออกจากตลาดมาแล้ว และหาจุดกลับเข้าไปได้ดีพอ เช่นที่ Valuation ต่ำมาก (กรณีวิเคราะห์แนวปัจจัยพื้นฐาน) หรือที่จุดที่เกิด Trend Reversal ที่ชัดเจน ท่านอาจสามารถกลับเข้ามาใหม่แล้วทำกำไรเพิ่มได้พอสมควร เพราะหลังจากที่ตลาดปรับตัวลงเยอะ ก็มักมีการปรับขึ้นแรงตามมา


บทสรุป

คำแนะนำข้างต้นก็เป็นคำแนะนำแบบกว้างๆ นะครับ สุดท้ายนักลงทุนทุกๆ กลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่ม 3 กับ 4) ก็ยังต้องไปคิดต่อตามหลักที่ตนเลือกใช้ ที่อยากให้ระวังคือ การใช้หลักการตัดสินใจที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพียงเพื่อจะให้ตัวเองสบายใจ เช่นหลักการหนึ่งมันบอกว่าเราควรจะตัดขาดทุนแล้ว เราไม่ยอมทำเพราะเสียดาย เราก็ไปอ้างอีกหลักการหนึ่งว่ายังถือรอต่อได้ (ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ใช้หลักการนั้นตั้งแต่ต้น)

เลวร้ายกว่านั้นคือ เราไม่เหลือหลักการอะไรแล้วทั้งสิ้น แต่เป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์ล้วนๆ เช่น บางคนเห็นหุ้นตกมาหลายวัน พอร์ตแดงไปเยอะ เริ่มเครียด อยู่ดีๆ ก็ซื้ออัดเต็มพอร์ตไปซะงั้นเพื่อหวังเด้งแล้วจะเอาคืนในไม้เดียว (เหมือนเล่นไพ่เลย) ผลลัพธ์มันอาจเลวร้ายกว่าเดิมก็ได้นะครับ


แนะนำมาตั้งเยอะ แล้วคุณเอล่ะทำยังไง ?

ณ ตอนนี้ผมเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ 3 ครับ แต่ด้วยความที่ปัจจุบันแทบไม่มีเงินใหม่เข้าไปลงทุนเพิ่ม และกรณีไม่มีงานเสริมให้ทำ ผมอาจจำเป็นต้องใช้เงินจากพอร์ตบางส่วนมาเลี้ยงชีพ ดังนั้นก็จะมีความใกล้เคียงกับนักลงทุนกลุ่มที่ 4 ด้วย สิ่งที่ผมทำในช่วงที่ผ่านมาคือ

  • ปรับสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ต (Asset Allocation) ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือมีเงินสดค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปี (มากที่สุดตั้งแต่ลงทุนมา) เพราะต้นปีหุ้นไทยในเชิง Valuation ก็แพงแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งมาแพงเอาระหว่างปี (วิธีดูผมก็ดูตามที่สอนใน Series 9 ตอนนี้ ครับ)
  • ประเมินมูลค่าหุ้นที่ลงทุนทุกตัวใหม่ จากเดิมที่ลงทุนหุ้นประมาณ 5-6 ตัว ตอนนี้ก็เหลือแค่ 3 ตัวที่เรายังคิดว่ามี Upside หรือ Margin of Safety ที่น่าสนใจเพียงพอ
  • กระจายการเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ (ผ่านกองทุนรวม) เพราะประเมินว่ายังพอมีประเทศที่ยังลงทุนได้ และไม่น่ากลัวเท่ากับหุ้นไทยอยู่ และล่าสุดก็เริ่มกระจายไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพราะกลัวว่าตลาดหุ้นไทยจะซึมยาว อย่างน้อยกองอสังหาฯ ก็ยังมีเงินปันผลบ้าง
  • กำหนดมูลค่าพอร์ตการลงทุนต่ำสุดที่ยอมรับได้ กรณีที่มีวิกฤติ จะไม่ยอมให้พอร์ตลดต่ำกว่ามูลค่านี้ เพราะถ้าต่ำเกินไป ผมก็จะเครียด เพราะนี่เสมือนเป็นแหล่งเงินทุนก้อนสุดท้ายของผม
  • ทำงานหารายได้เสริม แม้จะได้เงินเพิ่มไม่มากเท่าไร แต่ก็ทำให้มีรายได้เข้ามา ทำให้ไม่ต้องไปขายหุ้นในพอร์ตกินในยามที่หุ้นตก จริงๆ แล้วมันเป็นการบริหารใจมากกว่า เพราะเรากำหนดผลตอบแทนของตลาดไม่ได้ แต่ยังพอกำหนดการกระทำของเราได้ ดังนั้น อะไรทำได้ ทำแล้วสบายใจ สบายกระเป๋าขึ้น ก็ทำๆ ไปก่อนครับ

อ่านแล้วอย่าลอกนะครับ… ดูดีๆ ว่าเราเป็นคนกลุ่มไหน แล้วตัดสินใจให้เหมาะกับสถานะเราดีกว่าครับ แล้วเราจะผ่านช่วงเวลาร้ายๆ นี้ไปด้วยกันครับ 🙂