คำถาม

จากซีรีส์ “การลงทุนผ่านกองทุนรวม” (ผมเข้าใจว่า) คุณเอแนะนำเกณฑ์ในการเลือกกองทุนโดยให้พิจารณาจากผลตอบแทนในระยะยาวเป็นหลัก (โดยเฉพาะกองทุนหุ้น) แต่ทุกวันนี้มีกองทุนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เปิดเสนอขายออกมามากมาย ทั้งกองทุนรายหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund) เช่น Healthcare กองทุนที่ลงเฉพาะกลุ่มประเทศ และกองหุ้นทั่วไป

เพื่อไม่ให้เสียโอกาส (และไม่ตกเทรนด์ ^^) ผมจึงมีคำถามเกิดขึ้น 2 ข้อ ดังนี้ครับ (ถามกองหุ้นเป็นหลัก)

  1. เราควรรอให้เขาพิสูจน์ผลงานก่อนอย่างน้อยกี่ปีครับ
  2. กองหุ้นต่างประเทศ ที่กองแม่ (Master Fund) มีผลงานยอดเยี่ยม ควรจะรอให้กองลูกในไทยได้พิสูจน์ผลงานก่อนอย่างน้อยกี่ปีครับ

คำตอบ

ผมขอตอบคำถามที่ถามมา พร้อมๆ กับขอทบทวน “เกณฑ์ส่วนตัว” ของผมไปด้วย เพราะไม่ได้เน้นมองแต่ผลตอบแทนระยะยาวเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาอย่างอื่นด้วย ตามลำดับดังนี้นะครับ

1. ให้แน่ใจว่าเปรียบเทียบกองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกัน

โดยเฉพาะกรณีการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีตัวเลือกกว้างมาก ตัวอย่างเช่น อย่านำกองทุนหุ้นจีน ไปเทียบกับกองทุนหุ้นยุโรป เป็นต้น เพราะนี่คือขั้นตอนการ “เลือกกองทุน (Fund)” เพื่อเป็นเครื่องมือลงทุน (Investment Vehicle) ซึ่งหมายความว่า เราต้องผ่าน “การเลือกสินทรัพย์ (Asset)” มาก่อน นั่นคือ ถ้าในขั้นตอนการเลือกสินทรัพย์ เราอยากลงทุนหุ้นจีน ในขั้นตอนการเลือกกองทุน ก็ให้นำเฉพาะหุ้นจีนที่สนใจมาเปรียบเทียบกัน

2. พิจารณาผลตอบแทนระยะยาว 3-5 ปี ที่ดี

ดีในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องได้อันดับที่หนึ่ง แต่ต้องได้ผลตอบแทนจัดอยู่ในกลุ่มต้นๆ เช่น 3-4 อันดับแรก

กรณีเป็นกองทุนหุ้นในประเทศที่ออกใหม่ จะไม่มีค่านี้ให้ดู ผมอาศัยดูจากกองทุนหุ้นกองเดิม ที่ บลจ. แห่งนั้นบริหาร ว่าผลตอบแทนชนะตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี SET TRI หรือ SET50 TRI รึเปล่า และเมื่อเทียบกับคู่แข่งซึ่งเป็นกองประเภทเดียวกัน ผลตอบแทนไม่ได้แย่จนเกินไป ก็ถือว่าลองให้โอกาสเค้าดู ไม่งั้นกองใหม่ก็จะไม่ได้อยู่ในเรดาร์การตัดสินใจของเราเลย หรือถ้า บลจ. นั้นไม่เคยมีประวัติการออกกองทุนประเภทนี้มาก่อนเลย ก็คงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย คือไม่ต้องพิจารณาในขั้นที่ 2 นี้

กรณีเป็นกองทุนหุ้น หรือ Sector Fund ต่างประเทศ ผมพิจารณาจากผลตอบแทนของ Master Fund เป็นหลัก เพราะมักไม่ใช่กองใหม่ แต่มีอายุพอสมควรแล้ว

ดูวีดีโอ ตัวอย่างการเลือกกองทุนหุ้นต่างประเทศ (FIF) โดยการเปรียบเทียบ Master Fund

3. พิจารณาผลตอบแทนระยะสั้น 3-6 เดือน ที่ดี

ซึ่งก็เช่นกัน ดีในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องได้อันดับที่หนึ่ง แต่ให้ผลตอบแทนอยู่ในกลุ่มต้นๆ และ อย่างน้อยผลตอบแทนระยะสั้นนี้ก็ควรสูสีกับตลาด หรือดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง ที่ต้องดูผลตอบแทนระยะสั้นด้วย ก็เพราะบางกองระยะยาวทำได้ดีมาก แต่มันนานมากแล้ว แม้ระยะสั้นเริ่มเป๋ มันก็จะยังไม่สะท้อนในตัวเลขระยะยาว ทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะเลือกกองที่เคยดีมาในระยะยาว แต่ระยะสั้นแย่ไปแล้ว เข้ามาลงทุนได้

ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่ามีปัญหา สำหรับกองทุน IPO หุ้นไทยซึ่งเปิดใหม่ เพราะไม่มีสถิติในอดีตให้เราดู ดังนั้น ผมจึงจะเลี่ยงการเข้าลงทุนในกอง IPO หุ้นไทย จนกว่าจะเห็นฝีมือซัก 3-6 เดือนก่อน ขณะที่ถ้าเป็นกองหุ้นต่างประเทศ เรายังดูจาก Master Fund ได้อยู่ และไม่จำเป็นต้องรอให้กองทุนในไทยที่ออกใหม่โชว์ฝีมือก็ได้ เพราะกองทุนลักษณะนี้ (ซึ่งเราเรียกว่า Feeder Fund นั้น) ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Master Fund มาก

ประเด็นพิจารณาเพิ่มเติมคือเรื่อง ผลกระทบจากนโยบายการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลทำให้ผลตอบแทนของ Feeder Fund เพี้ยนไปจาก Master Fund ได้ อยากรบกวนให้ศึกษาผลกระทบจากวิดีโอตอนนี้ครับ

ดูวีดีโอ ความเข้าใจเรื่องกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF)

4. พิจารณาโครงสร้างพอร์ต กลยุทธ์การลงทุน และการกระจายความเสี่ยง

เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ เราน่าจะได้รายชื่อกองทุนที่ “น่าสนใจ” ในการพิจารณาเชิงลึกมาจำนวนหนึ่ง (อาจจะ 2-3 กอง) ก็ถึงเวลาที่จะเข้าไปอ่านรายละเอียด เกี่ยวกับกลยุทธ์ และ ลักษณะของหุ้นที่ลงทุน ซึ่งอาจเป็นงานที่ใช้เวลามากขึ้นหน่อย และในบางกรณีการเข้าไปอ่านเอกสารเหล่านั้น ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกอะไร เพราะเขียนไว้แบบกลางๆ

ทางหนึ่งที่ผมคิดว่าใช้ได้ดี ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ก็คือ การค้นวีดีโอใน YouTube ที่มีผู้บริหาร หรือ ผู้จัดการกองทุน ของ บลจ. นั้นๆ ให้สัมภาษณ์หรือบรรยายในโอกาสต่างๆ ก็มักมีการแชร์ถึงแนวทางและกระบวนการลงทุนของแต่ละแห่งไว้ให้เราเข้าใจง่ายพอสมควร

นอกจากกลยุทธ์การลงทุนซึ่งทำความเข้าใจยาก ผมมักจะดูระดับของ “การกระจายความเสี่ยง” ร่วมไปด้วย ตัวอย่างเช่น กองทุนสองกอง มีผลตอบแทนระยะยาว และระยะสั้นโดดเด่นพอๆ กัน แต่กอง A กระจายการลงทุนมากกว่ากอง B ผมมักจะให้คะแนนกอง A มากกว่า เพราะถือว่า “เสี่ยงน้อยกว่า แต่ผลตอบแทนพอๆ กัน

ดูวีดีโอ ตัวอย่าง การเลือกกองทุนหุ้นแบบ Active Fund ซึ่งมีการพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยงร่วมด้วย

ส่วนถ้าท่านใดยังไม่เข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยง (Diversification) นัก ผมอยากให้อ่านบทความนี้ประกอบด้วยครับ

บทความ ลงทุนแบบ DCA กระจายความเสี่ยงแบบไหน ผลตอบแทนดีกว่ากัน ?

5. พิจารณาค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการซื้อขายต่างๆ 

ถึงขั้นนี้เราน่าจะ Scope Down จำนวนกองที่จะตัดสินใจลงทุนได้แคบลงมาอีก ซึ่งจะเห็นว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราใช้ใน 4 ขั้นก่อนหน้า ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือเป็นข้อมูลอดีตทั้งสิ้น ในขั้นนี้ผมจึงจะดูเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นตัวช่วยตัดสินใจขั้นสุดท้ายเพราะค่าธรรมเนียมเหล่านี้ จะเป็นตัวที่ “บั่นทอน” ผลตอบแทนในอนาคตไปอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปกติหากผลตอบแทนในอดีตพอๆ กัน ผมจะให้คะแนนกับกองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ว่าน่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าในอนาคต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายรวมที่เรียกว่า Total Expense Ratio (TER) นั้น ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ดูวีดีโอ สอนตีความค่าใช้จ่ายกองทุนรวมเชิงลึก 

จุดนี้ผมอยากเน้นให้สังเกตดีๆ นะครับ ว่า ผมเน้นเทียบค่า Fee ระหว่างกองที่คิดว่าดีแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ดูจาก Fee เพียงอย่างเดียวนะครับ บางคนเลือกกองทุนโดยดูจากค่า Fee ที่ต่ำเพียงอย่างเดียว เราอาจได้กองที่ Fee ต่ำแต่ฝีมือห่วยก็มีครับ


บทสรุป

จาก 5 ขั้นตอนที่ผ่านมา อาจจะดูเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากหน่อย แต่ก็เป็นขั้นตอนจริงที่ผมใช้ในการพิจารณากองทุนรวมที่จะเข้าลงทุนเป็นการส่วนตัว ซึ่งมีแนวทางการพิจารณาในลักษณะของ “ตะแกรงร่อน” คือค่อยๆ คัดกองทุนที่ไม่ใช่ออกไป และคัดกองทุนที่ใช่เก็บไว้ไปทีละลำดับ ตาม 5 ขั้นตอนคือ

เทียบให้ตรงกลุ่ม > ระยะยาวดี > ระยะสั้นไม่แย่ > ลงทุนกระจายเหมาะสม > Fee ต่ำ

ถามว่าการันตีได้มั๊ย ว่าเลือกวิธีนี้แล้วจะถูกต้อง ผมตอบได้เลยครับว่า “ไม่ได้” เพราะจนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นงานวิจัยไหนที่บอก “สูตรสำเร็จ” ของการเลือกกองทุนไว้แล้วใช้ได้จริงๆ วิธีที่แชร์มานี้ จึงเป็นเพียงวิธีการส่วนตัวที่ผมใช้ และเห็นว่า “มีเหตุผล” เท่านั้น ก็อยู่ที่ท่านผู้อ่านด้วยครับ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ?

ทิ้งท้ายอีกอย่างหนึ่งก็คือ “หากริจะเลือกกองทุนแบบ Active Fund” เพื่อลงทุนแล้ว อย่าคิดว่าเลือกครั้งเดียวแล้วจบ ถือไปได้ตลอดกาลนะครับ เพราะฝีมือกองมันเปลี่ยนกันได้ อย่างน้อยๆ ทุก 1 ปี ก็ควรทบทวนกระบวนการเลือก 5 ขั้นตอนข้างต้นใหม่อีกครั้ง ว่ากองเดิมที่เลือกไว้ ยังคง “ติดโผ” กองทุนที่น่าลงทุนอยู่มั๊ย ถ้าไม่ติดก็ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนบ้าง

หรือหากไม่แน่ใจว่าจะเลือกได้ หรือขี้เกียจรับความไม่แน่นอนจากฝีมือผู้จัดการกองทุน ก็เลือกลงทุนกองทุนแบบ Passive หรือ Index Fund ซึ่งเน้นลงทุนเลียนแบบตลาดได้ครับ วิธีการเลือกจะทำได้ง่ายกว่าการเลือก Active Fund เยอะเลย

วีดีโอ สอนเลือกกองทุนหุ้นแบบ Index Fund