หลังจากที่ผมได้บรรยายหลักสูตร Financial Foundation มาซักพัก ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เห็นงบการเงินของคนไทยผ่านตามาหลายๆ แบบ ผมได้เห็นความจริงอย่างหนึ่งที่ “น่ากังวลมาก” เพราะ นอกจากมันจะเป็นปัญหาอยู่กับเราไปตลอดชีวิตแล้ว เรายังไม่รู้ตัวด้วยว่าเรากำลังมีปัญหานี้อยู่
สิ่งที่คิด : เดี๋ยวรายได้เพิ่มขึ้น การเงินเราก็ดีขึ้น
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคิดแบบนี้ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นของการทำงานที่เงินเดือนหรือรายได้ยังน้อย บางคนเงินเดือนหลักหมื่นต้นๆ ก็คิดว่าเดี๋ยวพอเงินเดือนขึ้นเป็น 2-3 หมื่นก็สบายแล้ว ส่วนคนที่เงินเดือน 2-3 หมื่นอยู่แล้ว ก็รอเงินเดือนขึ้นมาเป็น 4-5 หมื่น และไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าคนที่เงินเดือนมากเป็นหลักแสนอยู่แล้ว ก็ยังคิดแบบเดียวกัน
ผมเชื่อว่า ที่มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ใฝ่ฝันว่า “ถึงจุดหนึ่งอยากขยับขยายออกไปทำธุรกิจ” ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงขับเคลื่อนเดียวกัน คือคิดว่า “เดี๋ยวรายได้เพิ่มขึ้น การเงินเราก็ดีขึ้น”
สิ่งที่เป็น : รายจ่ายขยับตามรายได้เสมอ
แค่อ่านหัวข้อข้างบน บางท่านอาจพยักหน้าเห็นด้วยเลยทันที แต่บางท่าน (โดยเฉพาะท่านที่ยังเพิ่มเริ่มต้นชีวิต) อาจจะไม่เชื่อว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมยกตัวอย่างให้ดูแบบนี้ดีกว่าครับ
- ตอนเงินเดือน 1-2 หมื่นบาท อายุก็ยังน้อย ทำงานแรก
เราหวังว่ารายได้เพิ่มขึ้นอีกหน่อยการเงินก็จะคล่องขึ้น จะได้เริ่มเก็บเงินซักที เวลาผ่านไปพอเงินเดือนปรับขึ้นมาจริงๆ เป็น 2-3 หมื่น ก็ถึงเวลาที่เราอยาก “ถอยรถ” ออกมาใช้พอดี เงินเก็บที่พอจะมีบ้างก้อนนึง หลักแสนต้นๆ ก็ถูกนำไปดาวน์รถ ที่แย่กว่าคือรายได้ที่คิดว่าจะเหลือเก็บ ก็ต้องเอามาจ่ายค่างวดรถ เดือนนึงอย่างน้อยๆ ก็ 7-8 พันบาท ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา ประกันรถ และต่อทะเบียน ฯลฯ - ตอนเงินเดือน 3-5 หมื่นบาท เริ่มลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัว
ช่วงนี้ หลายๆ คนมีเปลี่ยนงานบ้าง เปลี่ยนดีๆ บางทีเงินเดือนก็ Up ขึ้นมาหลายพันหรือเป็นหมื่น เริ่มจะมีตำแหน่งงานที่สูงขึ้น พร้อมๆ กับอายุที่เข้าสู่เลข 3 ถึงวัยที่จะต้อง “แต่งงาน” เงินก้อนที่เริ่มเก็บใหม่หลังจากที่หมดไปตอนดาวน์รถ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อจัดงานแต่งงาน การตัดสินใจ “ซื้อบ้าน” ก็มักจะเกิดขึ้นช่วงนี้ด้วย ซึ่งรอบนี้โหดกว่ารถ เพราะค่างวดบ้านหนักกว่าค่างวดรถมาก เดือนนึงอาจจะต้องจ่ายกันหลักหมื่น หรือถ้าใครซื้อบ้านราคาเกิน 3 ล้านขึ้นไป ค่างวดก็จะทะลุ 2 หมื่นต่อเดือน! - พอเงินเดือนขึ้นเป็น 6-7 หมื่น เหมือนจะดี แต่ยังก่อน!
ช่วงนี้บางครอบครัวก็จะเริ่ม “มีลูก” มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกเพิ่มเข้ามา หนำซ้ำรถคันแรกที่ซื้อไว้นานแล้วก็เริ่มเก่า หรือไม่ก็เล็กเกินไป ไม่เหมาะกับใช้ในครอบครัว ก็ได้เวลาที่ต้อง “ซื้อรถใหม่” อีกคันหนึ่ง เงินเก็บก็หดไปอีก พร้อมๆ กับค่างวดที่นอกจากจะไม่หายไป แต่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม รอบนี้ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายค่าใช้จ่ายลูกคู่กันไป “ภาระภาษี” ก็เริ่มจะเข้ามามีอิทธิพลช่วงนี้แหละครับ เพราะรายได้สูงแล้ว - ตอนเงินเดือนขึ้นมาหลักแสน กะว่านี่ล่ะได้เวลาสบายเสียที
ช่วงนี้ก็ดันเป็นช่วงที่ตำแหน่งหน้าที่เริ่มสูงขึ้น เริ่มเป็นผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง “ภาษีสังคมต่างๆ” ก็มักจะตามมา ลูกน้องเยอะ ซองก็เยอะ พอตำแหน่งสูง บางท่านก็หลงไปกับ “แรงกดดันทางสังคม” บ้านช่องก็อยากอยู่ใหญ่ๆ รถคันเดียวก็เริ่มไม่พอใช้ เริ่มซื้อคันต่อไป รอบนี้มีเงินจ่ายค่างวดเยอะกว่าเดิม ก็ได้เวลาตามความฝัน รถแพงๆ ที่เคยฝันมานาน ก็สามารถซื้อได้ง่ายๆ ในช่วงนี้ล่ะ นอกจากนั้นงานก็เครียด ปีนึงๆ ก็ต้อง “ไปท่องเที่ยว” ไกลๆ ดีๆ ทริปละเป็นหลักแสน
นี่ยังไม่รวมว่าลูกเราจะเริ่มโตขึ้น เริ่มต้องศึกษาระดับสูง ป.ตรี – ป.โท ซึ่งค่าใช้จ่ายจะหนักขึ้นอีก ยังไม่รวมเหตุฉุกเฉิน การเจ็บป่วยต่างๆ แต่คงพอจะเห็นภาพแล้วใช่มั๊ยครับ ว่า “การหาเงินได้เพิ่มขึ้น ยังไม่ได้แปลว่าเราจะประสบความสำเร็จทางการเงิน” มันมีอย่างอื่นต้องจัดการด้วย
แล้วควรทำยังไง ?
คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการ “ศึกษาหาความรู้” หรอกครับ ที่สำคัญคือเราต้องศึกษาให้เป็น และต้องเข้าใจให้ถูกด้วยว่า การศึกษาหาความรู้ คือการพยายามทำความเข้าใจ “หลักการและวิธีคิด” เพื่อนำมา “ประยุกต์” ใช้กับสถานการณ์เฉพาะของตัวเอง “ไม่ใช่เป็นการไปขอคำตอบจากคนอื่น” เพราะเรื่องเงินมันซับซ้อนกว่าที่จะเล่าปัญหาให้คนอื่นฟังแค่ไม่กี่นาที แล้วหวังว่าเค้าจะให้คำตอบเปลี่ยนชีวิตมาให้กับเราได้… มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ เป็นที่พึ่งให้ตัวเองดีกว่า
ลิ้งค์ด้านล่างนี้ ผมแนะนำวีดีโอ และบทความต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดการกับเรื่องที่เขียนในบทความนี้ เผื่อให้ท่านที่ใฝ่รู้ ได้ “ลงทุนเวลา” ศึกษาเพิ่มเติมตามอัธยาศัยครับ
- วีดีโอบันทึกสัมมนาหลักสูตร Financial Foundation
วีดีโอ 8 ชั่วโมง ที่จะช่วยให้ท่านรู้และเข้าใจเรื่องเงินรอบด้าน ตั้งแต่การสร้างฐานะ การบริหารความเสี่ยง การต่อยอดเงินลงทุน พร้อมวิธีและเครื่องมือในการวางแผนที่เราสามารถวางแผนได้ด้วยตัวเอง - ผมอายุ 23 เพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงาน วางแผนการเงินยังไงดี ?
ตัวอย่างแนวคิดการวางแผนการเงิน สำหรับคนที่เพิ่มเริ่มต้นชีวิต - เส้นทางสร้างรายได้ของผม… จากโง่มาก ไปโง่น้อย ค่อยๆ ฉลาดขึ้น
ตัวอย่างแนวคิดการหารายได้ของผมเอง ว่าเราขยายศักยภาพตัวเองได้อย่างไร
- ผมลดรายจ่ายอย่างไร… จึงสร้างฐานะได้เร็ว
ตัวอย่างแนวคิดการดูแลรายจ่ายของผม ในช่วง 10 ปีเศษที่สร้างตัว
- ครั้งหนึ่งในชีวิต… อาจทำลายทั้งชีวิต (ข้อคิดจากงานแต่งของผม)
ตัวอย่างการตัดสินใจวางแผนแต่งงานของผมเอง เน้นคุณค่า ไม่สิ้นเปลือง
- เพิ่งเรียนจบ…ควรทำอะไรก่อนดี : ซื้อรถ vs เตรียมเงินเกษียณ
ทำไมเราจึงไม่ควรด่วนซื้อรถ หรือซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต - มูลค่าของเงินตามเวลา VS คุณค่าของมือถือรุ่นใหม่
เงินน้อยๆ ลงทุนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ช่วยสร้างความมั่นคงให้เราได้ยังไง