ผู้แนะนำการลงทุนในที่นี้คือ ใครก็ตามที่ช่วยลูกค้าดูแลพอร์ตการลงทุนอยู่
ไม่ว่าจะเป็น นักวางแผนการเงิน ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษาการลงทุน ฯลฯ

แต่ไม่ทำงานด้านนี้ก็อ่านได้นะครับ… ถ้าเราบริหารพอร์ตเอง ลูกค้าของเราก็คือ “ตัวเรา” นั่นล่ะ!


เมื่อ 13-14 พ.ค. 14 ที่ผ่านมาสมาคม CFA Toronto ประเทศแคนาดา ได้จัดงานสัมมนาชื่อ
2014 Annual Wealth Conference (Future of Finance – a Private Client Perspective) ขึ้น

มีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่ง Lauren Foster ในฐานะ Content Director ของ CFA Institute
ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth) และ การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance)
ได้พูดถึง 7 หลักการสำคัญที่ถ้าคนทำอาชีพดูแลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้า นำไปใช้
ก็จะช่วยให้ลูกค้าลงทุนได้สำเร็จมากขึ้น (และมีความสุขมากขึ้นด้วย… ในวงเล็บนี้ ผมเติมเองครับ)

ในที่นี้เรากำลังพูดถึงพอร์ตการลงทุนแบบ “จริงจัง” เน้นหวังผล “ระยะยาว
ซึ่งมักจะมีปัญหาคือ ลูกค้า (บางครั้งก็รวมถึงตัวที่ปรึกษาเองด้วย) อาจจะตัดสินใจโดยใช้อารมณ์
และเป็นการตัดสินใจที่มองสั้นๆ จนทำร้ายเป้าหมายระยะยาวของตัวเอง

ซึ่งผมจะขออนุญาตสรุปความ หลัก 7 ประการที่ Lauren แนะนำอย่างคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
และอาจมีเสริมความเห็นของผมเข้าไปด้วยตอนท้ายของบางข้อนะครับ


อ่านฉบับ Original เป็นภาษาอังกฤษได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างนี้ครับ
Designing Portfolios: Seven Key Investment Principles to Help Keep Clients on Track


1. ต้องรู้จัก “ตัวเลข” ที่จะทำให้ลงทุนได้อย่างสบายใจ


ตัวเลขในที่นี้คือ “ระยะเวลา” ที่เงินสดสำรองหรือสภาพคล่องที่เตรียมไว้
จะเพียงพอใช้จ่ายได้เมื่อการลงทุนมีปัญหา เช่นมีวิกฤติเศรษฐกิจ หรือมูลค่าพอร์ตปรับลดลงเร็วๆ ในระยะสั้น
เช่น ถ้ามีเงินสดสำรองไว้ 360,000 บาท แล้วใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท ก็จะสามารถอยู่ได้ 12 เดือน

การเตรียมเงินสดสำรองไว้ได้อย่างเพียงพอ และเราได้ “คุย” เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเตรียมเงินนี้กับลูกค้า
จะช่วยให้ลูกค้า “ตระหนัก” ได้ว่าตนนั้นมี “ภูมิคุ้มกัน” ที่เตรียมไว้แล้ว

เมื่อมีวิกฤติจริงๆ ลูกค้าก็จะไม่ Panic แตกตื่น หรือถ้ายังแตกตื่นอยู่
เราก็ยังสามารถ “Remind” ลูกค้าได้ ว่าเค้ายังมีเงินสดสำรองไว้อยู่ และถ้าจะอธิบายอะไรต่อ
ก็เชื่อว่าลูกค้าจะ “ใจเย็นลง” แล้ว “รับฟัง” เหตุและผลมากขึ้น…

เพราะเรากลัวที่สุดคือการลงทุนระยะยาวต้องล้มเลิกเอากลางคัน เพราะปัจจัยระยะสั้น!

เสริม

ผู้แนะนำการลงทุนต้องคุยกับลูกค้าด้วยนะครับ ถ้าไม่คุย เค้าอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองได้เตรียม “ชุดเกราะ” เอาไว้แล้วก็ได้
และแม้ตำราจะบอกว่าให้สำรองเงินไว้ 3-6 เดือน แต่ถ้าลูกค้าสบายใจที่จะสำรองไว้มากกว่านั้น…
เราก็วางตำราลงก่อนได้ครับ!


2. ต้องรู้และตระหนักใน “ระยะเวลาลงทุน” ที่ตั้งใจจะลงทุน

เพราะเมื่อตลาดมีปัญหา ลูกค้าอาจจะลืมไปเลย ว่าเงินนี้จะลงทุนอีกเป็น 10-20 ปี
ถ้าลูกค้าอยากทำอะไรแปลกๆ ที่เราเห็นว่าจะทำร้ายเป้าหมายระยะยาว เราอาจต้องถามกลับว่า

พอร์ตนี้ลงทุนเพื่ออะไร และเป้าหมายนั่นคือเมื่อไหร่ ?

ก็อาจจะเรียกสติลูกค้ากลับคืนมาได้… ซึ่ง Lauren ก็ยังเสริมว่า
ถ้าเงินนั้นอยู่ได้ไม่ยาว ก็ไม่ควรลงทุนในอะไรที่เสี่ยงสูงๆ ตั้งแต่แรก

เสริม

เมื่อลูกค้าใจเย็นแล้ว ผมอยากให้ใช้โอกาสนี้ Educate ลูกค้า ด้วยข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล
เพื่อพาลูกค้าเอาชนะ “ความกลัว” ด้วย “ความรู้” นะครับ!
สุดท้ายถ้าเรา Educate บ่อยๆ ต่อไปเค้าก็จะเข้าใจมากขึ้น เราเองก็จะต้องปวดหัวและเครียดน้อยลงด้วย


3. การบริหารพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เป็นอะไรที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเราจัดพอร์ตให้ลูกค้าแล้ว จะต้องมีการตรวจทานเป็นระยะ
คงไม่ใช่จัดพอร์ตแบ่ง Asset Allocation สำหรับระยะยาวครั้งเดียว แล้วละเลย ไม่ดูแลบ้างเลย
เพราะปัจจัยต่างๆ นั้นเปลี่ยนตลอด โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับ “ตัวลูกค้า
เช่น อายุมากขึ้น สถานะครอบครัวเปลี่ยนแปลง, มีความต้องการบางอย่างที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

เสริม

อย่างน้อยปัจจัยหนึ่งที่เปลี่ยนก็คือ “อายุลูกค้าที่มากขึ้น” ซึ่งสวนทางกับ “ระยะเวลาการลงทุนที่สั้นลง
เช่น พอร์ตที่จัดไว้ตั้งแต่ยังหนุ่ม อาจจะมีหุ้นเยอะมาก เมื่อลูกค้าอายุมากขึ้นใกล้เกษียณ
ก็ควรมีการปรับลดความเสี่ยงลง… เราคงไม่อยากเห็นกำไรที่สะสมมาตลอด 10-20 ปีที่ลงทุน
ต้องสูญหายไปเพราะพอร์ตดันมาขาดทุนเยอะๆ เอาปีท้ายๆ ใช่มั๊ยครับ

ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ในโพส Life Path Portfolio : จัดพอร์ตได้ทั้งการเติบโตและช่วยลดความเสี่ยง 


4. มุ่งไปที่การสร้างผลตอบแทนให้ผันผวนน้อย ผ่านการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

สมมติว่ามีพอร์ต 2 พอร์ตที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ 10% ต่อปี ได้ในระยะ 20 ปี
แต่พอร์ตนึงผลตอบแทนแกว่งมากๆ มีทั้งบวกเยอะๆ ลบเยอะๆ ระหว่างทาง กับอีกพอร์ตหนึ่งที่แกว่งน้อยกว่า

เราอาจจะพบว่า ลูกค้าพอร์ตที่หนึ่ง “เลิก” ลงทุนไปตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ที่พอร์ตแกว่งแล้ว เพราะทนไม่ไหว
ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ลูกค้าเลิกไป เพราะพอเลิกแล้ว ก็อีกนานครับ กว่าที่จะกล้ากลับมาลงทุนอีก

ดังนั้น นอกจากการสนใจที่ “ปลายทาง” แล้ว ต้องให้ความสำคัญกับความผันผวน “ระหว่างทาง” ด้วย
ซึ่งความผันผวนระหว่างทางนี้ เราสามารถลดได้ด้วยการกระจายการลงทุน (Diversification)

เสริม

อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และทำได้ยากด้วยนะครับ เพราะขึ้นชื่อว่าการกระจายความเสี่ยงแล้ว
ส่วนใหญ่มักจะไป “ลดกำไร” ในขาขึ้น เพราะแทนที่จะลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นไม่กี่ตัว ซึ่งพอขึ้นก็ขึ้นเยอะเลย
กลับต้องมาถือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อาจจะขึ้นน้อยกว่า หรือลงสวนทาง ไป “ถ่วง” พอร์ตเอาไว้ซะงั้น

แต่ก็อย่าลืมว่า… การทำแบบนี้ก็จะช่วย “ลดขาดทุน” ในขาลงด้วย แต่ก็ยังอาจจะขาดทุนอยู่ดีนะครับ

พอผลลัพธ์ระยะสั้นเป็นแบบนี้ ลูกค้าก็อาจจะบ่นๆ ได้ว่า ทำไมตอนขึ้น ขึ้นไม่เท่าคนอื่น…
แต่พอขาลง ก็ขาดทุนเหมือนๆ ชาวบ้าน (แม้จะขาดทุนน้อยกว่า แต่ขาดทุนก็คือขาดทุนนะครับ)

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมนั้น ทางแก้ก็คือต้องตั้งเกณฑ์เปรียบเทียบ (Benchmark) ให้เหมาะสม
ว่าพอร์ตเราจะวัดผลกับอะไร แล้วต้องคุยกัน Educate กันให้เข้าใจตั้งแต่แรกด้วย
ไม่ใช่ว่าจัด Asset Allocation ของพอร์ต เป็นหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40%
แล้วพอปีหุ้นขาขึ้นลูกค้าก็บอก ทำไมพอร์ตขึ้นไม่เท่าตลาดหุ้น (ก็แน่ละ… เราถือหุ้นแค่ 60% เอง)
แต่พอปีหุ้นขาลงลูกค้าก็บ่นว่าได้ผลตอบแทนน้อยกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ซะอีก T-T


5. สื่อสารความเสี่ยงให้เคลียร์ และสื่อในภาษาของลูกค้า

ความเสี่ยงที่นิยมพูดกันคือค่า ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (S.D.) ซึ่งเป็นค่าวัดทางสถิติ
จะมีลูกค้าซักกี่คนที่เข้าใจ (ตัวผู้แนะนำบางคนยังไม่เข้าใจเลย)

ดังนั้น เมื่ออธิบายในสิ่งที่เค้าไม่เข้าใจตั้งแต่แรก พอเกิดความเสียหายขึ้นมาจริงๆ ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่
กลายเป็นว่า “ทำไมเค้าไม่เคยรู้มาก่อน ว่ามันเสียหายได้ขนาดนี้

ดังนั้น ลองเปลี่ยนมาใช้ตัวชี้วัดความเสี่ยงแบบที่ลูกค้าเข้าใจ เช่น
โอกาสที่จะขาดทุน (กี่ครั้งต่อ 100 ครั้ง), ความเสียหายสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น (ขาดทุนสูงสุดได้เท่าไรสำหรับการถือ X ปี)
ก็จะช่วยทำให้ลูกค้า “Get” มากขึ้น โอกาสที่จะอดทนได้เมื่อความเสี่ยงมาจริงๆ ก็จะสูงขึ้นด้วย

เสริม

ผมพบว่ามืออาชีพด้านการลงทุนบ้านเรา ไม่ค่อยมองในมุมลูกค้า คือไม่ปรับเข้าหา…
แต่กลับจะให้ลูกค้าปรับเข้าหาตัวเอง เรามักใช้ศัพท์ ใช้คำพูดที่คนทั่วไปเข้าใจยาก
ซึ่งพอไม่เข้าใจ ลูกค้าก็มักจะพยักหน้าเออๆ ออๆ ไปอย่างนั้น…

ผลก็คือ เราก็นึกว่าเค้าเข้าใจ ก็ยิ่งเอาไปพูดกับลูกค้าคนอื่นๆ อีก แล้วพอมีปัญหาก็ต้องมาเครียดตามแก้ไขกัน
ที่แย่ไม่ใช่แค่เราเครียด แต่เป้าหมายหรือความฝันของลูกค้า ก็อาจจะพลอยไม่สำเร็จไปด้วย


6. ต้องให้วินัยและกระบวนการที่มีเหตุมีผล อยู่เหนืออารมณ์ให้ได้

กระบวนการหนึ่งที่คนที่จัดพอร์ตลงทุนควรทำก็คือการ Rebalance พอร์ต
โดยเมื่อพอร์ตมีการ “เบ้” ไปในทางใดทางหนึ่งมากเกินไป เช่น เดิมตั้งใจลงทุนหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40%
แต่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ ทำให้เงินลงทุนในส่วนของหุ้นโตเร็วมาก… สัดส่วนจึงเพี้ยนไปเป็น หุ้น 75% ตราสารหนี้ 25%

กระบวนการที่ยอมรับกันว่าเป็นการ “ควบคุม” ความเสี่ยง และเป็นการ “รักษาวินัย” ของพอร์ตก็คือการ
ปรับพอร์ตกลับมาที่ระดับที่ตั้งใจไว้ ในที่นี้ก็คือต้องขายหุ้นออกส่วนนึง แล้วมาซื้อตราสารหนี้เพิ่ม

แต่ถ้าทำแบบนี้ ลูกค้าก็อาจจะไม่ยอม เพราะตลาดกำลังขึ้นอยู่ ถ้าขายก็เท่ากับ “เสียโอกาส” น่ะสิ “โง่รึเปล่า”

เราเองก็อาจต้องอธิบายว่า ถ้าไม่ขาย ก็เท่ากับเรายอม “เปิดรับความเสี่ยงเพิ่ม” มากกว่าที่ตั้งใจไว้
ซึ่งถ้าตลาดพลิกกลับเป็นขาลง พอร์ตก็จะขาดทุนได้มากกว่าปกติ เพราะดันอยู่ในสถานะ Overweight สินทรัพย์ที่ปรับลง

เสริม

การ “ตามใจ” ลูกค้านั้นง่ายครับ แล้วก็ทำให้ลูกค้าพอใจด้วย แต่อาจจะไม่ได้แสดงว่าเราเป็น “มืออาชีพ” มากพอ
เพราะหน้าที่เราคือต้อง Balance ให้ระยะสั้นเค้าพอใจระดับนึง โดยที่เป้าระยะยาวต้องไม่เสียหาย
ดังนั้น งานสำคัญมากของผู้แนะนำการลงทุนคือ “การให้ความรู้ความเข้าใจ” กับลูกค้า ไม่ใช่แค่ทำตามสั่ง!

แต่เราก็ต้องรู้ “สิทธิ์” และ “หน้าที่” ของเรา คือเรามีสิทธิ์ที่จะเสนอ ที่จะไม่เห็นด้วย ที่จะห้าม…
แต่ถ้าสุดท้ายลูกค้ายืนยันแบบไหน เราก็มี “หน้าที่” ต้องทำตามนั้น… แต่เราต้องใช้สิทธิ์ให้เต็มที่ก่อนครับ!


7. ขยายขอบเขตการลงทุนออกไปให้กว้างขึ้น

Home-country Bias หรือแนวโน้มที่เรามักจะลงทุนแต่ในประเทศของเรานั้นเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก
การที่เราไม่ขยายขอบเขตการลงทุนออกไปบ้างเลย อาจจะทำให้เราเสียโอกาสได้ผลตอบแทนดีๆ
หรือเสียโอกาสในการได้กระจายความเสี่ยงที่หลากหลายไปก็เป็นไป

เสริม

เนื่องจาก Lauren พูดให้นักลงทุนใน North America ฟัง ดังนั้นเธอจึงเน้นเรื่องนี้
เพราะถ้าไม่นับปี 2013 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงมาก ปีก่อนๆ หน้านั้น ก็ถือว่าแพ้ตลาดหุ้นอื่นๆ
โดยเฉพาะตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) และแน่นอนว่าแพ้หุ้นไทย!

แต่สำหรับคนไทยแล้ว การมี Home Bias ในช่วงที่ผ่านมา กลับทำให้เราโชคดี
เพราะตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งแต่หลังปี 2008 เป็นต้นมา

มองไปในอนาคตข้างหน้า การเน้นลงทุนแต่ในไทยจะยังดีอยู่มั๊ย ? คงไม่มีใครตอบได้แบบฟันธง
ตรงนี้คงต้องขึ้นกับมุมมองของแต่ละท่าน แต่พอร์ตการลงทุนของสถาบันใหญ่ๆ เช่น กบข.
ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้างแล้วครับ


สรุป

7 หลักการนี้เป็นหลักการที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่มืออาชีพด้านนี้ต้องเข้าใจครับ
การอธิบายผ่านตัวหนังสือสั้นๆ ก็อาจจะสื่อความหมายได้ไม่สมบูรณ์นัก
ซึ่งถ้ามีโอกาส ผมจะได้เอาเรื่องต่างๆ ข้างต้นมาขยายความให้ศึกษากันแบบละเอียดต่อไป

ขอทิ้งท้ายตรงนี้ว่า… อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญมากนะครับ
เป็นอาชีพที่สามารถจะ “เปลี่ยนชีวิต” คนได้ สามารถจะสร้าง “ฝันที่เป็นจริง” ให้ลูกค้าได้
ดังนั้น เราเองต้องไม่หยุดเรียนรู้… แล้วเราจะภูมิใจครับ เวลาที่เห็นลูกค้าประสบความสำเร็จ
แล้วเค้าเดินมาจับมือ บอกเราว่า

ขอบคุณจริงๆ… ถ้าไม่มีคุณ ผมคงมาไม่ได้ถึงขนาดนี้!

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here