ถ้ามีเงินนอนอยู่ก้อนหนึ่งเราจะจัดพอร์ตการลงทุนยังไงครับ
ซื้อกองทุนทุกประเภท (ตลาดเงิน,ตราสารหนี้,หุ้น,.) เลยหรือเปล่า…
หรือซื้อแต่หุ้นทั้งหมดเลย แล้วซื้อหลาย ๆ กอง ช่วยแนะนำด้วยครับ
คำตอบ
เห็นคำถามนี้ครั้งแรก ผมแทบจะ “ปาดเหงื่อ” เลยครับ
เพราะเป็นคำถามที่สั้น… แต่ตอบได้ยาก และสามารถตอบได้กว้างออกทะเลไปไหนก็ได้
อาจจะเขียน Text Book เล่มหนาๆ ได้เลยทีเดียว
เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็น Q&A ผมจะขอตีกรอบ ตอบแบบแคบๆ ดังนี้ครับ
การจะจัดพอร์ตแบ่งเงินยังไงนั้น…
ย่อมขึ้นอยู่กับ “เป้าหมาย” ของเรา ซึ่งไม่ได้มีแค่ เป้าหมายเดียวครับ
เราต้องถามตัวเองก่อน ว่าเงินแต่ละก้อน เงินแต่ละส่วน เราจะลงทุนไปเพื่อ “วัตถุประสงค์” อะไรกันแน่
แนวทางอย่างง่ายๆ คือ แยกจัดเงินเป็นส่วนๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และระยะเวลาที่ลงทุนได้
ผมยกตัวอย่าง เอาเป้าหมายทั่วๆ ไปที่ทุกคนน่าจะอยากทำให้สำเร็จกัน ดังนี้ครับ
1. บริหารเงินหมุนเวียน/สภาพคล่อง ให้เงินไม่ขาดมือ ได้ดอกผลดีสูสีเงินเฟ้อ และ มีความปลอดภัย
เงินก้อนนี้เป็นเงินลงทุนระยะสั้นๆ กำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้
แต่ก็น่าจะหมุนเวียนให้พอใช้อยู่ในระยะซัก 1 ปี
เช่น ถ้าเราใช้เดือนละ 20,000 บาท เราก็อาจแบ่งเงินซัก 20,000 x 12 = 240,000 บาท
ไปจัดพอร์ตเพื่อสภาพคล่อง ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ก็จะเป็นพวกกองทุนรวมตลาดเงิน
กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และ กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นหลัก
อยากให้ลองศึกษาเพิ่มเติมที่ Series นี้ครับ
Series 3 : การบริหารเงินสดและสภาพคล่อง
http://www.a-academy.net/personal-finance/s03-liquidity-mgmt/
2. ลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า
เช่น เงินดาวน์บ้าน ดาวน์รถ เงินเตรียมแต่งงาน เป็นต้น
เป้าหมายที่ 2 นี้ เริ่มมีระยะเวลาการลงทุนยาวขึ้น ความเสี่ยงที่รับได้ก็จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
การลงทุนด้วยเวลาขนาดนี้ ก็จะพอเริ่มหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อได้พอสมควร
เช่น ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5-6% ต่อปี ก็พอจะเป็นไปได้
แต่ย้ำว่าเป็น “ค่าเฉลี่ย” นะครับ หมายความว่า บางปีอาจจะได้ไม่ถึง หรือติดลบนิดหน่อยก็ได้
แต่ถ้าถือครบ 2-3 ปี โดยเฉลี่ยในอดีต มันก็พอไปไหวครับ…
ขึ้นชื่อว่าเป็น “การลงทุน” นั้น มันการันตีไม่ได้ มันมีความไม่แน่นอนปนๆ มาบ้าง
ดีที่สุด ก็ได้แต่ศึกษาจากพฤติกรรมในอดีตเป็นหลัก
กองทุนที่เหมาะกับการลงทุนแบบนี้ มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่
1) กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ (FIF ตราสารหนี้)
เช่นพวก Global Bond Fund สามารถศึกษาเพิ่มได้จาก 2 บทเรียนนี้ครับ
ตอนที่ 1 FIF ตราสารหนี้คืออะไร ?
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/12-fif-fi/
ตอนที่ 2 มีวิธีเลือกกองทุน FIF ตราสารหนี้อย่างไร ?
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/13-fif-fi-selection/
และ/หรือ
2) กองทุนผสม (Balanced Fund)
ให้เน้นดูกองผสมที่มีหุ้นไม่มาก สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตการลงทุนไม่ควรเกิน 20-30%
ศึกษาเพิ่มเติมได้จากอีก 2 บทเรียนนี้ครับ
ตอนที่ 1 กองทุนผสมคืออะไร ?
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/18-balanced/
ตอนที่ 2 มีวิธีเลือกกองทุนผสมอย่างไร ?
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/19-balanced-selection/
3. ลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะประมาณ 4-7 ปีข้างหน้า
เช่น เงินค่าเล่าเรียนลูก เงินเตรียมไว้เปิดธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
เงินก้อนนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับเป้าหมายที่ 2 แต่ระยะเวลายาวขึ้นอีก
แทนที่จะหวังผลตอบแทนเพียง 5-6% ต่อปี ก็อาจขยับขึ้นมาได้ถึง 7-8%
เป้าหมายลักษณะนี้กองทุนผสม ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ครับ
แต่ต้องเลือกกองผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นในพอร์ตสูงขึ้น เช่น 50-60% ไม่เกินกว่านี้มากเพราะไม่งั้นก็จะเสี่ยงเกินไป
ลงทุนแบบนี้เริ่มมีความเสี่ยงมาปนเยอะขึ้น หากดูผลตอบแทนระยะสั้นๆ รายเดือน รายปี
พอร์ตอาจผันผวนมาก การติดลบขาดทุนถือเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องทำความเข้าใจตัวเองดีๆ ครับ
ว่าเราลงทุนเป็นระยะเวลาเท่าไร
ลองศึกษาในวิดีโอตอนกองทุนผสม ผมชี้ให้ดูอยู่ครับว่าในปีแย่ๆ มันขาดทุนได้ประมาณไหน
ควรทำใจไว้ตั้งแต่แรกว่า “เดี๋ยวเราเจอแน่” แต่ถ้าถือได้ในระยะ 4-7 ปี ก็พอจะหวังผลตอบแทนดีๆ ข้างต้นได้ครับ
4. ลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
เงินส่วนนี้ก็แล้วแต่คนแต่ละคนแล้วครับ ว่าจะไปต่อ หรือจะหยุดไว้แค่กองทุนผสม
คำว่าไปต่อในที่นี้คือ ขยับไปลงทุน “กองทุนหุ้น” ซึ่งเสี่ยงมากขึ้นอีก แต่ก็หวังได้มากขึ้นด้วย
ถ้าจะไปต่อ ผมคิดว่าควรจะทำความรู้จักกับหุ้นให้ถ่องแท้ก่อน ด้วยการศึกษา Series นี้ครับ
Series 7 : สินทรัพย์เพื่อการลงทุน
http://www.a-academy.net/personal-finance/s07-investment-assets/
เปิดดูแต่ตอนที่เกี่ยวกับหุ้นก็ได้ คือตอนที่ 5 – 9
จากนั้น ก็มาศึกษาเรื่องกองทุนหุ้นต่ออีก 4 ตอน ได้แก่
1) กองทุนหุ้นเลียนแบบดัชนี :
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/14-eq-index/
2) วิธีเลือกกองทุนหุ้นเลียนแบบดัชนี :
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/15-eq-index-selection/
3) กองทุนหุ้นเน้นเอาชนะดัชนี :
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/16-eq-active/
4) วิธีเลือกกองทุนหุ้นที่เน้นเอาชนะดัชนี
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/17-eq-active-selection/
ต้องให้เรียนเยอะนิดนึงนะครับ… แต่ถ้าเราเข้าใจ การจะหวังผลตอบแทนระดับ 8-12% ต่อปี ก็พอหวังได้
จริงๆ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายๆ เป้าหมาย เช่น มีเงินก้อนอยากจะเอาไปลงทุนเพื่อเก็บกินรายได้
ก็อาจเลือกพวกกองตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมผสมประเภทที่เน้น Income
แต่ผมต้องขอหยุดไว้ก่อนเพียงเท่านี้ เพราะจะเป็น Q&A ที่ยาวจนเกินไป
หวังว่าจะพอช่วยให้เห็นภาพได้มากขึ้น ว่าจะจัดพอร์ตแบ่งเงินมาลงทุนยังไง ใช้กองทุนไหนนะครับ
[hr style=”2″ margin=”30px 0px 30px 0px”]