ยึดติดต้นทุน ??
เมื่อคืนได้คุยกับเพื่อนนักลงทุนท่านหนึ่ง คิดว่าน่าสนใจดี และคงมีหลายๆ ท่านเป็นแบบนี้เยอะ เลยขอนำมาแชร์ให้อ่านกัน (ปรับแก้ข้อความเล็กน้อยครับ)
เพื่อนนักลงทุน :
คุณเอครับ ผมปรึกษานิดนึง ถ้า Port ที่เราจัดไว้ โดยดูพื้นฐานดีแล้ว มีปันผลทุกตัวทุกปี (แต่อาจจะซื้อแพงไปบ้าง) แล้วทำให้พอร์ตลดลงถึง 27% แต่พอร์ตยังจ่าย Dividend ประมาณ 3% (ตามที่ตั้งใจ)
แบบนี้ควรแก้ไขอะไรไหมคับ ? หรือว่าควรอยู่เฉยๆ
หุ้นในพอร์ตบางตัวเป็นพวกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันลง แต่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว (แต่ Earnings ในบริษัทก็ลดนะคับ และลดทั้งอุตสาหกรรมด้วย)
อยากทราบมุมมองของคุณเอนะคับ ว่ามองยังไง? ขอบคุณล่วงหน้าคับ
ผม :
ลงทุนเพื่อปันผลเป็นหลักเลยรึเปล่าครับ ?
ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าควรหาหุ้นที่มีแหล่งที่มาของรายได้ และกำไรที่สม่ำเสมอนะครับ อย่างหุ้นที่ว่า Earnings ลดลง เดี๋ยวก็กระทบกับยอดเงินปันผลได้ (เพราะเงินปันผล จ่ายออกจากกำไรของกิจการ)
ความเห็นผมคือ ไม่ยึดติดกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง มองไปข้างหน้า ไม่ยึดติดต้นทุน หากตัวใดยังน่าถือก็ถือ ตัวใดไม่น่าถือก็เปลี่ยนเลยครับ
เพื่อนนักลงทุน :
พอร์ตที่ลดลง ผมมองพลาดไปซื้อตัวที่ PE สูงมาก เพราะคิดว่าจะเติบโตสูงครับ ก็เลยฉุดพอร์ตลงมา ครั้นจะ Cut ก็ติดลบมากกว่า 30% ตอนนี้เลยไม่ได้คัทครับ คิดๆ อยู่ครับ
ผม :
ลองไตร่ตรองดีๆ ครับ หากยังยึดติดต้นทุนอยู่ อาจมองข้ามอะไรหลายๆ อย่างไปได้
เพื่อนนักลงทุน : ไม่เข้าใจนิดนึงครับ… (นิ่งไปประมาณ 2 วิ)
อ้อ… เข้าใจแล้วครับ!
ต้องมองที่มูลค่า ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันกระทบกับ Valuation เราไหม ? ถ้ากระทบ และไม่เป็นไปตามที่คิด ตามระยะเวลาที่เรามอง ขาดทุน บางครั้งก็ต้องยอม ?
ผม : จะมองแบบนั้นก็ได้ครับ ผมลองอธิบายเป็นตัวเลขเพิ่มเติมนะครับ
สมมติทุน 100 ตอนนี้เหลือ 70 (ขาดทุน 30) หากอยู่ในตัวเดิม แล้วพื้นฐานมันไม่ดี ถือไปอีก 1 ปี อาจขึ้นมาเป็น 80 แต่หากเปลี่ยนตัวใหม่ ที่ดีกว่า จาก 70 อาจขึ้นไปมากกว่า 80 ได้ เช่นอาจขึ้นไปเป็น 100 เป็น 150 หรือราคาอื่นๆ ซึ่งดีกว่าการยึดติดอยู่กับหุ้นเดิม ที่ปัจจัยพื้นฐานมันอาจจะแย่ลงมาก
คือ เราต้องมอง “เชิงเปรียบเทียบ” กับทางเลือกอื่นด้วย โดยมองไปข้างหน้าเป็นหลัก อย่าไปยึดต้นทุนมาก
จิตวิทยาการลงทุนของคนทั่วไปนั้น มักจะ “ทนถือตัวที่ขาดทุนเยอะไว้ แล้วรอว่ามันจะดีขึ้น” ซ้ำร้าย บางทีก็ยัง “ขายตัวที่กำไร (ซึ่งอาจจะดีกว่า) มาถัวตัวที่แย่ด้วย”
เพื่อนนักลงทุน : เข้าใจครับ แต่ตอนนี้ผมยังหาตัวใหม่ไม่ได้
ผม : งั้น ลองหาดูก่อนนะครับ 🙂
ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดและตัดสินใจยังไง ?
ภาวะแบบนี้ในทางการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) เกิดจาก 3 ปรากฎการณ์ใหญ่ๆ คือ
- Anchoring การยึดติดกับบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล
- Regret Avoidance การเลี่ยงความเสียใจ
- Loss Aversion การสูญเสียเหตุผล เนื่องจากเกิดความสูญเสียหนักๆ (คือถ้าขาดทุนน้อยกว่านี้ จะตัดสินใจง่ายกว่านี้เยอะครับ)
ท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติม ลองนำ Keyword 3 ข้อข้างบนไปค้นคว้าดูนะครับ
ภาวะนี้ถ้าเกิดนานๆ เข้า แล้วหุ้นที่ติดอยู่ ไม่ดีขึ้นเสียที เราจะเริ่มละเลยหุ้นนั้นไป และเริ่มคิดว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” ทำไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าพอร์ตเราสะสมแต่หุ้นที่ขาดทุนไว้ ซึ่งมันอาจจะแย่ก็ได้
หุ้นที่ดีคือหุ้นที่ซื้อแล้วจะขึ้น ไม่ใช่หุ้นที่ตกลงมามาก จริงมั๊ยครับ ?