ลงทุนกองทุนบัวแก้ว (BKA) เดือนละ 3,000
และ กองทุน SCB S&P500 เดือนละ 2,000
ลงทุนทุกเดือน เป็นเวลา 10 ปี
ไม่ทราบว่าจะมีผลตอบแทนดีไหมครับ และเงินจะงอกมาเป็นดอกที่เท่าไรครับ ?
คำตอบ
การประมาณการผลตอบแทนไปข้างหน้านี้
จะเขียนให้ดูดีมีหลักการก็ทำได้ แต่มันก็เหมือน “นั่งเทียน” เหมือนกันนะครับ
เพราะไม่รู้ว่ามันจะเกิดจริงมั๊ย
เอาเป็นว่า เรามาลอง “ประมาณการ” แบบคร่าวๆ ไปด้วยกันนะครับ
ใครก็ได้… ช่วยเตรียมเทียนพรรษาเล่มใหญ่ๆ ให้ที แล้วเชิญมานั่งล้อมเทียนกัน… อิอิ
ขั้นที่ 1 ประมาณผลตอบแทนระดับสินทรัพย์
บัวแก้ว (BKA) ลงทุนในสินทรัพย์คือ หุ้นไทย
SCB S&P500 ลงทุนในสินทรัพย์คือ หุ้นใหญ่สหรัฐฯ
หากดูผลตอบแทนในอดีตของสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้
หุ้นไทยให้ผลตอบแทนระยะยาวประมาณ 12%
หุ้นใหญ่สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนระยะยาวประมาณ 10%
อ้างอิง
http://www.a-academy.net/blog/power-of-stock-86years/
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/08-stock-for-the-long-run/
นั่นคือ Fact ในอดีต ซึ่งอาจเกิดซ้ำหรือไม่ก็ได้
สำหรับการคาดการณ์อนาคตนั้น ผมขอชวนให้เพิ่ม “เทียน” เข้าไปสักหน่อย
ผมขอ “เดา” ว่าทั้งสองสินทรัพย์ น่าจะให้ผลตอบแทนน้อยลงบ้าง
จึงขอ “เดา” ว่า หุ้นไทยน่าจะได้สัก 10-12%
และ หุ้นใหญ่สหรัฐฯ น่าจะได้สัก 8-10% ก็แล้วกันนะครับ
ขั้นที่ 2 ประมาณผลตอบแทนระดับกองทุน
เอากองที่ง่ายก่อน ก็คือ SCB S&P500 นะครับ
ที่ว่าง่าย ก็เพราะกองนี้เป็น Index Fund
หมายความว่า ถ้าสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนเท่าใด กองทุนก็จะให้ผลตอบแทนใกล้ๆ กัน
ในที่นี้ขออนุญาต “เดา” ว่า SCB S&P500
ก็น่าจะให้ผลตอบแทนได้พอๆ กับหุ้นใหญ่สหรัฐฯ ที่เราประมาณไว้ในขั้นที่ 1 นั่นคือ 8-10% ต่อปี
ส่วนบัวแก้ว (BKA) นั้น เป็น Active Fund คือมุ่งสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนี
นั่นคือถ้าเราประมาณการว่าสินทรัพย์คือหุ้นไทย น่าจะได้ผลตอบแทน 10-12% ต่อปี
ก็ต้องมา “เดา” ในขั้นที่สอง ว่ากองทุนนี้จะชนะดัชนีสักเท่าไร (หรืออาจจะแพ้ก็ได้)
ผมขอเริ่ม “ตั้งเทียน” จาก Fact ในอดีตอีกเช่นกัน
เริ่มจากเปิดเว็บ Morninstar หาผลตอบแทนย้อนหลัง ระยะ 10 ปีที่ผ่านมาของ BKA ได้ประมาณ 16%
ขณะที่ผลตอบแทนของ Index Fund ได้ประมาณ 13.5% (ข้อมูล ณ 7 พ.ย. 57)
นั่นคือ BKA มีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี หรือศัพท์เทคนิคเราเรียกว่า มี Alpha ประมาณ 16% – 13.5% = 2.5% ต่อปี
นั่นคือสิ่งที่เกิดในอดีต
ถ้าจะคาดการณ์อนาคต ก็ต้อง “เดา” กันต่อไป
ในที่นี่ผมขอเดาว่า การจะชนะดัชนีได้ 2.5% ต่อปี แบบมองไปข้างหน้า น่าจะทำได้ยากกว่าเมื่อก่อน
เพราะ 10 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นไทยยังไม่พัฒนา ยังมีนักลงทุนน้อย ยิ่งคนที่มีความรู้ เทคนิคแพรวพราวก็น้อย
การเอาชนะตลาดจึงน่าจะทำได้ง่ายกว่ายุคนี้
แต่ 10 ปีที่กำลังจะมาถึง ผมว่ามันจะยากกว่าเดิมเยอะ
ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบันเยอะขึ้น แต่รายย่อยก็เก่งขึ้นมาก ศึกษาหาความรู้กันเยอะมาก
ดังนั้น ขอใช้สิทธิ์ “เดา” ว่า น่าจะทำได้ดีกว่าดัชนีสัก 1.5% ก็เก่งแล้ว
นั่นคือ จากตัวเลขที่ผมเห็นใน “เทียนพรรษา” ที่นั่งจ้องอยู่
ผมคิดว่า BKA น่าจะได้ผลตอบแทนในอนาคตข้างหน้าสัก 11.5 – 13.5% ครับ
ตัวเลขนี้มาจากการเอาผลตอบแทนของหุ้นไทยที่ประมาณเอาไว้
ที่ 10-12% ต่อปี มาบวกค่า Alpha = 1.5% เข้าไปครับ
ขั้นที่ 3 ประมาณการเติบโต + ผลกำไรของเงินลงทุน
เราจะใช้ความรู้และ Excel จากบทเรียนตอนนี้
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/05-planning-regular/
ในการประมาณการเติบโตและผลกำไร อยากให้ลองศึกษาดู และโหลดไฟล์มาลองทำตามดูด้วยครับ
สำหรับบัวแก้ว (BKA)
ลงทุน เดือนละ 3,000 เป็นเวลา 10 ปี
ต้นทุนรวม = 3,000 x 12 x 10 = 360,000 บาท
- ถ้าได้ผลตอบแทน 11.5%
เงินจะโตเป็น 654,454 บาท
หรือคิดเป็นกำไร 294,454 บาท (เติบโตขึ้น +82%)
[gap height=”1″] - ถ้าได้ผลตอบแทน 13.5%
เงินจะโตเป็น 728,133 บาท
หรือคิดเป็นกำไร 368,133 บาท (เติบโตขึ้น +102%)
สำหรับ SCB S&P500
ลงทุน เดือนละ 2,000 เป็นเวลา 10 ปี
ต้นทุนรวม = 2,000 x 12 x 10 = 240,000 บาท
- ถ้าได้ผลตอบแทน 8%
เงินจะโตเป็น 362,566 บาท
หรือคิดเป็นกำไร 122,566 บาท (เติบโตขึ้น +51%)
[gap height=”1″] - ถ้าได้ผลตอบแทน 10%
เงินจะโตเป็น 402,915 บาท
หรือคิดเป็นกำไร 162,915 บาท (เติบโตขึ้น +68%)
คำเตือน
- เป็นเพียงการประมาณการ หรือการคาด “เดา” รูปแบบหนึ่งเท่านั้น
- อาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เช่น ได้จริงน้อยกว่ามาก หรือถึงขั้นขาดทุน
- แต่ละคน จะเดาได้คนละค่ากัน
- อย่าเทียบแต่ผลตอบแทน เพราะความเสี่ยงระหว่างทางอาจต่างกัน
- ทำเสร็จ… อย่าลืมดับเทียน เพราะไฟอาจไหม้ได้ !
ปันผลของ bka หมายถึงจากหุ้นให้กองทุน หรือกองทุนให้ผู้ถือหน่วยครับ
bka มันไม่ปันผลนี่ครับ
ผมผิดเองครับ จำผิดว่าจ่ายเงินปันผล
จริงๆ แล้วกองนี้ไม่ได้จ่าย แต่จะมีอีกกองที่จ่าย
ที่เขียนตั้งใจจะหมายถึงปันผลของกองทุนที่จ่ายออกมา
ต้องนำไป re-invest
เดี๋ยวจะขอ edit แก้ไขให้ถูกต้องนะครับ
ขอบคุณมากครับ