ผมอ่านโพสนี้ จากคุณหมอท่านนี้ แล้วมีเสียงขานรับอยู่ในใจว่า “จริง!”
เลื่อนลงไปอ่าน Comment ก็พบว่ามีหลายๆ คนยังไม่เชื่อ
บางคนไม่คิดว่ามันโหดร้ายแบบนี้ บางคนโทษระบบ บางคนโทษว่าหมอเห็นแก่เงินไม่มีจรรยาบรรณ…
แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงที่คุณหมอท่านนี้เขียนไว้ตอนท้ายว่า
คุณได้วางแผนหรือกำลังลงมือทำอะไรบางอย่างให้แน่ใจว่าจะมีพอแล้วหรือยัง ?
เพราะการเรียกร้องต่างๆ เป็นการเรียกร้องเอาจากสิ่งภายนอก เราไม่มีอำนาจไปควบคุมเลย
สำคัญคือสิ่งที่เรามีอำนาจควบคุม เราทำหรือยังต่างหาก!
ผมมีคุณพ่อที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวหลายโรค
ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ร้ายแรง เรื้อรัง มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายๆ และ บ่อยๆ
ท่านจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ผมจะขอเล่าเป็น Case Study เคสนึง
เพื่อให้ท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “การเตรียมพร้อม”
พ่อไม่มีประกันสุขภาพที่มากพอ
ตอนสุขภาพดีก็มีทำไว้เพราะเกรงใจตัวแทนประกัน… แต่ก็ทำไว้น้อยมากแค่ตัดรำคาญเท่านั้น
พอป่วยแล้วอยากทำก็ทำไม่ได้ เอาเงินไปกองเท่าไหร่เค้าก็ไม่รับประกัน
ครอบครัวผมโชคดีที่ “มีปัญญา” จ่ายให้โรงพยาบาลเอกชนดีๆ
ก่อนพ่อจากไป ทุกๆ ปีเราต้องจ่ายเงิน 6-7 หลัก กระทบฐานะทางบ้านมาก
รายได้จากธุรกิจ วิ่งเข้าสู่โรงพยาบาลแทบทั้งหมด หนี้สินก็เพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เราทำธุรกิจไปได้ดี…
มันเหมือนเป็นการ “ซื้อสุขภาพ” จริงๆ
โรงพยาบาลเอกชนที่เราใช้ประจำ ดูแลเราดีมาก
ครอบครัวอุ่นใจ พ่ออุ่นใจ ที่ได้มารับการรักษาที่นี่
แต่ก็มีหลายครั้งที่พ่อติดเชื้อหนัก… เดินทางไม่ได้
ถ้าเดินทางเท่ากับตาย!
เราจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังที่เราเชื่อว่าดีที่สุดใน ตจว.
ไปแต่ละครั้ง ถ้าใช้กระบวนการปกติ พ่อคงตายไปหลายรอบแล้ว
“เส้นสาย” เป็นอะไรที่สำคัญมากในการจองห้อง… มันก็ต้องหา เพราะเราต้องใช้ห้องดีๆ เพราะพ่อติดเชื้อง่ายมาก
น้องชายผม ต้องไปกราบคุณหมอที่เชี่ยวชาญที่สุดที่หาได้ถึงบ้าน
เพื่อขอให้มาเป็นแพทย์เจ้าของไข้ ดูแลคุณพ่อ
แพทย์ท่านนั้นมาถึง ต้องมาเจอการเมืองข้างใน เหมือนไปข้ามหัวใครมารักษา
ต้องมีเจ้าหน้าที่คนนั้นคนนี้ มากระซิบไซโคเราว่า “คุณหมอท่านนี้บ้าไปแล้ว”
ครั้งนั้นหนักที่สุด… แต่พ่อก็รอดมาได้
ในห้อง ICU โรงพยาบาลแห่งนั้น เหมือนกับสวรรค์ ใหม่ สะอาด บริการดี
ถ้าเทียบกับเมื่อได้ออกมาห้องปกติ ซึ่งเป็นห้องรวม ที่เหมือนนรก
เราพลาด เพราะวิ่งหาห้องเดี่ยวไม่ได้
ห้องรวมแห่งนั้น ไม่ควรเป็นที่ที่คนไข้ติดเชื้อจะไปอยู่
มันทั้งมืด ดูสกปรก เจ้าหน้าที่ไม่พอ และยังชอบดุคนไข้
ดูเหมือนเค้ารำคาญมาก ที่ต้องมีคนไข้เข้ามาอยู่เยอะๆ
พ่อพักฟื้นอยู่ที่นั่นสักระยะหนึ่ง
เราก็เห็นคนที่ได้ออกจาก ICU เข้ามาพักฟื้น เริ่มทยอยหายไปทีละคน
แม่ถามเจ้าหน้าที่ว่า “เค้าหายดีกลับบ้านแล้วเหรอ”
แต่คำตอบที่ได้คือ… เค้าเสียชีวิตแล้ว
ผมคิดไปเองจากสภาพที่ได้เฝ้าไข้พ่อ ว่ามันก็น่าจะเสียชีวิตหรอก
เพราะมันเป็นการพักฟื้นในสภาพที่แย่ลงทุกวัน
บรรยากาศแย่ ดูแลแย่ๆ สภาพจิตใจแย่ลง ร่างกายก็แย่ลง
พ่อซึ่งตอนนั้นแทบจะพูดไม่ได้ พยายามจะสื่อสารกับครอบครัวด้วยน้ำตาว่า
พาพ่อออกจากที่นี่เถอะ
เมื่อพ่อแข็งแรงพอที่จะเคลื่อนย้ายได้แบบไม่เสี่ยง
เรายอมจ่ายให้โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯที่ดูแลเราเป็นประจำ
ส่งรถพยาบาลพร้อมแพทย์มารับด้วยระยะทางประมาณ 450 กม.
พ่อได้กลับไปเป็นผู้ป่วยที่มีความสุข และมีความหวังอีกครั้ง
เหตุการณ์ครั้งนั้น เรามีค่าใช้จ่ายที่ รพ. รัฐแห่งนี้ประมาณ 4 แสนบาท
ซึ่งสวัสดิการประกันสังคมที่พ่อมีก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีมาก
คือเราไม่ต้องจ่ายเองเลยซักบาทเดียว
แต่ถามเรา ถามพ่อ เรายอมจ่ายหลักล้านดีกว่าที่จะมาเสี่ยง มาเป็นทุกข์แบบนี้อีก
พ่อมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานหลังจากหายป่วยครั้งนั้น
เพราะเกิดอาการแทรกซ้อนชนิดที่รักษาได้ยาก คือ “มะเร็งตับระยะสุดท้าย”
เราไม่พลาดอีกแล้ว… เพราะยังไงก็ต้องพาพ่อไป รพ. ในกรุงเทพฯ ให้ได้
พ่อได้มาเสียชีวิตที่นี่อย่างสงบ
ก่อนตายไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน มีหมอ มีพยาบาล รุมดูแลใกล้ชิด
มีกระบวนการ Manage Expectation ที่ดี มีการสื่อสารที่ดี
ครอบครัวและลูกๆ ได้ “ส่งวิญญาณ” พ่อแบบที่เราคิดว่า Perfect ที่สุด
เราได้ศพพ่อกลับบ้าน ด้วยรถแบบที่เคยไปรับพ่อออกมาจาก รพ.รัฐ แห่งนั้น
มีบิลค่าใช้จ่ายพ่วงมาด้วยอีก 7 หลัก
ไม่มีส่วนลดอะไรพิเศษ นอกจากส่วนลดปกติที่เราเคยได้
ธุรกิจก็คือธุรกิจ…
มนุษย์ธรรมก็เป็นสิ่งที่หมอแต่ละท่านแสดงออกเท่าที่ทำได้เป็นการส่วนตัว
แต่ครอบครัวเราก็รู้สึกดี ทุกวันนี้เราก็ยังใช้บริการที่นี่อยู่…
ผมเล่ามาข้างต้น… เพื่ออยากให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ เตือนให้เราไม่ประมาท
ได้เตรียมสิ่งที่เราควรเตรียมไว้บ้าง
เมื่อผมมาสนใจด้าน “การวางแผนการเงิน”
ผมจึงยกให้การป้องกันความเสี่ยง ผ่านเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะ “ประกัน”
เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องจัดการเป็นอันดับต้นๆ ก่อนที่จะไปทำอะไรเสี่ยงๆ เช่น เอาเงินไป “ลงทุน”
ผมสังเกตบทเรียนใน A-Academy ที่เป็นเรื่องการเงินส่วนบุคคลอื่นๆ
ซึ่งไม่ใช่ “การลงทุน” นั้น จะมีคนสนใจเข้าไปศึกษาน้อย… แต่ผมก็อยากเชิญชวนให้ไปศึกษาไว้บ้างนะครับ
บทเรียนเกี่ยวกับการวางแผนประกันภัยทั้งหมด อยู่ที่
http://www.a-academy.net/personal-finance/s05-insurance-planning
มี 13 ตอน ใช้เวลาศึกษาทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 7 นาที
หรือจะเอาเฉพาะเรื่องประกันสุขภาพ ก็ดูได้ที่
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/08-health-insurance
แค่ประมาณ 17 นาทีครับ
มาดำรงตนอยู่ใน “ความไม่ประมาท” กันนะครับ