ขยันให้เหงื่อออกตามรูขุมขน ดีกว่าขี้เกียจ แล้วยากจน จนน้ำล้นออกทางตา

ประโยคนี้เป็นคำสอนของพระพยอม ที่เคยนำมาทำเป็นโฆษณาทีวีเมื่อหลายปีมาแล้ว
ซึ่งอยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัวผม ขณะที่นั่งรอภรรยาเดินตลาดอยู่
(ขอลางาน A-Academy มาฮันนีมูนเล็กๆ ที่หัวหินกันครับ)

ผมเชื่อตามที่ท่านสอนทุกประการ ซึ่งก็ทำให้ชีวิตวันนี้ไม่ลำบากจริงๆ

แต่ผมก็พบว่า ไม่ใช่ทุกคน ที่ขยันแล้วได้ดี แต่มันต้องดูด้วย ว่าไปขยัน “ที่ไหน”

ผมเองค่อนข้าง “ฟลุ๊ค” ที่ได้ไปขยันถูกที่ถูกทาง คือ…


1) ขยันในสิ่งที่ชอบ (Passion)

ผมชอบให้คำแนะนำคน ชอบการเงินการลงทุน
ชอบเล่าเรื่อง ชอบทำพรีเซ้นต์ และได้ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาการลงทุนอยู่ช่วงใหญ่ของชีวิต

เป็นงานแรก งานเดียว ที่เลือกแล้วไม่เปลี่ยนเลย
ชั่วโมงงานของผมน่าจะทะลุ 10,000 ชั่วโมง
ที่คนเชื่อกันว่า เป็นระดับเวลาที่พอจะทำให้เรารู้จริง หรือ เป็นยอดฝีมือในด้านนั้นๆ ได้

2) ขยันในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี (Skill)

งานที่ผมทำ ต้องพูดต่อหน้าผู้คน
ทั้งจำนวนมากและจำนวนน้อย
ทั้งที่มีพื้นฐานดีๆ และที่ไม่รู้เรื่องการเงินเลย
ทั้งเพื่อขายของ และเพื่อให้ความรู้

มันเลยจำเป็นที่ต้องรู้ลึก และสามารถเลือกสื่อสารสิ่งที่รู้ออกมาได้อย่างพอเหมาะ
ด้วยภาษาและวิธีที่ดี ไม่เว่อร์จนฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ผิวๆ จนเหมือนมั่ว

ซึ่งก็โชคดีว่าผมชอบสื่อสาร ชอบเขียน ชอบพูด

สมัยเด็กตอนเรียนภาษาไทย ผมชอบที่สุดตอนที่คุณครูให้เขียน “เรียงความ”
แถมลึกๆ ผมก็ฝันอยากเป็น “มัคคุเทศก์” ที่ได้เล่าเรื่องราวของสถานที่ต่างๆ ให้คนได้รับรู้

นั้นทำให้ผมเป็นไม่กี่คนในสายงาน (ยุคนั้น)
ที่สร้าง Content เองและบรรยายเป็นต้นแบบ ให้กับทีมงานคนอื่นๆ
และได้รับความเชื่อใจให้ขึ้นพูดเวทีสำคัญๆ เสมอ

3) ขยันในสิ่งที่สร้างรายได้ได้ (Market)

งานที่ปรึกษาการลงทุนที่ผมเคยทำ
จนถึงวันนี้… ซึ่งผมออกจากอาชีพมาแล้ว ก็ยังเป็นงานที่ “ขาดคน” อยู่

เป็นสายงานที่มีการ “ซื้อตัว” กันค่อนข้างรุนแรง
ด้วยความถี่ที่สูง และราคาที่เฟ้อ เพราะมันหาคนที่เก่งจริงๆ ยาก
ที่เห็นเก่งๆ ก็ออกแนวขายเก่ง แต่ไม่ได้ให้คำปรึกษาได้แบบจริงๆ จังๆ มีหลักการ

โชคดีจึงตกเป็นของผม ที่แค่ทำได้ดีกว่าคนอื่นหน่อย มันก็พร้อมจะได้ผลตอบแทนดีๆ ทันที
ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลัก ที่ผมเก็บเงินได้เร็ว จนสามารถลาออกมาทำ A-Academy ได้


ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นตัวอย่างของ “ความโชคดี” ที่เกิดขึ้นกับผม
แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องรอโชคเสมอไปนะครับ ?

ลองตั้งสติ ใช้ปัญญาไตร่ตรองดูดีๆ
เราก็สามารถ “ออกแบบชีวิต” ตัวเองได้เช่นกัน

เราชอบอะไร เก่งด้านไหน มีคนต้องการมั๊ย ?

แล้วที่ๆ ยืนอยู่ ณ ปัจจุบัน มันตอบโจทย์มั๊ย ?

ถ้าไม่… ก็อย่าดันทุรังมากนะครับ

หาที่ที่ “ความขยัน” ของเราจะได้แสดงพลังอย่างเต็มที่ดีกว่าครับ

จะเป็นงานใหม่ก็ดี ธุรกิจส่วนตัวก็ดี
แค่ต้องมองเข้าไปหา “สินทรัพย์” ในตัวก่อน
ว่าเรามีต้นทุนอะไร มีศักยภาพอะไรที่ซ่อนอยู่

ตัวเราเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด!

ลองดูสิว่าที่เรามีนั้น มัน Align หรือสอดคล้องกับงานหรือธุรกิจอะไรมั๊ย ?

เสร็จแล้วก็ตัดสินใจเข้าไปคลุกในสายงานนั้นเสีย
จะดีกว่ามา “ขยันผิดที่” อยู่ในงานที่เราก็ไม่ชอบและก็ไม่ถนัด

และพอเสียที กับการติดคุก “ปริญญาบัตร” ที่เรียนอะไรมา ต้องไปทำอย่างนั้นครับ

ชีวิตเรามีค่ากว่านั้น
ตอนเด็กเรามีจินตนาการ มีความกล้า เราเป็นได้ทุกอย่าง

แต่ทำไมโตแล้ว ต้องโดนกระดาษใบเดียว
หรือเวลาไม่กี่ปีมาตีกรอบว่าเราทำอะไรได้/ไม่ได้

ยังไม่รู้อะไร… เดี๋ยวนี้มีให้เรียนเยอะแยะ
อยู่ที่ “อยาก” รึเปล่าครับ!

3 COMMENTS

  1. จริงค่ะ ตัวเราเองเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด ทำงานเต็มที่แต่ต้องไม่ทำร้ายตัวเอง ออกกำลังกายบ้าง เที่ยวบ้าง ชีวิตมีหลายมิติ ทุกมิติสำคัญ ขอแค่ให้มันเหมาะสม วัดได้จากความสุขที่เกิด แล้วอย่าลืมให้ความสุขแก่ผู้อื่นต่อไปด้วยค่ะ อย่างที่คุณเอทำ ขอบคุณนะคะสำหรับเวปดีๆ ตอนนี้ชวนน้องชายมาลงทุนในกองทุนรวมค่ะ อยากให้เขาได้ใช้เวลาที่เขามีมากกว่าเราสร้างทรัพย์สิน ไม่เดินผิดเหมือนเราที่สร้างหนี้สิน ทำแบบออโตด้วยค่ะ เพราะให้เขาคิดว่าเหมือนตัวเองเอาเงินไปกินพิซซ่าเดือนละห้าร้อย เหอเหอ ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้และการเริ่มต้นที่ดี ขอให้คุณเอมีความสุขมากๆค่ะ

  2. ผมคิดว่าการเรียนรู้ อันดับแรกก็เรียนให้กว้างที่สุดไปก่อน ยังไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เพื่อให้มีความรู้รอบด้าน หลังจากนั้นก็นำความรู้ที่ได้มาคิดวิเคราะห์เลือกหาสิ่งที่ตนเองสนใจและคิดว่าดีสำหรับตน แล้วมุ่งเรียนรู้สิ่งนั้นให้ชำนาญที่สุด ความเป็นที่สุดจะนำมาซึ่งความสำเร็จในด้านนั้น

    กฏ 80/20
    มีจำนวนงานที่ทำ 80 % ให้ผลลัพธ์ที่ดี 20 %
    มีจำนวนงานที่ทำ 20 % แต่ให้ผลลัพธ์ที่ดี 80 %
    ดังนั้นขยันให้ถูกที่ จึงได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าทำไปโดยไม่ไตร่ตรอง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here