วันนี้ (1 เม.ย.) เป็นวันโกหกโลก

เราน่าจะได้เห็นข่าวอะไรแปลกๆ ถูกส่งต่อกันอย่างมากมายใน Social Media
ยิ่งถ้าใครอ่านไม่ค่อยจะเกิน 3 บรรทัดอยู่แล้ว โพสหลายๆ โพสวันนี้ ท่านยิ่งจะแยกไม่ออก
เพราะผู้ที่ทำโพสเหล่านั้นขึ้น ย่อมพยายามทำให้ “เนียน” ที่สุด

อย่างไรก็ตาม คำโกหกต่างๆ ในวันนี้ มันก็จะถูกเฉลยและผ่านไปอย่างรวดเร็ว

แต่ที่อยากชวนคิดคือ ยังมีอะไรที่คล้ายๆ กับการโกหก ที่ผมเรียกว่า “มายาคติ
คือการ “ทำให้เหมือนว่าจะเป็นจริง” แต่จริงๆ จะเป็นหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่
ที่เราสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่วันที่ 1 เม.ย.

ผมขอยกตัวอย่าง “มายาคติทางการเงิน” บางประการที่เห็นได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ
ผ่านการขับเคลื่อนการเงิน ด้วย “การตลาด” ที่อาจไม่ได้มุ่ง “Educate” คนเท่าไร
แต่มุ่งให้เกิดการ “ซื้อ” เป็นหลัก


เรื่องที่เห็นชัดเรื่องแรกคือ

“ใหญ่ = ดี”

ที่สถาบันการเงิน “หลาย” แห่ง ใช้ในการโปรโมตหรือโฆษณาสินค้าของตน
โดยแทนที่จะพูดถึงคุณสมบัติจริงของสินค้า
แต่กลับเบี่ยงประเด็นให้คนหันไปสนใจ เรื่องขนาดองค์กรหรือขนาดของอย่างอื่นแทน
ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจริงเลย

ตอนแรกก็เห็นทำไม่กี่เจ้า ก็ว่าน่าเกลียดแล้ว ยังทำตามกันมาได้อีก มันเข้าข่าย “มอมเมา” มั๊ย ?


เรื่องที่สองคือ

“กำไร = ง่าย”

ผมนึกถึง Trigger Fund หลายๆ กอง ซึ่งก็จะใช้เทคนิคการโฆษณาคล้ายๆ กันคือ

“ยืนยันโดยผลงานจากกองก่อนหน้าถึง X กอง ที่บรรลุเป้าหมายภายในแค่ Y วัน”

ซึ่งสิ่งที่พูดก็จริงนั่นล่ะ แต่ไม่ได้บอกด้วยว่าในบริษัทเดียวกัน ก็ยังมีอีก Z กองที่ยังติดหล่มอยู่ ยังขาดทุนอยู่

และแทนที่จะวัดผลเทียบกับเกณฑ์ที่เหมาะ ก็เอาตัวเลขที่ขายง่ายๆ มาพูดแทน
บางกองแพ้ Index ในช่วงเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ

แต่ก็นะ จะชนะหรือแพ้ จะปิดกองได้หรือไม่ เราก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ
ตั้งแต่ Front-end Fee และค่าจัดตั้งกองไปแล้ว
(ตั้งเป้ากำไร 8-10% เก็บค่าธรรม “เนียน” 2% โหดมาก)


เรื่องที่สาม

“ของเรา = ไม่มีใครเหมือน”

คุณสมบัตินี้ มีพิเศษเฉพาะที่เรา
ดอกเบี้ย + ผลตอบแทนแบบนี้หาไม่ได้ที่ไหน

ทั้งที่พอไปศึกษาจริงๆ ใครๆ ก็ทำได้ และผลตอบแทนนั้นก็ธรรมดาๆ
เอาเป็นว่าใครไม่ศึกษา ก็เป็นอัน “เสร็จ”


เอาแค่สามเรื่องแล้วกันนะครับ
จริงๆ เรื่อง “มายาคติ” ยังมีอีกมากมาย นอกสถาบันการเงินก็มีครับ
เช่น ทำงานประจำไม่มีทางรวย แต่ที่รวยก็มี
งานไม่ประจำรวยกว่า แต่ที่เจ๊งก็มีเช่นกัน

สรุปเราต้องหัดเป็นคนที่ ค.ว.ย. เป็น นั่นคือ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ให้เป็นนิสัย
อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะโฆษณา และความเห็นจากคนที่กำลังจะขายอะไรเรา
เพราะมันอาจถูกออกแบบมาเพื่อชี้นำ ให้เราตัดสินใจอะไรบางอย่าง
ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ที่เราควรได้รับก็ได้

ไม่แน่โพสนี้ทั้งโพส ก็อาจเป็น “มายาคติ” แบบหนึ่ง
ที่ทำให้ท่านระแวงสถาบันการเงินก็ได้ หึหึหึ

แต่ระแวงไว้บ้างก็ดีครับ!

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here