คุณเอคะถ้าเราเลือก Index Fund (หรือกองทุนหุ้นอื่นๆ) ได้แล้ว
เราควรเข้าซื้อตอนไหนจึงจะเหมาะสมคะ เช่นตอนนี้ NAV สูง ควรซื้อเลยมั้ยคะ

หรือเราลงทุนไปเรื่อยๆทุกเดือนๆ โดยไม่ต้องสนใจ NAV
เพราะเราเลือก Index Fund (หรือกองทุนหุ้นอื่นๆ) ที่โดนใจและผลตอบแทนดีอยู่แล้วคะ ?

ไม่แน่ใจว่าคำถามนี้คุณเอจะช่วยได้มั้ยคะ ถ้าไม่ได้ไม่เป็นไรนะคะเดี๋ยวไปเปิดฟังบทเรียนอีกทีค่ะ


คำตอบ

ผมเคยออกตัวไปว่า ไม่ถนัดตอบคำถามแนว “จับจังหวะ” ลงทุน
คือการกะเก็งว่า จะซื้อเมื่อไร ขายเมื่อไร เพราะส่วนตัวเชื่อว่ามันยากเกินไป ถ้าทำได้ ก็ไม่ได้ทุกครั้ง

แต่เนื่องจากคำถามนี้ ผมสามารถชี้ไปที่บทเรียนหลายๆ ตอน
ที่อาจจะใช้เป็นแนวทางได้ โดยไม่ต้องพิมพ์ตอบใหม่ทั้งหมด
เลยจะขอตอบเป็นประเด็นๆ ต่างๆ 4 ประเด็น ดังนี้นะครับ


1) ประเด็น NAV สูง

ผมมีโอกาสอธิบายไปหลายครั้งว่า NAV สูงไม่ได้หมายความว่ากองทุนนั้นแพง
ลองอ่านเพิ่มเติมในลิ้งค์ข้างล่างนี้
http://www.a-academy.net/blog/nav/

หรือดูวิดีโออธิบายที่มาของราคา NAV ที่นี่ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/02-nav/

หากอ่านและดูวิดีโอแล้ว จะพอเข้าใจว่า
ในระยะยาวกองทุนหุ้น (ที่ไม่จ่ายปันผล) จะต้องมี NAV สูงขึ้นเรื่อยๆ
หลายกองในบ้านเรามี NAV เกือบ 100 บาท และ บางกองทะลุ 100 บาทไปแล้ว
แต่ก็ยังสามารถเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ถ้ากลับมาดูในอนาคต เราอาจจะเห็น NAV 1,000 บาทก็ได้

แต่ถ้ากรณี NAV สูงขึ้นเร็วๆ ผิดปกติ
เช่น เคยเห็นแว๊บๆ ราคา 20 บาท ไม่กี่เดือนตอนนี้ 30-40 บาทแล้ว
ก็อาจบ่งชี้ว่า หุ้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทุนถือลงทุน) ขึ้นมาเร็วมาก
ในกรณีนี้อาจจะถือว่า “ตลาดหุ้นแพง” ได้ 
และมีความเสี่ยงที่หุ้นจะปรับตัวลง (ทำให้ NAV กองปรับลงตาม)
แต่เราจะไม่เรียกว่า “กองทุนมันแพง” นะครับ

ต้องแยกให้ออกระหว่าง
“กองทุนมี NAV สูง” กับ “กองทุนมี NAV แพง”
สูงไม่ได้แปลว่าแพงเสมอไปครับ


2) ประเด็นการจับจังหวะลงทุน : ลงทุนเงินก้อน

สำหรับการลงทุนเงินเป็นก้อนๆ หรือที่เรียกว่า Lump-sum
คือเงินที่จะลงทุนนั้น มีขนาดใหญ่ และไม่ได้มีเงินที่จะมาทยอยลงทุนเพิ่มอีก หรือมีก็น้อยมาก

“จังหวะเข้าออกถือเป็นสิ่งสำคัญมาก”

ลองดูวิดีโอตอนนี้นะครับ น่าจะพอได้แนวทาง
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/17-buy-lumpsum/
ในวิดีโอจะพูดถึงการดูระดับราคาง่ายๆ ว่าราคาใดควรเลี่ยง ราคาใดควรทุ่ม

หรือหากจะศึกษาเพิ่มเติม ก็ควรหาความรู้เรื่อง
การวิเคราะห์ทางเทคนิค” เพิ่ม ซึ่งผมสอนไม่ได้ แต่มีให้เรียนทั่วไปครับ
คอร์สเรียนฟรีๆ ก็มีเยอะ Search ใน YouTube ก็มีเพียบเลยครับ


3) ประเด็นการจับจังหวะลงทุน : ลงทุนเป็นประจำ

สำหรับการลงทุนแบบเป็นประจำ หรือที่เรียกว่าวิธี Dollar-Cost Averaging (DCA)
หรือจะเรียกว่า การออมหุ้น ออมกองทุนหุ้น ก็ได้

“จังหวะเวลาก็จะมีความสำคัญน้อยลง”

จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ระยะเวลาที่เรามี ว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน
ถ้ามีน้อย เช่น น้อยกว่า 5 ปี วิธีนี้ก็ยังอาจขาดทุนได้ ลองอ่านเคส DCA แล้วขาดทุนได้ใน
http://www.a-academy.net/blog/set-crisis-2/

ทางแก้ไข ก็ต้องอาศัยความรู้ที่เขียนในข้อ 2) ช่วยครับ

แต่ถ้ามีเวลาลงทุนมากๆ โดยเฉพาะสามารถถือลงทุนเป็นสิบๆ ปีได้
อาจไม่ต้องจับจังหวะลงทุนเลยก็ได้ครับ

เพราะจากสถิติการถือครองหุ้นยาวๆ โอกาสขาดทุนมีน้อย และถ้าขาดทุน
ก็จะขาดทุนเพียงบางก้อน เงินส่วนใหญ่อีกหลายๆ ก้อนจะยังกำไร สามารถชดเชยก้อนที่ขาดทุนไปได้
ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
http://www.a-academy.net/blog/stock-risk-vs-time-horizon/

และสามารถดูวิดีโอ อธิบายวิธีการลงทุนแบบ DCA
และสถิติการใช้งาน DCA ในตลาดหุ้นไทยอย่างละเอียดได้ที่นี่ครับ
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/18-buy-dca/


4) ประเด็นผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน

ที่ผู้ถามกล่าวว่า “เลือกกองทุนที่โดนใจและผลตอบแทนดีอยู่แล้ว
ผมจะขอแนะนำไว้สักหน่อยครับ ว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นอดีตทั้งหมด
ที่มันดีและโดนใจเราได้ ต้องเข้าใจว่าเหตุผลหลักมาจากอานิสงฆ์
ของ “ตลาดหุ้น” หรือพูดให้ถูกต้องคือ ของสินทรัพย์ที่ชื่อว่า “หุ้น”

เมื่อสินทรัพย์คือหุ้นปรับขึ้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น จึงขึ้นกันส่วนใหญ่
ดังนั้น ในการวิเคราะห์ไปข้างหน้า เราต้องทำความเข้าใจสินทรัพย์ประเภทนี้ให้มากๆ

เช่น มันคืออะไรกันแน่ ? มันขึ้นได้เพราะอะไร ? ระยะสั้นเป็นอย่างไร ? ระยะยาวเป็นอย่างไร ?
ถ้าเราเข้าใจพฤติกรรมของสินทรัพย์นี้ เราจะถือหุ้นได้อย่างสบายใจ และมั่นใจมากขึ้น

ส่วนการ “เลือก” กองทุนหุ้นนั้น เป็นเพียงกระบวนการที่มาทีหลัง
คือเป็นการหา “พาหนะ” ที่ถ้าสินทรัพย์ที่ชื่อหุ้น ปรับขึ้น 
พาหนะใด จะพาเราไปได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับพาหนะที่ลงทุนในหุ้นเหมือนๆ กัน

อยากศึกษาเรื่องสินทรัพย์ที่ชื่อว่าหุ้นมากขึ้น
เชิญศึกษาได้ในบทเรียนชุดที่ 7 = สินทรัพย์ลงทุน
http://www.a-academy.net/personal-finance/s07-investment-assets/
ดูตั้งแต่ตอนที่ 5 – 9 หรือจะดูทั้งหมดเลยก็ได้ครับ
จะได้เข้าใจสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ด้วย


ต้องให้ไปศึกษาเยอะหน่อยนะครับ
ลองใช้เวลากับมันดู รู้แล้วคุ้ม ใช้ได้อีกยาวๆๆๆ ครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here