กลับมาแล้วครับ… หลังจากลาเพจไป 4 วันเต็ม -/\-
ตอนแรกตั้งใจจะเล่า หลายๆ เรื่องราวที่ได้พบเจอในอินเดีย ให้กับเพื่อนๆ ในเพจได้ฟัง
แต่ก็เปลี่ยนใจขอเล่าเรื่องหลักๆ เพียงโพสเดียวจะดีกว่าไม่งั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นเพจท่องเที่ยวไป
ซึ่งรับประกันได้เลยว่า โพสนี้จะเป็นโพสที่ยาวมากๆๆๆ
เพราะเรื่องหลักเดียวที่จะเล่านี้ มันมีประโยชน์กับผมมาก
และผมตั้งใจเขียน เพื่อให้มันเป็นประโยชน์กับทุกท่านเช่นกันครับ
ที่ต้องจั่วหัวว่าเป็น “ชนบท” ก็เพราะเมืองที่ผมไป
คือ “พุทธคยา” และ “ราชคฤห์” นั้นปัจจุบันก็คือบ้านนอกดีๆ นี่เอง
ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนในอดีตสมัยครั้งพุทธกาล
ผู้คนส่วนใหญ่ของที่นี่ยากจน และอยู่กันลำบากกว่าเรามากๆ ครับ
หลายท่านก็คงพอได้ยินกิตติศัพท์เรื่องของ “ขอทาน” ที่มีอยู่เยอะมาก…
นอกจากขอทานก็ยังมีคนที่เร่ “ขายของ” ที่มาตามติด ขอร้อง + ตื้อ ให้เราซื้อของเค้าให้ได้
ประเภทที่ว่าเดินตาม วิ่งตามกันเป็นหลายกิโล ก็ยังไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจ
(ขนาดเรานั่งรถม้า เค้ายังวิ่งตามได้ทันจนสุดเส้นทาง!)
ชาวบ้านก็อยู่กันแบบแร้นแค้นมาก สาธารณสุข ความสะอาด สุขอนามัย ไม่ต้องพูดถึงครับ
ตั้งแต่ผมเกิดมาจำความได้ ก็ยังไม่เคยเห็นอีสานบ้านเกิดผม ลำบากได้ขนาดนี้
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มี ขยะล้นบ้านล้นเมือง นึกจะขี้จะเยี่ยวกันตรงไหนก็จัดเต็ม
รถขับกันแบบไม่มีเลน ถนนตรงไหนว่าง เป็นอันวิ่งขึ้นไป
สัตว์ทั้งวัว หมู แพะ ก็เดินวิ่งกันเต็มถนน เสียงบีบแตรใส่กัน ดังกวนประสาทแทบจะตลอดเวลา
ช่วงที่ผมไป สภาพอากาศก็หนาวจัด คู่กับความแห้งแล้ง
ประเภทที่ว่าแม่น้ำแห้งสายใหญ่ๆ แห้งจนสามารถเดินผ่านได้
และกลายเป็นส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ (อาจจะที่สุดในโลก)
ให้ชาวบ้านลงไปปล่อยระเบิดกันแบบไม่ปิด ไม่อายอะไรเลย
บ่น บ่น บ่น บ่น บ่น… เหมือนจะไม่มีอะไรดีเลยใช่มั๊ยครับ
แต่เชื่อมั๊ยครับ… ผมกลับมาประเทศไทยแค่วันเดียว กลับคิดถึงที่นั่นจับใจ…
คิดถึงความวุ่นวายแบบนั้น…
มันเป็นความวุ่นวาย มันเป็นความอัตคัต ขัดสนก็จริง
แต่มันไม่ได้เป็น “ทุกข์” ขนาดที่เราไปตัดสินว่ามันเป็น
หลวงพ่อประสิทธิ์ พระวิทยากรประจำวัดไทยพุทธคยา ท่านสอนพวกเราว่า
“มาอินเดีย ให้มองอินเดียแบบที่เป็นอินเดีย”
คือมองบ้านเมืองเค้า ตามสภาพที่มันเป็น
อย่าไปตัดสิน อย่าไปเปรียบเทียบ อย่าไปวัดคุณค่า แล้วเราจะเห็นอะไรมากขึ้น
ซึ่งนั่นนำมาซึ่งบทเรียนในชีวิต 3 ข้อ ที่ผมอยากจะแชร์ให้ทุกท่านได้ทราบ ดังต่อไปนี้ครับ
1. มีความต้องการน้อย… ก็สุขได้ง่ายขึ้น
ด้วยสภาพอัตคัตขัดสน สกปรก ยากจน ที่ผมได้เห็น มันทำให้พลอยสงสัยว่า “เค้าอยู่กันได้ยังไง ?”
แต่เมื่อพยายาม “มองอินเดียแบบที่เป็นอินเดีย” ตามที่หลวงพ่อท่านสอน ผมก็พอเข้าใจมากขึ้น
ว่าเค้าอยู่ได้ ก็เพราะเค้ามองมันเป็นเรื่องปกติ
ผมอยากให้ลองจินตนาการว่าเราเกิดมา ก็เจอกับสภาพบ้านเมืองแบบนี้…
คือสภาพที่ “คนส่วนใหญ่” อยู่ในบ้านที่หลังเล็กๆ บางบ้านไม่มีประตู
แทบทุกบ้านไม่มีการทาสีนอกบ้าน (จะเห็นเป็นอิฐแดงเปลือยๆ)
หลายบ้านเอาขี้วัวมาปิดเต็มข้างฝา เพื่อทำให้บ้านมันอุ่น
มีพ่อแม่ที่พร้อมจะนั่งขี้เยี่ยวได้ทุกที่ แบบไม่มี Censor
มีสิ่งอื่นๆ ที่มันวุ่นวาย สกปรก ขัดสน ตามที่บรรยายมาแล้ว
ผมเชื่อว่าถ้าเราเกิดมาแบบนั้น เห็นแบบนั้น
เราก็จะมองเห็นสภาพแบบนั้นเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ก็คงมีความอยาก ซึ่งทำให้ทุกข์ใจอยู่บ้าง เช่น อยากได้วัวมากขึ้น เพื่อจะได้มีขี้วัวมากขึ้น
ซึ่งมันก็เป็นความต้องการแบบเบสิคๆ เพราะยังไงคนเราก็อยากได้นั่นได้นี่อยู่แล้ว
แต่ผมว่าเค้าจะไม่ได้รู้สึกแย่กับสภาพนั้นมากแบบที่เราไปคิด ไปรู้สึกแทนเค้า
ทีนี่ ลองย้อนกลับมามองดูตัวเอง
ดูกรุงเทพฯ ดูประเทศไทย… ซึ่งเราเจริญกันมาก!
ยิ่งเจริญเราก็ยิ่งอยากได้นั่นอยากได้นี่
เราไม่พอใจกับมือถือ ทีวี รถยนต์ บ้าน ที่เรามี ที่เราอยู่
ทันทีที่เราซื้อของใหม่ได้แป๊บเดียว สื่อสมัยใหม่ก็จะทำให้เราอยากได้ของที่ใหม่กว่าอีก
เราก็ต้องวิ่งหากันอีก แล้วก็บ่นว่าเงินไม่พอๆๆๆ แล้วก็เป็นทุกข์
ทุกข์ทั้งๆ ที่เราก็ยังสะดวกสบายกว่าใครอีกตั้งเยอะ
ผมเลยชักสงสัยว่า… เรากับเค้า ใครทุกข์ใจมากกว่ากันแน่ ?
กลับไทยครั้งนี้… ผมล้มเลิกความตั้งใจที่จะซื้ออะไร
หรือที่จะทำอะไรที่มันทำไปเพื่อสนองความอยากที่มากเกินไปของตัวเองลงได้หลายอย่าง
รู้สึก “พอใจ” กับสิ่งที่มีอยู่ สภาพที่เป็นอยู่มากขึ้น
พลอยให้นึกถึงคำของท่าน “มหาตมะ คานธี” ที่ท่านกล่าวว่า
“ทรัพยากรบนโลกใบนี้มีเพียงพอสำหรับคนทุกคน แต่มีไม่เพียงพอสำหรับคนโลภแม้เพียงคนเดียว”
2. ทุกอาชีพ… มีมืออาชีพ
“ขอทาน” และ “คนเร่ขาย” ของที่อินเดีย ทำให้ผมเข้าใจเลยว่า…
“ความเป็นมืออาชีพ มีได้ในงานทุกอย่าง”
ขอทานและคนขายของที่นี่ ผ่านกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง
1) ส่วนใหญ่พูดกันได้อย่างน้อย 3-4 ภาษา
ซึ่งภาษาไทยนี่ไม่ต้องห่วงเลยครับ พี่แกจัดเต็ม!
คุยได้เป็นประโยคๆ และไม่ใช่แค่ประโยคเบสิคๆ นะครับ
ประโยคเชลียร์ ปลิ้นปล้อน ตอแหลนี่พี่แกก็แพรวพราวมาก
สักพักคนญี่ปุ่นเดินผ่าน สลับลิ้นเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ปร๋อ ^-^
2) เป็นสุดยอดนักขาย + ใจสู้
ทั้งเทคนิคการเสนอราคา การทำโปรโมชั่น การ Upsell & Cross-sell
ความกล้าที่จะรับคำปฎิเสธ (คำว่า “No” ไม่มีผลกับเค้า)
กิริยารังเกียจ ดูถูกเหยียดหยาม หรือการใช้อารมณ์ที่เราทำ
ไม่มีผลกับเค้าสิ้นเชิง… เพราะเค้าคือนักขายมืออาชีพ
ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าเค้ามีทุกอย่างพร้อม ไม่ได้ยากจนแบบนี้ ประเทศนี้ไปได้ไกลแน่ๆ
3) เคารพและรักษาอาชีพของตน
บางครั้งผมทนไม่ไหว จะให้เงินไป โดยไม่เอาของ
เค้าบอกว่าไม่เอา เค้าบอก “No Boon” คืออย่ามาทำบุญกับเค้า…
นี่คืออาชีพเค้า เค้าขายของ จะให้เงิน ก็ต้องซื้อของ และผมเชื่อว่า ถ้าเค้ารับ
มันก็จะกลายเป็นชื่อเสียงที่ไม่ดี คนก็จะจำกันไป ว่ามาขายของเพื่อขอตังค์
ซึ่ง อีนี่…. มันไม่ช่ายนะน๋ายน๊าาาา
ก่อนจบหัวข้อนี้ ขอเล่าอีกเกร็ดนึงคือ
มีนักขายบางคน (ระหว่างการตื้อ คุยกันจนเป็นเพื่อนกัน)
สอนพวกเราว่า อย่าไปให้เงินพวกขอทานนะ
พวกนี้มันขออย่างเดียว… ต้องให้มันหัดทำมาหากิน
มาขายของเหมือนที่พวกเค้าทำ ถึงค่อยให้เงิน… ผมว่าเท่ห์ดี
น้อมมาพิจารณา ถึงอาชีพที่เราๆ ทำกันอยู่ เราเต็มที่กับมันรึยัง ? เราพัฒนาตัวเองอยู่มั๊ย ?
เรากล้าที่จะออกจาก Comfort Zone ไปเจอเรื่องลำบากบ้าง เพื่อชีวิตที่มันดีขึ้นรึเปล่า ?
3. รอยยิ้มและมิตรภาพ… สร้างง่ายจะตาย
ยังไม่จบเรื่องขอทานครับ แต่ผมขอไม่เขียนเอง
แต่จะขอถือวิสาสะยกเอาข้อความ ที่พี่ท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะที่ไปด้วยกัน
ได้เขียนบันทึกประสบการณ์ดีๆ ไว้ ซึ่งมีข้อความดังนี้
[testimonial author=”บันทึกความประทับใจ โดยพี่ท่านหนึ่งที่ร่วมทริปไปด้วยกัน”]
ที่ระลึกจากเพื่อนในอินเดีย. (โปรดอ่านต่อเนื่อง)
ของชิ้นนี้ต้องเก็บเป็นที่ระลึกดีๆ
ระหว่างทางเดินซึ่งเต็มไปด้วยนักขายไดเร็กเซล แบบประชิดตัวชั้นยอดของโลก
เมื่อเราก้าวเท้าลงจากรถ การปรากฏตัวของเราคือความหวังของนักขาย
ตั้งแต่เด็กตัวเล็กจนถึงวัยรุ่นตัวโต เขาจะตามเราไปทุกก้าว ดักหน้า ดักหลัง ดักข้าง
ตีลังกาได้คงทำแล้ว
…ดัก ดัก ดัก …
ถ้าเราไปด้วยใจโหด ๆ ก็จะโกรธๆ..
“ยี่สิบบาทเอามั้ย มหารานี ยี่สิบ”
สายตาอ้อนวอนกับประโยคซ้ำๆ ตลอดทุกการหายใจเข้าออก มีแต่เสียงนี้
“ยี่สิบบาทเอามั้ย มหารานี ยี่สิบ”
มือเขาจะชูสินค้าคือภาพพิมพ์สีรูปพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
…พอเราวางใจเบา ๆ เราก็มองทะลุได้ ว่าเขาก็แค่อยากขาย ไม่ได้อยากทำให้เรารำคาญ
เราก็เลยยิ้มหวานให้ ประกายตาของเขาเปลี่ยนจากนักอ้อนวอน เป็นประกายตาของคนธรรมดาคนหนึ่ง
เขายิ้มกลับในอีกอารมณ์หนึ่ง
ฉันตกลงซื้อภาพเดียวตามเขาบอก
แต่เนื่องจากเขาเป็นนักขายมืออาชีพพอขายได้หนึ่งภาพ
คำว่า “ห้าใบมั้ย ห้าใบร้อยบาท ห้าใบร้อยบาท” ก็ตามมาทันที
ตานี้ฉันยิ้มกว้างกว่าเดิม พอจะอ่านใจได้ว่าเราพอจะล้อเขาเล่นได้
ซื้อก็ได้ ร้อยเดียวไม่ใช่ปัญหา ซื้อเพื่อช่วยกัน
แต่ช่วยตลอดวันก็เอิ่ม….
พอได้ภาพห้าใบ เขาชูพระในขวดพลาสติกใสในภาพขึ้นมาทันที คือเหมือนกระสุน ยิง ยิง ยิง …อีก
ฉันก็แหม ไม่หยุดนะเนี่ย เดินตามตลอดทางเลย เลยแหย่ไปว่า ให้ฟรีเหรอ ซื้อแล้วอะ
ระหว่างทางเราก็ชวนเขาคุยนิดหน่อย มีประโยคหนึ่งซึ่งเราบอกเขาไปว่า
I like India , you have good heart
ประกายตาเขารู้สึกขอบคุณ
สุดท้ายเมื่อฉันไม่ซื้อแล้ว เพราะเดี๋ยวคงมีล็อตถัด ๆ มาเพิ่มอีก
เขาก็หยิบชิ้นใหม่ออกมาให้ เขาบอกว่าให้ อันนี้ให้ฟรี
ฉันไม่เชื่อใจ กลัวรับแล้วก็บอกว่า ยี่สิบบาท อันนี้ยี่สิบ
เขายืนยันให้ฟรีจริง ๆ เราถามว่าทำไม
…เขาบอกว่า
You are my friend , I give it to you my friend.
แล้วเขาก็ขอถ่ายรูปคู่เซลฟี่กับฉัน แล้วก็ควักมือถือออกมาจากกระเป๋ากางเกง
[/testimonial]
อ่านแล้วเป็นยังไงบ้างครับ พี่เค้าเขียนดีมากๆๆๆ เชื่อเหมือนผมมั๊ยครับว่า
“รอยยิ้มและมิตรภาพ… สร้างง่ายจะตาย”
และทั้งหมดนั้น ก็เป็นบทเรียนจากทริปอินเดียของผม ที่ขอนำมาแชร์ให้ทุกท่านได้เรียนรู้ด้วยกัน
ชอบไม่ชอบ มีความคิดเห็นยังไง คุยกันต่อได้ในคอมเม้นต์นะครับ
และขอขอบคุณที่อ่านจนจบครับ -/\-
“มาอินเดีย ให้มองอินเดียแบบที่เป็นอินเดีย”
… ชอบค่ะ รู้สึกว่า มีความเพียงพอ และ พอเพียง ในชีวิตของเค้า ด้วยวิถีทางของเค้าเอง
ไม่ต้องไปคิดอะไรแทนใครมากมาย … ถ้าเราสุขใจ ทุกอย่างก็เพียงพอ …
เคยไป ก็ชอบมากเช่นเดียวกันครับ
หลังจากกลับมาตอนเดินไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตของ CTW เกิดความรู้สึกเลย ว่าบางที่เราก็มีมากเกินไปจริงๆ
ไม่เคยไปค่ะ ไม่คิดที่จะไป แต่พอคุณเล่ามาอย่างงี้ ชักอยากไปแล้วค่ะ