ปัจจุบันมีเงินออมในฝากประจำ 12 ล้านบาท สะสมไว้ใช้เกษียณ
สะสมมานานตั้งแต่เริ่มทำงาน ตั้งใจจะเกษียณในอีก 12 ปีข้างหน้า และเพิ่งมาสนใจในกองทุนรวม

คำถามคือ 1) ผมจะไปซื้อกองทุนผสมแบบระยะยาว (หุ้น 7 ส่วนตราสารหนี้ 3 ส่วน) ทั้งก้อนแล้วรอไป 12 ปีในช่วงนี้เลย
หรือ 2) ทะยอยถอนออกมาเก็บไว้เพื่อทำ DCA เดือนละแสนในกองทุนรวมดัชนีไปเรื่อยๆ จนครบ 12 ปี อย่างไหนดีกว่ากัน

ปล. เงินเย็นแน่นอน เพราะมีเงินเก็บฉุกเฉินในออมทรัพย์ไว้ถึงหนึ่งปีโดยไม่ต้องไปทำงานแล้ว
ปล 2. ในระหว่างทางเดินไปวันเกษียณ น่าจะมีเงินเพิ่มได้อีกด้วย


คำตอบ

ผมขอนอกเรื่อง… เริ่มด้วยการถามกลับก่อนเล็กน้อยนะครับ

ว่าได้เคยคำนวณหรือวางแผนบ้างรึยัง ว่าต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเกษียณได้
ที่ผมถามกลับเพราะมันเป็นตัวกำหนดทางเลือกของเราด้วย ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องลงทุนหุ้นถึง 7 ใน 10 ส่วน ?

ถ้ายังไม่ได้มีการคำนวณ หรือวางแผนชัดเจนนัก ผมขอสมมติสถานการณ์ต่างๆ ให้เห็นภาพเพิ่มเติม ดังนี้นะครับ

  • หุ้น 100% คาดหวังผลตอบแทนที่ 10-12%
    ในเวลา 12 ปี เงิน 12 ล้านโตได้เป็น 37-46 ล้านบาท
  • หุ้น 70% คาดหวังผลตอบแทนที่ 8-9%
    ในเวลา 12 ปี เงิน 12 ล้านโตได้เป็น 30-34 ล้านบาท
  • หุ้น 50% คาดหวังผลตอบแทนที่ 6.5-7.5%
    ในเวลา 12 ปี เงิน 12 ล้านโตได้เป็น 25-28 ล้านบาท

ส่วนในด้านความเสี่ยงนั้น ถ้ามีปีแบบวิกฤติ Sub-prime เกิดขึ้น

  • พอร์ตหุ้น 100% จะขาดทุน -45%
  • พอร์ตหุ้น 70% จะขาดทุน -33%
  • พอร์ตหุ้น 50% จะขาดทุน -22%

ขอให้เป็นข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเฉยๆ ครับ
อันนี้ไม่เกี่ยวกับคำถาม… แต่เพื่อให้เห็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้นเท่านั้น


กลับมาที่คำถามว่า ระหว่าง 2 ทางเลือกนี้ ทางไหนดีกว่ากัน ?

  1. ลงทุนทีเดียวทั้งก้อนตอนนี้
  2. ทยอย DCA เดือนละแสนในกองทุนรวมดัชนีไปเรื่อยๆ จนครบ 12 ปี

เป็นผมคงไม่เลือกทั้งคู่ครับ

สาเหตุที่ไม่เลือกวิธีที่ 1 เพราะว่า เงินก้อนนี้เป็นก้อนใหญ่มาก
และเป็นเงินก้อนสำคัญ ถ้าลงไปโครมเดียวแล้วตลาดดี ก็จะดีไปเลย
แต่ถ้าตลาดไม่ดี เช่นมีวิกฤติอะไรซักอย่างเกิดขึ้น หุ้นตกซัก 20-30%
ผมกลัวว่าจะทนถือต่อไม่ไหว แล้วหยุดไปกลางคัน โอกาสจะ Recover คืนมันก็จะยาก

ผมจะมั่นใจลงทุนตูมเดียว ก็ต่อเมื่อตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่าตอนนี้หุ้นไม่แพง ซึ่งหากอ่านในบทความนี้
http://www.a-academy.net/blog/common-symptoms-before-crisis/

จะเห็นว่า ระดับดัชนีแถวๆ ปัจจุบัน เมื่อวัดด้วย P/E, P/BV, Dividend Yield เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี
ก็อยู่ในจุดที่บอกว่าหุ้นนั้น “ไม่ถูกแล้ว

เชื่อได้รึเปล่าก็อาจจะไม่แน่ เพราะบางท่านที่ยังมั่นใจมากอยู่ ก็อาจตอบว่า
ถ้าเอากำไรคาดการณ์ในปี 2558, 2559 มาคิด…
ค่า P/E แบบมองไปข้างหน้ามันก็จะคำนวณได้ต่ำลง ซึ่งตีความได้ว่าหุ้นไทยยังไม่แพงหรอก

แต่ถ้าถามความเห็นผม ผมยังเชื่ออยู่ครับว่ามัน “แพงเกินไป” ที่จะเข้าซื้อตูมเดียว


ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือกวิธีที่ 2 เพราะมันจะเสียโอกาสมากครับ
หากเราจะใช้เวลา DCA นานถึง 12 ปี เพื่อจะทยอยลงทุนจนครบ
เพราะเงินจำนวนมากจะจมอยู่ในตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนนิดเดียว
ทั้งๆ ที่เราตั้งใจจะลงทุนหุ้นในสัดส่วนถึง 70% ของทั้งพอร์ต


อย่างนั้นจะให้ทำยังไง บางท่านอาจจะนึกถึงวิธีที่ 3 ซึ่งผมเห็นคนพูดกันเยอะก็คือ

“รอไปก่อน” ไว้หุ้นตกหนักๆ ค่อยเข้าซื้อ

อันนี้ก็เป็นวิธีที่ฟังดูดี… แต่ถ้ามันไม่ตกล่ะครับ
เกิดรอไป 6 เดือนมันก็ไม่ตก… 1 ปีก็ยังขึ้นต่อ… 2 ปีก็ยังขึ้นอยู่

ยิ่งรอไปเรื่อยๆ เราจะเกิดอารมณ์เสียดายที่ไม่ได้ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
และเพิ่มความเสี่ยงที่จะซื้อในจุดที่แพงมากกว่าวันนี้ไปตลอดเส้นทางที่เรารออยู่ “นอกตลาด

ทางไหนก็ไม่ทำซักอย่าง… แล้วจะเอายังไงกันแน่ ?


คำตอบของผมคือ ทำมันทุกทางนั่นแหละครับ คือ

“ให้เริ่มลงทุนเลย + โดยใช้วิธี DCA ด้วย + ให้โอกาสตัวเองที่จะรอด้วย”

นี่เป็นเทคนิคที่ค่อนข้าง สิ้นคิด… มันจะไม่ให้ผลเลิศแน่ๆ
แต่มันก็จะไม่ทำให้เราซวยไปเจอความเสี่ยงประเภทสุดโต่ง เช่นกัน

ซึ่งสำหรับคนที่จะลงทุนระยะยาวนั้น ผมอยากให้เรามีช่วงเริ่มต้นที่ดี ที่สร้างกำลังใจให้เราก่อน
คือ ระหว่างเริ่มแล้วขาดทุนเลย 20% แล้วค่อยไปกำไรคืนจากการถือระยะหลังๆ
กับเริ่มแล้วมีกำไรก่อนพอสมควร ถ้าจะตกก็ขอให้เป็นการขาดทุนจากส่วนที่ได้กำไรมาก่อนหน้า

ซึ่งผมอยากให้เราพยายามให้เกิดกรณีหลัง
เพราะมันจะเพิ่ม “Staying Power” คือพลังในการ “อยู่ยาว” ให้เราได้ดีกว่า

ขยายความวิธีการนี้… ถ้าเป็นผมเองผมจะทำแบบนี้ครับ

  1. เริ่มลงทุนทันที โดยการค่อยๆ ทยอยลงทุนด้วยวิธี DCA
    เพราะไม่อยากจะเสียโอกาส เกิดหุ้นไม่ตกสักที อย่างน้อยเราก็ได้มีเงินส่วนที่เข้าไปลงทุนแล้ว
    และมีแผนที่จะเพิ่มเงินเข้าไปเรื่อยๆ อยู่ตามข้อ 2
  2. กำหนดช่วงเวลาที่เราจะเข้าลงทุนจนครบทั้งพอร์ต (Average-in Length)
    เช่น 6 เดือน – 1 ปี หรือ จะยาวถึง 2 ปีก็ยังได้ครับ ระหว่างนี้ เราจะซื้อทุกสัปดาห์ ทุกครึ่งเดือน หรือ ทุกเดือน
    ก็แล้วแต่ความสะดวกครับ ผมเชื่อว่ามันไม่มีกฎตายตัว ว่าซื้อแบบไหนกำไรที่สุด
  3. ระหว่างที่เราเผื่อเวลาและกำลังทยอยเข้าลงทุนนี้ เราก็ติดตามข่าวสารไป ดูตลาดหุ้นไป ถ้าหุ้นมันตกจริงๆ
    จะแหกกฎ DCA ซื้อเยอะหน่อย หรือจะหยุดรอดูไปก่อนก็ได้ 
    แนะนำให้อ่านบทความนี้ประกอบครับ => http://www.a-academy.net/blog/what-to-do-if-crisis-ahead/
    ซึ่งถ้าตลาดตกแรงจริงๆ เราอาจจะถือโอกาสเข้าซื้อทั้งหมดได้เลยด้วยซ้ำ

วิธีแบบนี้ มันก็จะทำให้เราได้ข้อดีนิดๆ หน่อยๆ ของทั้ง 3 วิธีคือ

  1. ไม่เสียโอกาส (มากนัก)
  2. ได้เฉลี่ยต้นทุน (แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ)
  3. ได้โอกาสซื้อเพิ่มหากหุ้นตกจริงๆ (แม้จะได้ด้วยเงินบางส่วน)

แปลงเป็น Action Plan เช่น มีเงิน 12 ล้านบาท ตั้งใจจะทยอยเข้าลงทุนให้สำเร็จภายใน 1 ปี โดยซื้อทุกสัปดาห์
ก็ต้องซื้อสัปดาห์ละ 12,000,000 บาท / 52 สัปดาห์ = 230,000 บาท

จะปัดเป็นเลขกลมๆ ซักสัปดาห์ละ 200,000 บาทก็ได้ครับ


ทั้งหมดก็เป็นคำตอบที่ “ถ้าเป็นผม” ผมคิดว่าจะทำแบบนี้ครับ
โอกาสผิดก็น่าจะมีอยู่พอสมควร แต่มันเป็นทางที่เน้น “ความสบายใจ” มากกว่า
เห็นด้วยไม่เห็นด้วย อย่างไร สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสมควรนะครับ

[hr style=”2″ margin=”30px 0px 30px 0px”]

3 COMMENTS

  1. เสียดายแทนเจ้าของคำถาม มีเวลารอเกษียณน้อยไปนิดนึง มันเลยวางแผนได้ยากนะเนี่ย

    • แต่ถือว่ามีพลังเงินต้นไม่น้อยเลยครับ
      และฟังๆ ดู เจ้าของคำถาม ยังสามารถลงทุนเพิ่มได้ด้วย
      น่าเอาใจช่วยครับ

  2. เนื่องจากมีทุนอยู่พอสมควร และยังมีเวลาอีก 12 ปี ผมแนะนำว่า
    นำเงินที่มีและกู้แบงค์บางส่วนซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่าโดยใช้เงินตัวเองไม่เกิน 40% และราคาคอนโดประมาณ 8 ล้าน (2014) ในแนวรถไฟฟ้าสายหลัก
    แล้วนำเงินที่เหลือ หัก 15% ฝาก saving รอหุ้นตกหนักๆค่อยซื้อ เช่น PE ตลาด ต่ำกว่า 10 โดยแนะนำกองทุนหุ้นต่างชาติและไทยในสัดส่วน 3:1 เพราะเหตุผลหลายอย่าง
    ส่วน 45% ที่เหลือใช้การทยอยซื้อ ผมแนะให้ทยอยซื้อเป็นเดือนๆ โดยมีเงื่อนไข PE ไม่เกิน 1.2xPE เฉลี่ยของตลาดนั้น โดยให้ใช้เงินในส่วนนี้ค่อยๆซื้อสะสมโดยใช้เวลา 4-5 ปี เพราะเป็นรอบของตลาด
    และแนะให้สะสมทองเพิ่ม ปีล่ะ 5 บาท ที่ราคาไม่เกิน 110,000
    ผ่านไปอีก 6 ปีให้พิจารณาการวางแผนใหม่ และให้ลดสัดส่วนในหุ้นลงครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here