ถ้ามีหนี้ กยศ. อยู่ก้อนก้อนหนึ่ง มีกำหนดการชำระคืนดังรูปต่อไปนี้

กำหนดชำระคืนหนี้ กยศ

ผมวางแผนที่จะพักเงินสำหรับการรอชำระหนี้นี้ไว้ในกองทุนรวม
แล้วทยอยถอน (ขายกองทุน) มาชำระหนี้ปีละ 1 ครั้ง ตามกำหนดชำระข้างต้น

ผมกำลังดูระหว่าง กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลางขึ้นไป
ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 4 % คุณเอคิดว่ายังไง หรือมีคำแนะนำอะไรบ้างไหมครับ


คำตอบ

หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก คือ 1% ต่อปี
และมีกำหนดการ ทยอยผ่อนชำระคืนแบบน้อยไปมาก หรือเรียกว่าแบบ Balloon Repayment

หากเรามีเงินเก็บส่วนที่พร้อมจะจ่ายหนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดจ่าย
และไม่ต้องการจ่ายคืนล่วงหน้า ก็สามารถนำเงินมาลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนไปก่อนได้
ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

  1. ผลตอบแทนที่ได้ต้องคุ้มค่า อย่างน้อยก็ควรชนะดอกเบี้ย กยศ. อัตรา 1% ต่อปี
    จะให้ดีก็ควรชนะเงินเฟ้อ อัตราประมาณ 3% ต่อปี[gap height=8]
  2. ความเสี่ยง เทียบกับช่วงเวลาที่ลงทุน ต้องไม่มาก 
    คือ ณ เวลาที่จะนำเงินมาชำระหนี้ เงินที่นำไปลงทุนก้อนนั้น ไม่ควรประสบปัญหาขาดทุนอยู่[gap height=8]
  3. เป็นการลงทุนที่ให้ความยืดหยุ่น หรือ สภาพคล่อง กับเราพอสมควร
    คือ ถ้าเกิดเปลี่ยนใจ อยากจะนำเงินมาชำระหนี้ก่อนกำหนด (เช่น กยศ. มีโปรโมชั่นลดหนี้ให้)
    หรือ อยากนำเงินไปทำอย่างอื่น เงินต้องไม่ถูกล๊อค ต้องสามารถถอนเงินออกมาได้

ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น “กองทุนรวม” ก็เป็นทางเลือกที่ดี
โดยผมขอแนะนำ 2 แนวทางในการบริหารเงินก้อนนี้


1. บริหารอย่างง่าย (ผลตอบแทนไม่มากนัก แต่ไม่ยุ่ง)

ก็จะเป็นแนวทางเหมือนที่ผู้ถามถามมา
ก็คือ การเลือกกองทุนสัก 1 กอง แล้วพักเงินทั้งหมดไว้ในกองนั้น
ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า “กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง” ก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมาก

กองประเภทนี้ หากเลือกดีๆ ก็หวังผลตอบแทนได้ประมาณ 3-4% ต่อปี
แลกกับความแกว่งนิดๆ (คือ NAV ไม่ได้บวกทุกวัน)
และมีสภาพคล่องน้อยกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน/กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น

โดยกองตราสารหนี้ระยะกลางเมื่อขายมักจะได้รับเงินในวันที่ T+2
ขณะที่กองที่สั้นกว่า รับเงินกัน T+1
แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสลักสำคัญอะไร เพราะเราสามารถวางแผนขายล่วงหน้าได้

ส่วนที่ผู้ถามถามว่า อยากได้มากกว่า 4% ต่อปี ด้วยวิธีการนี้จะได้มั๊ย
ผมขอตอบว่า “ยาก” เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย
รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร และตราสารหนี้ต่างๆ อยู่ในระดับต่ำมาก

เมื่อกองตราสารหนี้นำเงินใหม่ๆ เข้าไปลงทุน ก็จะได้ดอกเบี้ยน้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในอีกทศวรรษ (10 ปี) ข้างหน้า
น่าจะเป็นขาขึ้น (ตามเทรนด์ของดอกเบี้ยสหรัฐฯ) ซึ่งก็จะมีผลลบต่อพวกตราสารหนี้อีก
คืออาจมีการ Mark-to-Market ราคาตราสารหนี้ ติดลบได้เป็นระยะๆ
(ถ้าไม่เข้าใจ ว่าคืออะไร ให้เปิดวิดีโอในลิ้งค์ด้านล่างดูนะครับ)

ดังนั้นผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง แบบมองไปข้างหน้า
จึงควรจะน้อยกว่าในอดีต ซึ่งลำพังอดีตการจะได้ถึง 4% ก็หืดขึ้นคอแล้ว
ดังนั้น ถ้าต้องการมากกว่า 4% คงต้องลองพิจารณาวิธีบริหารแบบที่ 2 ดูนะครับ

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม 


2. บริหารแบบขั้นบันได (ยุ่งนิดๆ แต่มีลุ้นผลตอบแทนที่สูงขึ้น)

จากกำหนดการชำระหนี้คืน จะเห็นว่าหนี้บางส่วน ใกล้ครบกำหนดแล้ว (เช่นอีก 1-2 ปี)
และมีหนี้อีกบางส่วน ที่ยังไม่ใกล้กำหนดชำระคืน (เช่น อีก 3-5 ปี หรือ ไกลออกไปเป็น 10 ปี)

เราจึงสามารถใช้ความรู้การเลือกประเภทกองทุนให้เหมาะกับระยะเวลาลงทุน
ตามรายละเอียดในวิดีโอตอนนี้
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/31-conclusion-mf-for-all-purposes/

มาประยุกต์จัดเป็นพอร์ตกองทุนแบบขั้นบันได (Laddered Mutual Fund Portfolio) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • บันไดขั้นที่ 1 : เงินส่วนที่จะครบกำหนดใน 1-2 ปี 
    อาจลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง
    หวังผลตอบแทนได้ประมาณ 3% ต่อปี [gap height=8]
  • บันไดขั้นที่ 2 : เงินส่วนที่จะครบกำหนดใน 3-5 ปี
    อาจลงทุนในกองทุนผสม ที่มีหุ้นผสมนิดหน่อย เช่น 15-20%
    หรือ พวกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศตระกูล Global Bond Fund
    หวังผลตอบแทนได้ประมาณ 5-6% ต่อปี[gap height=8]
  • บันไดขั้นที่ 3 : เงินส่วนที่จะครบกำหนดเลย 5 ปีขึ้นไป
    อาจลงทุนในกองทุนผสม ที่มีหุ้นผสมเพิ่มขึ้น เช่น 30-60%
    หรือจะเป็นพวกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ Fund of Property Fund ก็ได้
    โดยหวังผลตอบแทนได้ตั้งแต่ 7-8% ต่อปีขึ้นไป

การจัดพอร์ตกองทุนแบบนี้ ก็จะเห็นว่า เงินสั้นลงทุนในกองทุนที่เหมาะกับระยะเวลาสั้นๆ
เงินยาวก็ลงทุนในกองทุนที่เหมาะกับระยะเวลายาวๆ
ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของทั้งพอร์ต ก็จะถูกดึงสูงขึ้นมาเกิน 4% ได้
แต่ก็จะมีความยุ่งยาก และมีงานต้องทำเพิ่ม อาทิ

1. ต้องได้เลือกกองทุนหลายประเภท ซึ่งเราอาจไม่เข้าใจมันทั้งหมด

2. จัดพอร์ตแบบนี้ ไม่ใช่จัดครั้งเดียวจบ ต้องมีการปรับพอร์ตเป็นระยะ
เพราะในแต่ละปี  เราจะมีการขายกองทุนออกมาชำระหนี้
และเวลาที่เหลือให้ลงทุนได้ ของเงินแต่ละก้อน มันก็จะสั้นลงทุกๆ ปี

จึงต้องมีการคำนวณจำนวนเงินในบันไดแต่ละขั้นใหม่ทุกๆ ปี
ถ้าเงินในบันไดขั้นไหนขาดไป เราก็จะสับเปลี่ยนกองทุนจากบันไดขั้นที่อยู่ข้างหลังมาทดแทน
โดยปกติก็จะเป็นการขายกองทุนในบันไดขั้นที่ 2 มาเติมขั้น 1 ขายขั้น 3 มาเติมขั้น 2
แต่ถ้าตอนนั้น ขั้น 3 กำลังมีกำไรมากๆ ก็อาจจะขายขั้น 3 เพียงขั้นเดียว มาเติมทั้ง ขั้น 1 และ 2 ก็ได้

3. ต้องมีความเข้าใจ และทนได้ หากบันไดขั้นหลังๆ มันผันผวน
แต่ถ้าถือลงทุนได้ในระยะเวลาที่เหมาะกับแต่ละประเภทกอง
ความผันผวนตรงนั้น ก็จะถูกทำให้เจือจางลงไปตามธรรมชาติของกอง ดังที่อธิบายใน
http://www.a-academy.net/finance/personal-finance/31-conclusion-mf-for-all-purposes/

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม 


ขอทิ้งท้ายนิดๆ ว่า หนี้ กยศ. ถือเป็นหนี้ที่ดี เป็นหนี้ที่สร้างคน สร้างอาชีพ อยากให้เราเห็นคุณค่าของมัน
จะบริหารอย่างไร โดยไม่เบี้ยว หรือ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ก็ทำไป ทำที่เราสบายใจ
แต่อย่าลืมคืนเงินเพื่อให้รุ่นน้องรุ่นหลังๆ ได้ใช้สิทธิ์ตรงนี้ต่อไปด้วย
ระวังการเอาไปเสี่ยงอะไรมากๆ แล้วจะไม่มีคืนด้วยครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here