ผมได้อ่านโพสของเพจ Financial Times by Mongkol
เกี่ยวกับคำแนะนำของ Peter Lynch อดีตผู้จัดการกองทุนชั้นยอดของโลก
ว่าหากเราลงทุนระยะยาวจริงๆ ทางเลือกอื่นอาจไม่ดีเท่าหุ้น
เลยนึกถึงภาพที่ผมมักใช้ประจำ เวลาที่บรรยายเรื่อง “พลังของดอกเบี้ยทบต้น“
ภาพนี้ผมดาวโหลดมาจาก
http://www.morningstar.com/products/institutional/SBBI.pdf
เป็นการเก็บสถิติชุด Stocks, Bonds, Bills, and Inflation ที่มีชื่อเสียง
ในภาพแสดงการเติบโตของเงินลงทุน 1 บาท
หากลงทุนในช่วงปี 1926-2012 เป็นเวลา 86 ปี
ว่าการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท เงินจะเติบโตเป็นเท่าไหร่
หุ้นเล็ก (Small Stock) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.9% ต่อปี
เงิน 1 บาทที่ลงทุนโตเป็น 15,532 บาท
หุ้นใหญ่ (Large Stock) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.8% ต่อปี
เงิน 1 บาทที่ลงทุนโตเป็น 3,045 บาท
พันธบัตรระยะยาว (Long-term Government Bonds) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.7% ต่อปี
เงิน 1 บาทที่ลงทุนโตเป็น 119 บาท
ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรระยะสั้นๆ (Treasury Bills) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.6% ต่อปี
เงิน 1 บาทที่ลงทุนโตเป็น 21 บาท
เงินเฟ้อ (Inflation) เฉลี่ยที่ 3% ต่อปี
ของที่เคยราคา 1 บาทในวันวาน จะต้องจ่าย 13 บาท เมื่อเวลาผ่านไป
จะเห็นว่าหุ้น ไม่ว่าหุ้นเล็ก หุ้นใหญ่ เมื่อผลตอบแทนทบต้นระยะยาวแล้ว มีพลังเยอะมากๆ นะครับ
แต่บางทีอธิบายแล้ว ผู้ฟังก็ยังไม่เห็นภาพ ผมเลยชวนทำอะไรที่ดูบ้าๆ (ซึ่งไมรู้ว่ามีใครทำจริงหรือยัง)
โดยชวนว่า ใครมีเงินเย็นๆ เป็นเงินส่วนเกิน แบบที่หายไปก็ไม่เดือดร้อนซัก 1 แสนบาท
แล้วอยากพลิกวงตระกูลให้ขึ้นเป็น “เศรษฐีแนวหน้าของตำบล” มั๊ย
ลองนำเงิน 1 แสนนั้นไปลงทุนในหุ้นเล็ก (ซึ่งสำหรับตลาดหุ้นไทย ผมจัดว่าเทียบเคียงหุ้นเล็กในกราฟนี้)
ทิ้งไว้เป็นเวลาเท่ากันกับกราฟนี้ คือ 86 ปี เสร็จแล้วให้เขียนจดหมายไว้ฉบับหนึ่ง
“ถึงเหลนที่รัก… เมื่อเหลนเปิดจดหมาย ทวดอาจจะไม่อยู่แล้ว
แต่ทวดได้ทิ้งสมบัติชิ้นสำคัญไว้ให้เหลนชิ้นหนึ่ง
หวังว่าจะทำให้เหลนและครอบครัวตั้งตัวได้”
ที่ต้องเขียนจดหมาย เพราะเวลา 86 ปี เราอาจจะไม่ได้อยู่ดูเหลนนะครับ
ให้ทายว่าเหลนจะมีเงินเท่าไหร่ ?
สมมติว่าได้ผลตอบแทนซ้ำรอยกับอดีตในภาพนี้เลยคือ 11.9%
คำตอบคือ
เงิน 1 แสนจะเติบโตเป็น 1.55 พันล้านบาท!
ไม่รู้ว่าจะพอเป็นเศรษฐีแนวหน้าของตำบลได้มั๊ยนะครับ
แต่ผมว่าคงไม่ใช่ชนชั้นกลางธรรมดาๆ แน่
พลังการทบต้นนั้นเหลือล้นจริงๆ นะครับ!
ทันทีที่พูดแบบนี้ ผมจะได้ยินเสียงกระซิบจากหลังห้อง หรือบาง session ก็พูดขึ้นมาดังๆ เลยว่า
“ซื้อเสร็จหุ้นก็ตก” “ซื้อเสร็จก็มีวิกฤติ”
ก็เลยต้องชวนดูกราฟดีๆ ใหม่ครับว่า
ตลอดเวลา 86 ปีนั้น ไม่มีช่วงไหนที่หุ้นไม่ตกเลยครับ มันตกตลอด (พอๆ กับที่มันขึ้น)
และลองสังเกตฟองน้ำข้างล่างสีขาวๆ นะครับ
ฟองน้ำ 1 ลูก เสมือนวิกฤติของโลก 1 ครั้ง นั่นคือ 86 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยว่างเว้นจากวิกฤติเลยนะครับ
แล้วถามว่าการลงทุนแบบนี้ยากมั๊ย ต้องซื้อต้องขายมั๊ย ต้องเลือกหุ้น เลือกกองทุนได้เก่งมั๊ย
คำตอบคือ การลงทุนแบบในกราฟมีลักษณะดังนี้
1) เป็นการซื้อแล้วถือ หรือ Buy-and-Hold ซึ่งไม่ต้องซื้อๆ ขายๆ
2) เป็นการได้ผลตอบแทนเลียนแบบดัชนีหุ้น ซึ่งมีกองทุนที่ทำแบบนี้ได้ขายอยู่หลายกองในท้องตลาด
ถามว่ามีคนทำแบบนี้มั๊ย ?
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน 4 ปีของผม
ตอบตามตรงผมเห็นลูกค้าเพียง 1 ท่านที่ทำแบบนี้ครับ
ส่วนใหญ่จะ “ทนจน” ไม่ได้ คือพอหุ้นเหวี่ยงลง ก็จะหนีออกมาก่อน
อีกแบบที่แย่กว่าคือ “ทนรวย” ไม่ได้ เพราะพอกำไร 20-30%
ก็จะทนไม่ไหว อยากจะขายออกมาดูสถานการณ์ก่อน
ซึ่งการลงทุนแบบนี้ คิดจริงๆ แล้ว ต้องทนรวยจนมีกำไรรวมสูงถึง 1,553,100% ให้ได้ครับ!
ปล. เขียนทั้งหมด ไม่ใช่จะให้ทุ่มเงินไปลงทุนในหุ้นนะครับ เราแบ่งเงินส่วนที่พร้อมลงทุนระยะยาวได้
และก็ไม่ใช่ให้หยุดศึกษาเท่านี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ต่อ
ซึ่งผมจะค่อยๆ เพิ่มบทเรียนมาให้ได้เรียนรู้กันมากขึ้นๆ นะครับ
โพสครั้งแรกใน A-Academy FB Page เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 57