Q1: ทำไมจึงต้องมาทำ “ถาม-ตอบ” เรื่องนี้ ?
เนื่องจากในเว็บ A-Academy มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนการเงินค่อนข้างมาก
ผู้ที่เข้ามาอ่านก็มีทั้งบุคคลทั่วไป คนที่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้อง
และยังมีผู้ที่อยู่ระหว่างการ “เลือกงาน” ว่าจะทำอาชีพนี้ดีหรือไม่
ผมจึงได้รับคำถามค่อนข้างมาก แรกๆ ก็ตอบให้ทีละคนๆ
แต่ก็มักจะได้รับคำถามเดิมซ้ำๆ ทำให้ผมตอบไม่ไหว
เลยคิดว่าควรทำเป็น Q&A ตอบให้ท่านที่สนใจได้อ่านไปเลยจะดีกว่า
Q2: จะตอบคำถามในฐานะอะไร ?
ผมขอตอบคำถามในฐานะของ
- ผู้ที่อยากให้อาชีพนี้ “เกิด” ได้ในประเทศไทย
- ผู้ที่เคยทำงานด้านแนะนำการลงทุนมาก่อน (ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว)
- ผู้ที่มีคุณวุฒิ Certified Financial Planner หรือ CFP
- ผู้ที่ส่งเสริมให้คนมีคุณวุฒิ CFP (ผ่านการให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา ติวสอบ)
- ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับผู้ที่ประกอบอาชีพนี้หลายๆ ท่าน
- ผู้ที่เชื่อว่าการให้คำแนะนำทางการเงินแบบองค์รวม (Comprehensive)
ตามความจำเป็นของลูกค้า (Needs Approach) จะก่อประโยชน์
สูงสุดทั้งกับลูกค้า ผู้แนะนำ และสังคมโดยรวมในระยะยาว
จากทั้ง 6 ข้อข้างต้น จะเห็นว่าผมมี Positive Bias กับอาชีพนี้แน่นอน
และคำตอบส่วนใหญ่ของผมนั้น ไม่มีแหล่งข้อมูลเป็นตัวเลขแข็งๆ มาอ้างอิง
ดังนั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านคำตอบของผมมากเป็นพิเศษนะครับ!
Q3: อาชีพนี้ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
อาชีพนี้ค่อนข้างกว้างครับ ผมจะขอแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนี้ครับ
1) อาชีพนักวางแผนการเงินในองค์กร สถาบันการเงิน บริษัทขนาดใหญ่
ผมหมายถึงใน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
อาชีพ “นักวางแผนการเงิน” หรือ “ที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล” นั้น
อยู่ในสถานะแทบไม่มีตัวตน
ณ ปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เน้นการ “วางแผนแบบองค์รวม”
จากสถาบันการเงินไหน (ธ.กสิกรไทย เคยพยายามจะทำบริการชื่อ K-WePlan)
ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการ “ส่งเสริม” ให้คนวางแผนการเงิน
แต่วิธีการที่ใช้ ยังเน้นไปที่การ “ขายสินค้าเป็นชิ้นๆ”
เช่นใช้คำว่า วางแผนการเงินด้วยประกันชีวิต (บางแบบประกัน) หรือ
วางแผนการเงินด้วยการลงทุนเป็นประจำในกองทุนรวม เป็นต้น
แม้เราจะเห็นว่า “มี” ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงินในองค์กรเหล่านั้น
(เช่น ผู้ที่มีคุณวุฒิ CFP ในหลายๆ องค์กร) ก็มักจะเน้นทำงานด้านให้ความรู้
เช่น เป็น วิทยากร เขียนบทความ และ สื่อสารเรื่องวางแผนการเงินผ่านสื่อต่างๆ
แต่ก็ยังไม่มีโมเดลการวางแผนการเงินในรูปแบบของ “บริการที่เป็นทางการ”
เต็มที่ก็จะเป็นในลักษณะของ “Value-Added Service” เท่านั้น
2) อาชีพนักวางแผนการเงินอิสระ (Independent Financial Advisor: IFA)
ส่วนใหญ่เติบโตมาจากสายงานขาย โดยเฉพาะสาย “ตัวแทนประกันชีวิต”
จากนั้นเริ่มมีการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เช่น
ด้านการลงทุน
โดยเฉพาะเมื่อบริษัท AIA เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน (Unit Link)
ที่เอื้อให้ตัวแทนประกันเดิม (+ สอบผ่านใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน)
สามารถที่จะขยายตลาด หรือขยายการบริการไปมากกว่าเพียงการ
“ให้ความคุ้มครอง” กับลูกค้า
ด้านการวางแผนการเงิน
ผ่านทั้งมุ่งสู่คุณวุฒิ CFP ซึ่งเป็นคุณวุฒิด้านการวางแผนการเงินหลักของไทย
(ที่ผมเรียกว่า “คุณวุฒิหลัก” ก็เพราะเป็นคุณวุฒิที่ได้รับการรับรอง
ในกฎระเบียบต่างๆ เช่น สามารถนำไปเทียบเคียงเพื่อขึ้นทะเบียนใบอนุญาต
ประเภทต่างๆ จาก สำนักงาน กลต. ได้ และยังเป็นคุณวุฒิที่ได้รับการสนับสนุน
จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินพันธมิตรอีกหลายแห่ง
(อ้างอิง : http://tfpa.or.th/2014/pages.php?page=4-1)
ขณะเดียวกันก็มีการ “นำเข้า” คุณวุฒิด้านการวางแผนการเงินอื่นๆ
เช่น Registered Financial Consultant (RFC) และ
Fellow Chartered Financial Practitioner Asia & Pacific (FChFP)
เพื่ออบรมและสอบ ภายในกลุ่มของตัวแทนประกันชีวิต
ในด้านโมเดลธุรกิจนั้น บริการการวางแผนการเงินที่ดำเนินการโดย IFA นั้น
ค่อนข้างเป็น “การวางแผนการเงินจริงๆ” มักมีการใช้ข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก
มีการจัดทำรายงานทางการเงิน มีการให้คำแนะนำที่ครอบคลุม
โดยใช้เครื่องมือการเงินที่หลากหลาย เหมาะกับเป้าหมายการเงินต่างๆ
และมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว
แต่ใน “ความเชื่อ” ของผมนั้น ผมคิดว่าก็ยังอาจมีคำแนะนำโน้มเอียงไปใน
ผลิตภัณฑ์ด้านประกันชีวิต หรือการลงทุนผ่านประกันชีวิตบ้าง
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักวางแผนการเงินแต่ละท่าน (ซึ่งประเด็นนี้คงเป็นทุกวงการ)
ขณะเดียวกันก็ยังมีบางท่านที่ขายสินค้าด้วยแนวทางที่ไม่ต่างจากเดิม
แต่เรียกตนเอง และบริการของตนเองว่า “วางแผนการเงิน/ที่ปรึกษาการเงิน”
เคยมีเคสที่มีการใช้สัญลักษณ์ CFP ต่อท้ายชื่อ โดยที่ตนเองไม่ได้มีคุณวุฒิจริง
จริงๆ แล้วนอกจาก IFA ที่มาจากสายประกันชีวิต
ก็ยังมีมาจากสายงานอื่นๆ ด้วยนะครับ แต่ใน “ความรู้สึก” ของผม
ก็ยังมีน้อยราย เมื่อเทียบกับที่มาจากสายประกันชีวิตครับ
Q4: อาชีพนี้ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร ?
ถ้ากรณีมีความเชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน เช่นสอบผ่านคุณวุฒิ CFP
แต่อยู่ในสถาบันการเงิน ที่ยังไม่ได้มีโมเดลธุรกิจรองรับ หรือไม่ได้จริงจัง
กับบริการนี้ รายได้คงมีแนวโน้มไม่ต่างจากเดิมมากครับ
ก็ขึ้นอยู่กับว่ารับผลตอบแทนแบบไหนเป็น เงินเดือน + โบนัส
หรือมีคอมมิชชั่นจากการขายด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ท่านที่ขวนขวาย
ในเรื่องการพัฒนาตนเองนั้น ก็มักจะเป็นพนักงานที่ค่อนข้าง “Perform”
กว่าค่าเฉลี่ยของคนในตำแหน่ง และ/หรือ วัยเดียวกันอยู่แล้ว
รายได้ระดับเดิมๆ ก็น่าจะ “น่าพอใจ” พอสมควร
แต่ถ้าทำ IFA รายได้ก็จะขึ้นอยู่กับผลงานของเราล้วนๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ
วิธีการคิดค่าบริการวางแผนการเงินของเรา
ว่าจะทำแผนฟรีและมีรายได้จากการขายสินค้าตามคำแนะนำในแผน
หรือจะมีการคิดค่าทำแผนด้วย ซึ่งการคิดค่าทำแผนนั้นผมว่ายังทำได้ยาก
รายได้เกือบทั้งหมดจึงมาจากคอมมิชชั่นในการขายสินค้า
โดยสินค้ากลุ่มประกันชีวิต ก็จะเป็นสินค้าที่มีคอมมิชชั่นมากที่สุด
เทียบกับสินค้าการเงินอื่นๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ประกันชีวิต และ ประกันภัย
ก็ถือเป็นเครื่องมือจำเป็น สำหรับการวางแผนการเงินแบบองค์รวม
ดังนั้น ถ้าท่านใดสามารถให้บริการได้ “ติดตลาด” เป็นที่น่าพอใจ
เรื่องรายได้นั้น ผมว่าไม่ใช่ปัญหา… แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน
และผมคิดว่าการจะ “เกิด” ได้ ต้องได้อยู่ในทีมงานที่ดีมากๆ ด้วย
Q5: แนวโน้มอาชีพนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?
ขออนุญาตเป็นหมอดูนะครับ ทั้งหมดเป็นการคาดการณ์แบบมั่วๆ ล้วนๆ
สำหรับอาชีพนักวางแผนการเงิน ในสถาบันการเงินขนาดใหญ่นั้น
ผมเชื่อว่า “ธนาคาร” จะเป็นองค์กรที่มีโอกาสให้บริการวางแผนการเงิน
แบบองค์รวมได้มากที่สุด
โดยอาจเริ่มจากกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Client)
ที่ธนาคารมีอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังเน้นขายของ มากกว่าเน้นวางแผนแบบองค์รวม
ที่ต้องเริ่มจากลูกค้ารายใหญ่ๆ (และอาจจำกัดไว้ให้เฉพาะลูกค้ารายใหญ่ๆ)
ก็เพราะบริการนี้มีต้นทุนสูง (คนต้องเก่ง จ้างแพง รักษาไว้ยาก)
ความไม่แน่นอนสูง (เช่นทำแผนแล้วลูกค้าไม่ซื้อ)
สำหรับลูกค้ารายเล็ก หรือ Mass ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นในรูปแบบของการ
ให้ความรู้ การมีเครื่องมือวางแผนการเงินให้ลูกค้าได้เล่น ได้วางแผนเอง
ผ่าน Platform ที่ไม่ต้องใช้คน เช่น Online หรือ App ต่างๆ มากกว่า
นั่นคือ ผมเดาๆ ว่า “การวางแผนการเงิน” อาจจะมีฐานะเป็นเพียง
“เครื่องมือสร้าง Brand” ก็เป็นได้
โดยสรุป ผมมีความหวังน้อย กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ๆ
ว่าจะเอาดีด้านนี้จริงๆ จังๆ ครับ ยิ่งรวมกับเหตุผลที่สถาบันการเงินต่างๆ
ตั้งเป้าให้รายได้เติบโตเยอะๆ การวางแผนแบบองค์รวมยิ่งจะไปได้ลำบาก
เพราะส่วนใหญ่ การวางแผนการเงินนั้นเน้นจัดสรรเงินแล้วก็อยู่นิ่งๆ
รีวิวเป็นระยะๆ (ซึ่งก็ไม่ได้ถี่มาก) ทำแบบนี้รายได้ก็จะเข้าบริษัทน้อยกว่า
การให้ลูกค้าซื้อๆ ขายๆ Move ไป Move มา
สำหรับอาชีพนี้ในสาย “อิสระ” นั้น ผมว่ามีแววรุ่ง (ในขอบเขตจำกัด) ครับ
อาจจะเพราะผมคลุกคลีกับพี่ๆ ในวงการนี้มาไม่น้อยกว่า 3-4 ปี
ในฐานะของคนที่เรียนด้วยกันบ้าง ผมเข้าไปสอนบ้าง คนรู้จักกันบ้าง
ทำให้ผมได้เห็น “Dynamic” ของอาชีพนักวางแผนการเงินอิสระว่ามีมากจริงๆ
เอาความรู้สึกผมรวมๆ คือ จากที่ผมรู้สึกเมื่อ 3-4 ก่อนว่า
“ภาพลักษณ์แซงหน้าความรู้” ของพี่ๆ ที่เป็น IFA
แต่ปัจจุบันผมสัมผัสได้จากหลายๆ ท่านว่าความรู้นั้น “เต็ม” ขึ้นมาก
และเป็นความรู้ประเภทที่ “ผมไม่มี”
มันคือความรู้จากประสบการณ์การให้บริการวางแผนการเงินจริงๆ
คือผ่านไม่รู้กี่ Trials มาแล้ว เป็นความรู้จากคนที่ “กัดไม่ปล่อย”
ถ้าใครได้ไปเรียนคลาส CFP ก็จะเห็นว่า คนที่มาเรียนส่วนใหญ่
มาจากสายประกันชีวิต และ Active กันมากๆๆ
ซึ่งด้วยการพัฒนาในอัตราที่ผมเห็นอยู่นี้ ผมว่าอนาคตต้องยิ่งเก่งขึ้นอีก
นอกจากนั้นยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ Unit Link แบบใหม่ๆ
เช่น Feed เงินไปลงทุนในกองทุนได้กว้างขวางกว่าเดิม
หรือการไปเป็นพันธมิตรเพื่อส่งต่อลูกค้าให้กับบริษัทหลักทรัพย์ได้
การมี Partner เป็นสำนักงานบัญชี/กฎหมายอิสระ
เพื่อช่วยดูเรื่องภาษีเรื่องมรดกและพินัยกรรมต่างๆ เป็นต้น
แต่ที่ผมเขียนไปข้างต้นว่ารุ่ง “ในขอบเขตจำกัด” ก็เพราะว่า
เนื่องจากแต่ละท่านก็กระจายกันไปเปิดบริษัทที่ขนาดค่อนข้างเล็กของตัวเอง
Reach ที่ถึงลูกค้า ผมเชื่อว่าก็จะยังจำกัด เช่น เฉพาะในกลุ่มลูกค้าเก่า
โอกาสที่จะโด่งดัง มีชื่อเสียงมากๆ ประเภทเป็นเจ้าตลาด คงจะยาก
แต่เท่านั้น ก็อาจจะทำให้ “งานล้นมือ” แล้ว.. ก็เป็นได้
แนวโน้มอาจจะเป็นเหมือนในต่างประเทศ ที่ IFA มีอยู่เต็มไปหมด
ต่างคนก็ต่างดูแลลูกค้ากลุ่มของตัวเองไป การเติบโตที่เป็นเนื้อเป็นหนัง
ก็น่าจะเกิดจากการ Referral ของลูกค้าปัจจุบัน ไปยังลูกค้าใหม่ๆ
และผมขอเน้นอีกครั้งว่า IFA นั้นไม่ง่าย
ถ้าไม่สู้จริง ไม่รักงานขาย ไม่รักการเจอผู้คน ไม่หมั่นเรียนรู้ ไม่มีทีมงานที่ดี
เกิดยากจริงๆ นะครับ ที่เขียนดูดีๆ ข้างบน คือคนที่ผ่านด่านนี้แล้วนะ
Q6: จำเป็นต้องมีคุณวุฒิด้านวางแผนการเงินเช่น CFP มั๊ย ?
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน สั้นๆ ง่ายๆ คือ “มี ดีกว่าไม่มี” ครับ
ยกตัวอย่างถ้าเป็นผม มีนักวางแผนการเงินสองคนให้เลือก
ผมไม่รู้จักใครเลย หล่อพอกัน ภูมิฐานพอกัน ผมคงเลือกคนมีคุณวุฒิ
ถ้าตอบยาวขึ้น ก็ต้องบอกว่า แม้คุณวุฒิพวกนี้จะไม่ได้บอกว่า “คุณเก่งมั๊ย”
แต่มันบอกได้ว่าคุณผ่าน “กระบวนการศึกษา” ที่เป็นระบบมาแล้ว
อย่างน้อย ผ่านมาได้ คุณก็มีความมุ่งมั่นระดับหนึ่ง และคงรู้พื้นฐาน
ของเรื่องวางแผนการเงินแทบทั้งหมด
ถ้ามองในเชิงการแข่งขัน สมมติว่ากลัวต่างประเทศ ก็ต้องบอกว่า มาเลเซีย
อินโดนีเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มีจำนวนคนที่มีคุณวุฒิ CFP
สูงกว่าเราทั้งนั้น
(อ้างอิง : https://www.fpsb.org/news/mediakit/64.html)
ถ้ามองในเชิง Career Path ผมมักจะถามว่า จะทำงานด้านนี้อีกเกิน 5 ปีมั๊ย ?
ถ้าทำก็มีไว้เถอะ มันน่าจะช่วยเป็นใบเบิกทางให้ก้าวหน้าได้ (บ้าง)
เวลาองค์กรจะรับคน เค้าก็ไม่รู้จักเรา เค้าก็เสี่ยงเหมือนกัน
วิธีการลดความเสี่ยงของเค้า ก็คือเลือกไอ้คนที่มันมีอะไรที่เห็นชัดๆ ก่อน
Q7: เลือกคุณวุฒิไหนดี ?
ต้องเอาให้ชัดเจนก่อนว่า เรากำลังเทียบคุณวุฒิด้าน “การวางแผนการเงิน”
อยู่นะครับ ไม่เช่นนั้น ผมจะแนะนำว่ามุ่งสู่ “CFA” คุ้มค่าสุดในสายการเงิน
(CFA เป็นคุณวุฒิฝั่งวิเคราะห์และจัดการกองทุน ซึ่งยากกว่า CFP มากๆ)
คำตอบของผมต่อไปนี้ อาจจะไม่ถูกใจบางท่าน โปรดให้อภัยผมด้วย
แต่ผมขอตอบตาม “ข้อคิดเห็น” ของผมจริงๆ นะครับ
ถ้าเทียบเฉพาะคุณวุฒิด้านวางแผนการเงิน ผมเลือก CFP
ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ครับ
- มีตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงินใหญ่ๆ ส่งเสริม
- มีตัวตนในทางกฎระเบียบของ สำนักงาน กลต.
- มีมาตรฐานการสอบที่ไม่ง่าย ทำให้คุณวุฒินี้มีค่าขึ้นมาก
- มีสมาคมนักวางแผนการเงินไทยขับเคลื่อน Brand CFP ในไทยได้ดีมาก
- มีผู้บริหารสถาบันการเงินไทยหลายท่าน มีสัญลักษณ์ CFP ต่อท้ายชื่อ
ก็ช่วยเพิ่มการรับรู้ใน Brand CFP ได้มากขึ้นอีก - ในเว็บต่างประเทศ เวลามีการพูดถึงอาชีพนักวางแผนการเงิน
จะพูดถึงคุณวุฒิ CFP เป็นหลัก (ผมอนุมานว่าเซอร์นี้เป็นที่รู้จักในระดับโลก)
(อ้างอิง : http://guides.wsj.com/personal-finance/managing-your-money/how-to-choose-a-financial-planner/)
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมคิดว่าถ้าผมจะลงทุน
ผมก็จะลงทุนอะไรที่มันมีโอกาส ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทางเลือกอื่นๆ
Q8: คุ้มมั๊ย ค่าอบรม ค่าสอบ มันแพง ?
ส่วนใหญ่ผมได้รับคำถามนี้จากน้องๆ ที่เรียนอยู่ หรือเพิ่งเรียนจบ
ซึ่งก็มีเหตุผลที่น้องจะเป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย
ผมประมาณค่าใช้จ่ายการอบรม และสอบ CFP จนจบกระบวนการทั้งหมด
น่าจะไม่น้อยกว่า 8 หมื่นบาท แลกกับความรู้และคุณวุฒิที่เราจะใช้ทำมาหากิน
ใช้ประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิต ผมคิดว่าไม่มีอะไรคุ้มไปกว่านี้
ดังนั้น ถ้าน้องๆ ห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ถ้าอยู่บริษัทอาจต้องขอสปอนเซอร์
จากบริษัท ซึ่งผมคิดว่าหลายบริษัทสนับสนุนด้านนี้ เราอาจต้องจ่ายเองบ้าง
แต่ถ้าทำอาชีพอิสระอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าถ้าคุณตอบได้ว่ามันคุ้ม
คุณก็จะหาเงินมาลงทุนกับมันได้เอง
และเอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ต้องจ่ายทีเดียว
กระบวนการกว่าจะเรียนไปทีละ Module กว่าจะสอบเสร็จทั้งหมด
ก็ใช้เวลาร่วม 2 ปี วางแผนดีๆ มันต้องมีทางออกสิน่า
Q9: มีอะไรอยากจะฝาก ส่งท้ายหรือไม่ ?
ผมอยากให้ตอบตัวเองให้ชัดให้ได้ครับ ว่าเรารักงานสายนี้จริงหรือไม่
เรารักงานที่ให้คำแนะนำทำให้คนรวยขึ้น แล้วเราก็รวยขึ้นด้วยหรือไม่ ?
ถ้าตอบได้ว่ารัก ผมเชื่อว่าท่านจะหาวิธีการเดินต่อได้
แต่ถ้ายังลังเล ยังสงสัย แล้วตอนนี้ยังหนุ่มแน่นอยู่ ยอมได้ที่จะเสียเวลา
ผมว่าหาทีมงานดีๆ ขอโอกาสเข้าไปทดลองทำงานดูเลยครับ
ส่วนถ้าใครคิดว่าไม่ทำ IFA จะเข้าบริษัท ก็ให้ดูบริษัทดีๆ ว่ามีหน่วยงาน
หรือสายงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มั๊ย อย่างน้อยๆ ก็ต้องอยู่ฝั่งที่ขาย
หรือติดต่อกับลูกค้านะครับ
ส่วนเรื่องคุณวุฒินั้น อย่าไปมองว่ามันวิเศษมากเกินไปนะครับ
สู้แล้วได้มันมาก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เรายังต้องผ่านบททดสอบอีกเยอะครับ
มันเป็น “บางอย่าง” แต่มันไม่ใช่ “ทุกอย่าง” ของงานนี้!
Thank you Ka ^^
เคลีย เคลีย เคลียที่สุด ขอบคุณมากๆ ค่ะ……สอบผ่าน M1 แล้ว กำลังมุ่งมั่นจะสอบ M2
อยากหาFAเก่งๆ ไม่ทราบว่าพอมีเเนะนำมั้ยคะ