เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ร่วมฟังผลการวิจัยหัวข้อ
การเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปี
ซึ่งเป็นงานวิจัยภายใต้ สถาบันวิจัยตลาดทุน (CMRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บรรยายโดย ดร. บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เห็นว่าเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับชีวิตเราๆ ท่านๆ อย่างมาก
จึงขออนุญาตย่อย และสรุปให้ในประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญนะครับ
หากสนใจผลการวิจัยเวอร์ชั่นเต็ม สามารถดาวโหลดได้ที่นี่ครับ
- บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)
- เอกสารนำเสนอ (Presentation) – เป็นคนละฉบับกับที่ใช้บรรยายในงาน แต่เนื้อหาหลักเหมือนกัน
ข้อควรทราบเกี่ยวกับงานวิจัยนี้
- ที่มาของข้อมูลเกือบทั้งหมด (98%) ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว
- มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างอายุ 40-60 ปี ทั้งสิ้น 825 คน
- อาศัย/ทำงานอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ใช้เวลาสัมภาษณ์เฉลี่ย 22 นาที / คน
- เก็บข้อมูลตั้งแต่ ก.ค. – ต.ค. 2555
ต้องย้ำว่ากลุ่มตัวอย่างเป็น “แรงงานในระบบ” เท่านั้นนะครับ แล้วก็เป็นคนที่อยู่ในเมืองหลวง
ในความเห็นส่วนตัวของผม กลุ่มตัวอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่มี “โอกาส” ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
รวมถึงทรัพยากรต่างๆ มากกว่า “ค่าเฉลี่ยของประเทศ” ดังนั้น ผลการศึกษานี้ก็จะสะท้อนส่วนหนึ่งของแรงงานในระบบ
แต่ยังไม่ใช่ภาพทั้งหมดของประเทศ
ข้อมูลสำคัญที่พบจากการศึกษาวิจัย (Key Findings)
- กลุ่มตัวอย่าง ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการศึกษาและมรดกของลูกมากที่สุด
รองลงมาจึงค่อยเป็นเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ และ การรักษาพยาบาล - กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ (61%) ออมเยอะกว่าระดับขั้นต่ำ คือ 10% ของรายได้
แต่ทางเลือกการออมยังทำให้เงินเติบโตได้ไม่มากนัก - ในปีแรกของการเกษียณอายุ จะมีกลุ่มตัวอย่างถึง 29% ที่คาดว่าจะถอนเงินที่มีออกมาใช้
เกินกว่าอัตรา 7% ซึ่งเป็นอัตราที่มีงานวิจัยต่างประเทศบ่งชี้ว่าเสี่ยงที่เงินจะไม่พอใช้จนจบชีวิต - กลุ่มตัวอย่าง โดยเฉลี่ยเริ่มต้นวางแผนเกษียณ เมื่ออายุประมาณ 42 ปี ซึ่งจัดว่าช้า
ตัวเลขเดียวกันของสหรัฐฯ คนอเมริกันจะเริ่มวางแผนเกษียณเมื่ออายุประมาณ 30 ปึเท่านั้น - คนที่ไม่เคยวางแผนเกษียณอายุเลย กลับมีความ “มั่นใจเกินเหตุ”
โดย 71% ของคนที่ไม่เคยวางแผน เชื่อว่าแก่ไปมาตรฐานความเป็นจะอยู่จะดีเท่าเดิมหรือดีขึ้น - กลุ่มตัวอย่างมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตสูง โดยเฉพาะหุ้น น้อยเกินไป
- กลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ย ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้ต่ำเกินไปมาก
โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง คิดว่าจะใช้จ่ายเงินเพียง 34% (1 ใน 3) ของรายได้สุดท้ายก่อนเกษียณ
ซึ่งค่าที่เหมาะสมทางวิชาการนั้นพบว่าต้องใช้ประมาณ 70% ขึ้นไป ถึงจะอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก - เพศหญิงประเมินอายุขัยตัวเองต่ำกว่า “อายุคาดเฉลี่ย” คือคิดว่าตนจะอายุสั้น
จึงมีโอกาสที่จะเตรียมเงินไว้ไม่พอ อาจประสบภาวะ “เงินหมดแต่ยังไม่ตาย (Longevity Risk)“ - เมื่อประเมินด้วยแบบจำลองทางการเงิน โดยไม่รวมสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือ บ้าน
จะพบว่า 86% ของกลุ่มตัวอย่างจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ
แต่ถ้านับรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย สัดส่วนดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 28% - กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการ Early Retire ส่วนใหญ่ มีฐานะการเงินอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อม
ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย
- ส่งเสริมการศึกษาด้านการเงิน เพื่อทำให้เกิด ความรู้ => ความเข้าใจ => และการลงมือวางแผน
ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีโอกาสเกษียณสุขนั้น ส่วนใหญ่มีความรู้ด้านการเงิน - สวัสดิการเพื่อการเกษียณต่างๆ ควรมีแผนการลงทุนตั้งต้น (Default Policy) ที่เหมาะสมไปเลย
เช่น มีสัดส่วนหุ้นที่มากพอ เพื่อแก้ปัญหาที่สมาชิกไม่ยอมเลือกแผนการลงทุน แล้วจึงค่อยเปิดทางไว้ให้สมาชิก
ที่ไม่ต้องการลงทุนแบบนี้ สามารถปรับเปลี่ยนแผนเพื่อลดความเสี่ยงลงได้ตามความสมัครใจ
วิธีนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่ ได้ลงทุนในแผนการลงทุนที่เหมาะสมต่อการเกษียณสุข - ควรมีการ พัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่จะช่วยให้ผู้ที่เกษียณอายุแล้วสามารถใช้เป็นแหล่งรายได้
เช่นผลิตภัณฑ์ Reverse Mortgage เพื่อให้ผู้เกษีณอายุสามารถกู้เงินได้ โดยใช้หลักประกันเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของตน - ขยายความครอบคลุมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เช่น หากองค์กรไหนที่มีการจัดตั้ง PVD
ให้ทำการสมัครสมาชิกให้กับพนักงานทุกคนโดยอัตโนมัติ แล้วจึงค่อยเปิดทางเลือก
ให้สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกได้ภายหลัง (ปัจจุบัน พนักงานต้องยื่นความจำนงสมัครด้วยตัวเอง) - ใช้ระบบกองทุนร่วม (Pooled Fund) เน้นการบริหารจากส่วนกลาง
เพื่อลดภาระการที่แต่ละบริษัทต้องไปจัดตั้งกองแยกๆ กัน - จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ (Mandatory PVD)
- อนุญาต ให้สมาชิก PVD สามารถสะสมเงินได้มากกว่าอัตราเงินสมทบของนายจ้าง
(ปัจจุบัน แม้กฎหมายจะให้สมาชิกสะสมได้มากถึง 15% ของรายได้
แต่กลับมีเงื่อนไขว่าอัตราดังกล่าว ต้องไม่เกินอัตราที่นายจ้างสมทบ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นายจ้างมักจะไม่ได้สบทบในอัตราที่สูง จึงทำให้สมาชิกไม่สามารถออมเพิ่มผ่าน PVD ได้) - มีโปรแกรมเพิ่มอัตราการสะสมเงินแบบอัตโนมัติ ไปพร้อมๆ กับการขึ้นเงินเดือน
เพื่อให้พนักงานได้ออมเพิ่ม โดยที่ไม่รู้สึกว่าได้รับเงินเพื่อไปใช้จ่ายน้อยลง - ลดการรั่วไหลของเงินทุนเพื่อเกษียณอายุ เช่นให้ PVD สามารถย้ายเงินไปเป็น RMF ได้
รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษต่างๆ ทางภาษี กรณีที่จะนำเงินทุนเพื่อเกษียณอายุออกไปใช้ก่อนกำหนด - พัฒนาให้ PVD เป็นช่องทางสร้างรายได้หลังเกษียณ เช่น ให้สามารถรับเงินเกษียณแบบผสมได้
คือรับเงินก้อนบางส่วน และทยอยรับส่วนที่เหลือเป็นรายเดือน โดยยังคงการลงทุนไว้อยู่
โดยส่วนที่เป็นรายเดือนนั้น อาจคำนวณเพื่อให้จ่ายเป็น “รายได้ขั้นต่ำ” ให้พอใช้ไปตลอดชีพ
จากนั้นค่อยจ่ายส่วนเกินออกมาเป็นเงินก้อน ณ วันเกษียณ - ส่งเสริมให้มีแผนการลงทุนที่ปรับตามอายุโดยอัตโนมัติ และแทนที่จะแสดงเฉพาะมูลค่าเงินลงทุน
และอัตราผลตอบแทน ก็ควรแสดงประมาณการรายได้ที่จะได้รับหลังเกษียณ หากเลือกแผนการลงทุนนี้ด้วย
เพื่อให้สมาชิกเห็นภาพมากขึ้น จะได้สามารถเลือกได้ดีขึ้น - ขยายอายุเกษียณ โดยจากการศึกษาข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนั้น การขยายอายุเกษียณเพียงไม่กี่ปี
จะทำให้สัดส่วนคนที่เกษียณทุกข์เปลี่ยนมาเกษียณได้แบบพอเพียงมากขึ้น
บทสรุป (ตามความเห็นส่วนตัวของผม)
จากงานวิจัยนี้ ผมคิดว่า… “มีปัญหาอีกแยะ… และต้องทำอะไรอีกเยอะ”
เพราะจาก Key Findings ที่งานวิจัยพบ ก็จะเห็นว่าเรายังมีข้อบกพร่องในการวางแผนเกษียณอายุ
นี่ขนาดทำวิจัยกับคนในเมือง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ก็ถือว่ามีสวัสดิการ และมีความรู้ในการวางแผนเกษียณที่จัดว่าดี
แต่ผลลัพธ์ก็ยังออกมาแบบที่ “น่าเป็นห่วง” คงไม่ต้องพูดถึงคนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งน่าจะแย่กว่านี้
ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ของคณะผู้วิจัย
โดยเฉพาะเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าถ้าทำได้จริง “จะมีพลังมากที่สุด” นั่นคือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ”
เพราะทุกวันนี้ความครอบคลุมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีน้อยมาก…
อย่าว่าแต่มีเฉพาะกับบริษัทใหญ่ๆ เลยครับ…
บางบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ ผมยังไม่เชื่อหูตัวเองเลยว่า “ไม่มีสวัสดิการนี้” ให้พนักงาน
หลายบริษัทเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ แทบจะไม่ได้อะไร นอกจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ซึ่งก็มีอัตราสูงสุดก็แค่ 300 วันของรายได้สุดท้ายเท่านั้น… เท่านั้นจริงๆ (แล้วจะใช้ได้กี่ปีล่ะนั่น)
ผมมั่นใจว่ามีพนักงานที่อยากออมนะครับ… แต่บริษัทหรือนายจ้าง ไม่ยอมจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้
ครั้นจะให้เค้าไปออมเอง ไปลงทุนเอง ก็มีปัญหาหลายอย่าง เช่น
- ไม่รู้จะเอาไปลงทุนอะไร เพราะความรู้น้อย
- ถูกแนะนำ ชักจูง ให้ไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม
- ไม่มีวินัยมากพอ ที่จะออมและลงทุนต่อเนื่อง
- ออมแล้วสักพักเมื่อมีเหตุจำเป็น ก็ถอนเงินมาใช้ จนเงินที่ควรจะเหลือไว้ใช้ตอนแก่ หายไปหมด
- เงินที่ควรลงทุนระยะยาว ถูกเอาไปเล่นเก็งกำไรไปซะได้
ผมแอบหวังว่าเราจะมีรัฐบาลที่มองเห็นปัญหานี้อย่างจริงจัง… ซึ่งอาจต้องกล้าพอด้วย
อยากให้ใช้โอกาสที่เรายังไม่มี Mandatory PVD นี่ล่ะ… ออกกฎหมายจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นกองทุนที่ดีมากๆ ให้ได้
ท่านก็มีข้อมูลกองทุนลักษณะนี้ ที่เป็น Best Practice ระดับโลก เช่นของ Australia และ Singapore อยู่ในมือแล้ว
และต้องขอให้คิดการณ์ใหญ่ๆ คิดไกลๆ ด้วยครับ…
ไอ้กองทุนประเภทที่ให้สะสมเงินได้นิดเดียว (หลักร้อยบาท) เพื่อจะไปรับรายได้ตอนเกษียณแบบจิ๊บจ๊อย… อย่าตั้งขึ้นมาเลย!
เพราะผมกลัวว่ามันจะกลายเป็นการตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อ “ให้มี” แต่มัน “ไม่ดี” นี่ล่ะ
การให้ความรู้ด้านการเงินกับประชาชนก็ดีนะครับ… แต่มันจะเห็นผลช้า การ “บังคับ” ให้ทำเลย มันจะเร็วกว่ามาก
ซึ่งระยะสั้น คงต้องมีคนเดือดร้อน เสียผลประโยชน์บ้าง… แต่ในระยะยาว เราน่าจะ Win กันทั้งประเทศครับ!
อุ๊ย… แมวพิมพ์