ช่วงชีวิตที่ผมพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ได้เร็วและก้าวหน้าอย่างผิดหูผิดตา
คือช่วงที่เรียนปริญญาโท MBA ที่นิด้า
ผมเลือกเรียนภาคปกติ เพราะต้องการประหยัด (สมัยนั้นค่าเทอมแค่ประมาณสองหมื่นปลายๆ เท่านั้น)
แต่เหตุผลสำคัญกว่า ก็คือผมยังไม่พร้อมจะทำงาน ยังเคว้งคว้าง หาตัวเองไม่เจอ
การมาเรียนต่อก็เหมือนเป็นการถ่วงเวลา และอาจจะเจอสิ่งที่ชอบ
ซึ่งก็นับเป็นโชคดีอย่างมาก เพราะนั่นทำให้สามารถทุ่มเทเวลาเรียนได้เต็มที่
งานที่เรียนเยอะมากๆ จนแทบจำไม่ได้ ว่าแต่ละวิชาเราอยู่กลุ่มกับเพื่อนคนไหนบ้าง
เทอมๆ หนึ่ง มีกลุ่มให้สังกัดร่วม 4-5 กลุ่ม
และก็เจ้า “งานกลุ่ม” นี่แหละครับ ทำให้เราพัฒนาก้าวหน้าได้เร็ว
ที่มันต้องทำเยอะ ต้องทำหนัก ต้องถูกกดดันเรื่องคุณภาพงาน
ก็เพราะมันเป็น Process ที่ “ต้องผ่าน” ไม่งั้นก็ไม่ใช่การเรียน MBA
ด้วยความที่ผมเป็นคนช่างพูด ช่างออกความเห็น อ่านเยอะ ดูจะรู้ดีกว่าคนอื่น
ทำให้ผมได้เป็นหัวหน้ากลุ่มอยู่แทบจะตลอด ซึ่งก็ท้าทาย
เพราะการเป็น “หัวหน้ากลุ่ม” มันต่างจากการเป็น “หัวหน้างาน”
ตรงที่เราไม่มีอำนาจอะไรไปสั่งใครได้ อำนาจจะให้คุณ ให้โทษก็ไม่มี เพราะทุกคนคือเพื่อนกันหมด
การขับเคลื่อนงานต่างๆ จึงต้องเน้นความร่วมมือระหว่างกัน
ถ้าโชคดี ได้สมาชิกกลุ่มที่ Active อะไรๆ มันก็ง่าย
แต่ถ้าไปเจอสมาชิกกลุ่มที่ไม่ค่อยจะแคร์อะไร นี่ก็ถือว่ายาก
และมักจะลงเอยที่ หัวหน้ากลุ่มต้องทำเองเสียมาก
เมื่อผ่านร้อนหนาวมากขึ้น กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เทอมแล้วเทอมเล่า ผมก็เริ่มบริหารจัดการงานกลุ่มได้ดีขึ้นกว่าช่วงแรกๆ
เริ่มกล้า และมีวิธีที่จะกระตุ้นให้คนทำงาน กล้าที่จะมอบหมาย กล้าตัดสินใจ กล้าฟันธง ฯลฯ
จน “หลง” นึกไปว่า เราก็เป็น “หัวหน้า” ที่ใช้ได้
ผมเห็นภาพตัวเองเป็นแบบนั้นมาตลอด และออกจะ “จองหอง” ในความเป็น “ผู้นำ” ของตัวเองพอตัว
จนกระทั่งในคาบเรียนวิชา Organization Behavior ซึ่งสอนโดย รศ.ดร. มณีวรรณ ฉัตรอุทัย
(ชมเว็บไซต์ของอาจารย์ได้ที่ http://www.drmaneewan.com)
เราเรียนกันเรื่อง Johari Window ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ “การรู้จักตนเอง”
(อ่านเพิ่มเติม https://www.l3nr.org/posts/292249)
อาจารย์ให้พวกเราทำกิจกรรมเล็กๆ
ด้วยการส่งเศษกระดาษที่มีชื่อเราอยู่บนหัวกระดาษ จากนั้นก็ให้เวียนกระดาษนี้ไปทั่วทั้งห้อง
โจทย์คือ ถ้าเราได้กระดาษชื่อใคร เราสามารถเลือกที่จะเขียนสิ่งที่เราอยากบอกคนคนนั้น
แต่ไม่กล้าบอกตรงๆ หรือตามหลัก Johari Window ก็คือการเขียนเรื่องที่ “เจ้าตัวไม่รู้ แต่คนอื่นรู้ (Blind Area)”
ระหว่างที่กระดาษถูกวนไปทั่วห้อง
ผมอด “กระหยิ่ม” ในใจไม่ได้ ว่าตัวเองจะต้องได้รับแต่ข้อความดีๆ
เพราะคิดอยู่เสมอว่าตัวเอง “ทำได้ดี” ซึ่งไม่ใช่แค่ดีธรรมดา แต่คิดว่า “ดีมากๆ” ด้วย
เมื่อได้รับกระดาษนั้นกลับคืนมา
ผมถึงกับหน้าซีด… และต้องเก็บกระดาษนั้นกลับไปคิด จนสามารถเอามาโพสแชร์ให้ทุกท่านดูได้ในวันนี้
สิ่งที่เพื่อนๆ เขียนถึงผม มันก็มีส่วนดีอยู่บ้างตามที่คาด แต่มันมีส่วนที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับตัวเองติดมาด้วย!
ข้อความที่กระแทกอัตตาอย่างแรงคือ คำว่า “เผด็จการ”
ตามมาด้วยข้อความลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น “ฟังความเห็น (บ้าง)” และ “พูดตรงเกินไป”
ผมยอมรับว่า “โกรธ” อยากรู้ว่าใครเขียนถึงเราแบบนี้
ซึ่งถ้าให้ทาย ผมมั่นใจว่าต้องทายถูกแน่ๆ ว่าเป็นใคร เพราะคงหนีไม่พ้น ลูกทีมที่ผมเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มแน่ๆ
ผมนึกหน้าพวกเค้าออกทีละคนสองคน
เริ่มเถียงในใจว่า ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ งานจะเสร็จเหรอ ? แต่นี่กลับมาว่าเราว่า “เผด็จการ”
กล้าว่าเราแบบนี้ได้ยังไง!
ผมเก็บเรื่องนี้มาคิดอยู่หลายวัน ไม่รู้ทำไมถึงหมกมุ่นกับเรื่องนี้มาก…
แต่ก็กลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อความโกรธเบาบางลง ปัญญาก็เริ่มเกิดขึ้นแทนที่…
ผมเริ่มทบทวนตัวเอง ว่าเราเป็นแบบนั้นจริงหรือ ? แล้วถ้าเป็นจริงๆ ผมจะปรับปรุงตัวยังไง ?
ซึ่งผลลัพธ์จากการทบทวนตัวเองในครั้งนี้แหละครับ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับชีวิตผม
แต่คงไม่สามารถจะบรรยายเล่าให้ฟังในพื้นที่นี้ได้หมด
คงสรุปได้เพียงสั้นๆ ว่า “ผมมองคนเป็นคน” มากขึ้น จากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ประเด็นของผมที่เขียนมาซะยาว ก็เพื่อจะบอกว่า “Feedback มีค่ามาก”
และยิ่งเป็น Feedback ที่ “จริงใจ ไม่เสแสร้ง” เรายิ่งต้องน้อมเอามาพิจารณาให้มากๆๆๆ
ไม่ว่ามันจะ “แทงใจ” แค่ไหนก็ตาม
เพราะโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองมันอยู่ตรงนั้น มันอยู่ที่เรา “ตระหนัก (Aware)” ถึงปัญหาก่อน
ซึ่งน้อยมากที่จะมีคนมาบอกเรา โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ ที่อะไรๆ ก็เป็นการแข่งขันไปเสียหมด
ดังนั้น ถ้ามีใครสักคนมาบอกเรา เราอย่าโกรธเค้า แต่ต้องขอบคุณเค้าให้มากๆ
นับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ผมก็เริ่มพัฒนาอุปนิสัยใหม่ๆ ที่ทุกวันนี้ ก็ยังพยายามทำมันให้ได้อยู่เสมอ
จึงอยากแชร์ให้ทุกท่าน ได้ลองคิดตาม เผื่อว่าจะนำไปใช้กับตัวเอง ดังนี้ครับ
- เปิดรับ Feedback ในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญอยู่เสมอ
และพยายามออกแบบวิธีการรับ Feedback ที่จะทำให้ได้ข้อมูลแบบจริงใจ ไม่เสแสร้ง
[gap height=”1″] - ฝึกการละวาง “ตัวตน” คือยอมรับให้ได้หาก Feedback ที่ได้มันจะแย่ มันจะชวนให้โกรธ
ต้อง “ไม่ตั้งการ์ด” ไม่ใช้ฟังเพื่อรอจะเถียงกลับ แต่ฟังเพื่อจะเข้า “ใจ”
เพราะเมื่อมันเข้าไป “ในใจ” แล้ว เราจะได้โอกาสในการไตร่ตรอง ว่าที่เค้าว่ามันจริงหรือไม่ ?
[gap height=”1″] - ถ้ามันจริง ก็พยายามแก้ไข หาโอกาสพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง ว่าเราจะแก้ไขยังไงดี แบบไหนที่มันใช่
(บางทีไอ้ที่คิดเองมันก็ไม่ใช่ครับ)
[gap height=”1″] - เมื่อตัวเองได้ประโยชน์จาก Feedback แล้ว ก็หาโอกาสให้ Feedback คุณภาพดี
กับคนอื่นๆ เพื่อให้เค้าได้มีโอกาสได้ปรับปรุงตัวเองด้วย
ในข้อนี้สำหรับคนที่รู้จักผมดี จะรู้เลยว่าผม “ค่อนข้างดุ” กับน้องๆ หรือคนที่สนิทกัน
นั่นก็เพราะ “อยากให้ได้ดี” เพราะห่วงจึงพูดตรงๆ จึงดูเข้มข้นไปบ้าง
ทุกวันนี้เมื่อได้ Comment หรือ Complain จากใคร ผมจะรู้สึก “ขอบคุณ” เค้าเสมอ
รู้สึกว่าเค้าอยากให้เราได้ดี… สิ่งนี้มันไม่ได้หาได้ง่ายๆ เลย
และนี่ล่ะครับ เรื่องราวของเศษกระดาษใบเดียว… ที่เปลี่ยนชีวิตผม!
ขอบคุณครับ ผมก็เรียนกับ อ.มณีวรรณ ประสบการณ์คล้ายๆของพี่เอ เลย