จากบทความใน Finnomena เรื่อง “โสด สวย รวย เริ่ด” เขียนโดยคุณเฟิร์น Wealth Me Up มีการยกตัวอย่างการวางแผนเกษียณอายุของสาวโสด อายุ 30 ปี ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

  • อายุปัจจุบัน 30 ปี วางแผนเกษียณอายุตอน 55 ปี (มีเวลาเตรียมตัว 25 ปี)
  • ต้องการใช้จ่าย ณ วันเกษียณเดือนละ 30,000 บาท ซึ่งเมื่อปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี พบว่า ณ วันเกษียณ (อีก 25 ปีข้างหน้า) ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะตกเป็นเงินเดือนละประมาณ 62,800 บาท (เพิ่มขึ้นเยอะมากๆ)
  • หากประเมินแบบง่ายๆ ว่า จะต้องใช้เงินจำนวน 62,800 ไปอีก 25 ปี ก็จะต้องมีทุนเกษียณประมาณ 18.8 ล้านบาท (ซึ่งคำนวณมาจาก 62,800 x 25 ปี x 12 เดือน = 18,840000 บาท)
  • โดยคุณเฟิร์นยกตัวอย่างว่าหากปัจจุบันมีเงินลงทุนอยู่แล้ว 200,000 บาท และสามารถลงทุนได้ผลตอบแทน 8.94% ต่อปี ก็จะต้องลงทุนเงินเพิ่มเดือนละ 15,000 บาทตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันเกษียณ จึงจะบรรลุเป้าหมาย

ซึ่งด้วยการที่ต้องออมมากขนาดนั้น อาจทำให้คนในวัย 30 จำนวนมาก ไม่สามารถออมและลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะหากรายได้ไม่ได้สูงจริงๆ การจะออมเดือนละ 15,000 คงจะแทบเป็นไปไม่ได้

แต่เดี๋ยวก่อน… มันก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง!

ในบทความนี้ ผมได้สรุปแนวทางทั้งหมดมาให้อ่านกัน 7 แนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางก็จะเหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด บางคนอาจใช้ได้เพียงบางอย่าง แต่อย่างน้อย ได้รู้จักทางเลือกไว้ ก็ย่อมดีกว่าไม่รู้เป็นไหนๆ พร้อมแล้ว Scroll ลงไปอ่านได้เลยครับ


 

1. ลดรายจ่าย 

แนวทางนี้ถือเป็นการตอบแบบ “กำปั้นทุบดินที่สุด” ซึ่งใครๆ ก็คงคิดได้ แต่จะคิดลึกพอมั๊ย หรือ คิดแล้วสามารถทำได้จริงมั๊ย ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคน ซึ่งในที่นี้เราคงไม่พูดถึงการลดค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ประเภทประหยัดแอร์ กินข้าวนอกบ้านน้อยลง ลดความบันเทิงส่วนตัวลง ฯลฯ เพราะถึงแม้ทำได้จริง แต่ก็อาจเห็นผลน้อย และทำถึงจุดหนึ่ง ก็สามารถล้มเลิกไปได้ง่ายๆ

ที่อยากพูดถึงคือการลดรายจ่ายที่มี Impact มากๆ และเห็นผลค่อนข้างยาวนานกว่า เช่น

  • การชะลอการใช้จ่ายรายการใหญ่ เช่น รถ บ้าน หรือการท่องเที่ยวดีๆ ออกไปก่อนสัก 3-4 ปี แล้วนำเงินที่จะใช้จ่ายนั้นมาเก็บรวมเป็นเงินก้อนเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นทุนเกษียณก่อน ในเวลา 3-4 ปี อาจสามารถเก็บเงินได้เป็นหลักล้าน เช่น ถ้าผ่อนรถเดือนละ 10,000 บาท ผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท ปีหนึ่งก็ตกเป็นเงิน 360,000 หากชะลอการซื้อไปได้สัก 3-4 ปี น่าจะมีเงินล้านอยู่กับตัวได้ ซึ่งเงิน 1 ล้านบาทนั้น หากบริหารดีๆ ให้โตไปซัก 8-10% ต่อปี ในเวลาประมาณ 20 ปี ก็จะโตเป็นร่วม 4-6 ล้านบาท น่าจะช่วยเติมทุนเกษียณได้ไม่น้อย (อ่านเพิ่มเติมถึงแนวคิดการชะลอการใช้จ่ายรายการใหญ่เพิ่มเติมได้ ที่นี่)
  • Refinance หนี้สินบางรายการให้มีค่างวดต่อเดือนลดลง เช่น ถ้ามีการซื้อบ้านไปแล้ว บางคนมีหนี้ผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างสูง ทำให้ออมมากไม่ได้ อาจพิจารณาติดต่อธนาคารเพื่อปรึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับสัญญาใหม่ (หรือกู้ที่ใหม่ไปปิดที่เก่า) โดยให้มีวงเงินกู้ลดลง และให้มีระยะเวลาการผ่อนชำระยาวขึ้น โดยทั่วไปถ้าเราผ่อนบ้านมาสักระยะแล้ว ยอดหนี้ปัจจุบันจะต่ำกว่ายอดหนี้เดิม การ Refinance ในกรณีนี้ มักทำให้ค่างวดลดลงได้หลักหลายพันบาท/เดือน ทำให้สามารถนำค่างวดที่ลดลงนั้น มาลงทุนได้มากขึ้น แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสีย เพราะการจ่ายงวดน้อยลง ก็จะทำให้หนี้นั้นหมดช้าลงไปด้วย ตรงนี้ต้องเทียบผลตอบแทนแล้วครับ ว่าเราคิดว่าพอร์ตลงทุนเราระยะยาวๆ จะได้ผลตอบแทนขนาดไหน ถ้าได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านก็จึงถือว่าคุ้มค่า  (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักในการตัดสินใจได้ ที่นี่)
  • ปรับเปลี่ยนประเภทกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่จากเดิมทำประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเบี้ยสูงขณะที่ผลตอบแทนต่ำ (ประกันสะสมทรัพย์ทั่วไป ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยแบบ IRR ประมาณไม่เกิน 2% ต่อปี) เราอาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองเช่นแบบ Term หรือแบบ Whole Life ทำให้เบี้ยถูกลงแต่ยังได้ความคุ้มครองที่ดีอยู่ และนำเงินที่ประหยัดได้มาลงทุนเพิ่มเติมแทน ทั้งนี้ลองศึกษาเพิ่มเติมได้จากวีดีโอ ตอนนี้ นะครับ

นอกจาก 3 ตัวอย่างนี้ ใครคิดอะไรออกอีก ก็สามารถแชร์มาได้ในช่อง Comment ด้านล่างนะครับ ถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนๆ ท่านอื่นๆ ด้วย


 

2. เพิ่มรายได้ 

นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ “กำปั้นทุบดิน” ไม่แพ้ข้อแรก ซึ่งแม้จะทำได้ยากกว่า แต่หากทำได้พลังก็จะสูงมาก ซึ่งหากอ้างอิงจากแนวคิดเรื่อง “เงินสี่ด้าน” ของโรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้แต่งหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ก็ต้องลองมาดูกันครับว่า แต่ละด้านเราทำอะไรได้ ซึ่งได้แก่

  • E : Employee รายได้จากงานประจำ ซึ่งผมได้พูดถึงแนวคิดการเพิ่มรายได้จากช่องทางนี้ไว้อย่างละเอียดแล้วในบทความชื่อ เป็นคนระดับไหน… รายได้ก็อยู่ระดับนั้น ลองคลิ๊กไปอ่านดูครับ
  • S : Self-Employed รายได้จากการเป็นนายตัวเอง (งานอิสระ) ตรงนี้ก็จะเหมาะกับคนที่มี Skill หรือ Specialization บางอย่างที่สามารถทำเพิ่ม หรือทำแทนงานประจำได้ (แนะนำว่าทำเพิ่มก่อน อย่าเพิ่งรีบทิ้งงานประจำเลยครับ) ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างไว้หลายงาน ลองดูได้ในวีดีโอ ตอนนี้ นะครับ
  • B : Business รายได้จากธุรกิจที่มีระบบ ก็จะยากขึ้นกว่ารายได้แบบ S สักหน่อยตรงที่ ต้องทำให้มีระบบ คือมีรายได้เข้ามาได้ โดยที่เราเองก็ยังมีเวลาไปทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยได้ ในยุคสมัยใหม่นี้ หากให้ผมแนะนำก็อยากให้ลองพิจารณาธุรกิจที่อยู่ในรูปของ “ทรัพย์สินทางปัญญา” เพราะถือเป็นยุคที่มีตัวช่วยมากมายมหาศาล เช่น การทำ YouTube Channel ให้คนดูฟรีเพื่อสร้างรายได้จากค่าโฆษณา หรือการทำ Video Course ออนไลน์โดยเก็บค่าเรียน ก็มี Platform ที่ช่วยให้เราทำได้เยอะแยะมากมาย (บางแห่งยินดีช่วยเราผลิตเนื้อหาด้วยซ้ำ) รวมไปถึงการแต่งหนังสือ ซึ่งเราก็สามารถเริ่มจากการเขียน E-Book ขายใน Platform ของไทยก็ได้ หรือถ้ามีทักษะทางภาษาที่ดี การจะเขียนหนังสือขายใน Amazon ก็สามารถทำได้แล้ว โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรมากมาย และเมื่อทำสำเร็จ รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ ก็จะเข้ามาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องดูแลมาก (ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่คุณภาพของงานเรา ว่าจะกินได้ยาวและยั่งยืนขนาดไหน)
  • I : Investment รายได้จากการลงทุน ซึ่งอาจจะโฟกัสไปที่การลงทุนที่สร้างกระแสเงินสด (Cash Flow) เพื่อนำกระแสเงินสดนั้น มาเพิ่มรายได้ต่อยอดให้เราออมได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่คนทั่วๆ ไปสามารถศึกษาและสามารถทำได้ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ซึ่งผมขอชี้ช่องให้ศึกษาได้จาก YouTube ตอนนี้ โดยโค้ชหนุ่ม The Money Coach น่าจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น ว่ามีวิธีการและมีความเป็นไปได้แค่ไหน

ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละวิธีการนั้น “ไม่ง่าย” แต่ก็ “เป็นไปได้” ลองศึกษาดูครับ ว่าเราทำอะไรได้ เพราะหากเดิมรายได้เราประมาณ 30,000 บาท หากสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นมาซักหมื่นบาทนั้น พลังในการออมและการลงทุนของเราก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล และทำไปทำๆ มา มันอาจจะเพิ่มได้มากกว่านั้น แทนที่จะแค่เกษียณตอน 55 ได้ อาจจะทำได้เร็วกว่านั้นก็เป็นได้


 

3. ปรับแผนและกลยุทธ์การลงทุน

หากพิจารณาแล้วว่า รายจ่ายก็ลดไม่ไหว รายได้ก็เพิ่มไม่ได้ (อะไรจะขนาดนั้น) เราอาจต้องย้อนกลับมามองแผนการลงทุนของเราว่าปรับเปลี่ยนอะไรได้มั๊ย เช่น

  • เปลี่ยนจากมุมคิดแบบ “ออมรายเดือน” เป็นการตั้งเป้าแบบ “ออมรายปี” เพราะถ้าออมรายเดือน เดือนละ 15,000 ทั้งปีก็ 15,000 x 12 = 180,000 บาท ถ้าเราออมรายเดือนไม่ไหว เราอาจออมได้แค่เดือนละ 8,000 บาท คิดเป็นทั้งปีก็ 8,000 x 12 = 96,000 บาท ยังขาดอีก 180,000 – 96,000 = 84,000 บาท ก็พยายามหามาเติมให้มันครบ เช่น นำโบนัสมาออมเพิ่ม หรือใครทำงานขายหากได้คอมมิชชั่นมาก็เอามาเติมให้ครบ
  • เริ่มจากออมน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มเงินออมขึ้นขึ้นภายหลัง ตัวอย่างเช่น วันนี้อาจออมได้แค่เดือนละ 5,000 บาท (ไม่ถึง 15,000) แต่หากตั้งเป้าว่าจะออมต่อเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 10% ปีแรกก็ออม 5,000 ปีที่สองก็ 5,500 ปีที่สามก็ 6,050 ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปีท้ายๆ ก็จะมีการออมมากขึ้นเพื่อชดเชยเงินออมที่น้อยในช่วงแรก ซึ่งก็สามารถบรรลุเป้าได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องทำรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงปีท้ายๆ ค่างวดรถ ค่างวดบ้าน ก็อาจจะลดลงหรือหมดไปแล้ว การจะออมเพิ่มในอัตราสูงๆ ก็น่าจะพอไปไหว ท่านใดอยากลองวางแผนการลงทุนในลักษณะที่ลงทุนในแต่ละช่วงไม่เท่ากัน ก็สามารถศึกษาได้จากวีดีโอ ชุดนี้ ครับ (มีไฟล์ Excel ให้ดาวโหลดไปใช้วางแผนด้วย)
  • ปรับพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนสูงขึ้น วิธีนี้ก็พอทำได้ สำหรับคนที่มีทักษะและความรู้เพียงพอ ซึ่งก็ทำได้หลายลักษณะเช่น 1) ขยับไปลงทุนในหุ้นรายตัวซึ่งหากทำได้ถูกต้อง ควรจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนหุ้น ส่วนมีโอกาสแค่ไหนนั้น ลองดูวีดีโอ ตอนนี้ ประกอบ หรือ 2) ปรับ Asset Allocation หรือสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วง 10-15 ปีแรก อาจเน้นลงทุนในหุ้นเกือบทั้งหมด เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่คาดหวัง แล้วจึงค่อยไปลดความเสี่ยงลงในช่วงปีหลังๆ เมื่อระยะเวลาการลงทุนสั้นลง เป็นต้น

ย้ำนะครับ… การเพิ่มผลตอบแทนนั้นพูดง่าย ทำยาก หากจะทำต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเรามีทักษะ เพราะขนาดระดับปรมาจารย์อย่าง ดร.นิเวศน์ ท่านก็ยังให้หวังไม่เกินปีละ 15% ต่อปี ผมเห็นบางคนหวังกันปีละ 20-30% ก็กลัวแทน ว่าจะทำได้มั๊ย เพราะในการวางแผนนั้น เราควรวางแผนบน “ค่ากลางๆ” ที่มีความเป็นไปได้สูง มากกว่าจะ “หวังผลเลิศ” แล้วไปรู้ตัวอีกทีตอนที่สายเกินไปว่าทำไม่ได้นะครับ


 

4. เตรียมรายได้จากสินทรัพย์และช่องทางอื่นเพิ่มเติม ณ วันเกษียณ

แหล่งเงินทุนเพื่อเกษียณอายุนั้น ไม่ได้มีแค่การเก็บออมด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังมีแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น

  • เงินชดเชยจากกฎหมายแรงงาน สำหรับท่านที่ทำงานเอกชน ประมาณ 10 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย (หากทำงานที่นั่นมาเกิน 10 ปี)
  • เงินบำนาญชราภาพจาก กองทุนประกันสังคม ซึ่งถ้าใครส่งประกันสังคมมาตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณ ก็จะได้รับในอัตราประมาณเดือนละ 7,000 – 8,000 บาท หรือถ้าใครเป็นข้าราชการก็ยังได้รับบำนาญอยู่นะครับ อัตราที่ได้ก็อยู่ในระดับสูงทีเดียว
  • เงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งก็จะเป็นเงินหลักล้านไปจนถึงหลายล้านขึ้นอยู่กับแต่ละคน

ดังนั้น ใช่ว่าเราจะต้องเตรียมเงินด้วยตัวเองทั้ง 18.8 ล้านบาทตามที่ยกตัวอย่าง สำคัญคือเรารู้หรือไม่ว่าเรามี “สิทธิ์” อะไรบ้าง ณ วันเกษียณ ถ้ายังไม่รู้ผมแนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ “คนไทยฉลาดการเงิน” ซึ่งผมได้อธิบายไว้โดยละเอียดพร้อมวิธีคำนวณ ทั้งสวัสดิการของภาคเอกชน และภาครัฐ หรือถ้ายังไม่สะดวกอ่านก็สามารถดูวีดีโอได้ก่อน ที่นี่ ครับ

ทั้งนี้ นอกจากแหล่งเงินทุนในระบบเหล่านั้นแล้ว เรายังมีทางเลือกในการเตรียม “รายได้หลังเกษียณ” เพิ่มเติมเช่น ค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บ้านเช่า คอนโดให้เช่า ที่ดินให้เช่า ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนนั้น ค่าเช่าที่ได้รับมาอาจต้องนำไปชำระหนี้ค่างวดเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะยาวเมื่อหนี้ลดลงไปมากหรือ หนี้หมดไป เราก็จะได้รายได้จากค่าเช่านั้นมาเป็นรายได้หลังเกษียณแบบเต็มๆ

ซึ่งตรงนี้เหมือนการที่เราปลูกป่าเตรียมไว้ก่อน พอถึงเวลาต้องเก็บกินก็ได้กิน ซึ่งสำหรับคนที่มีรายได้จากค่าเช่าในวัยเกษียณ ก็อาจไม่ต้องเตรียมเงินมากถึง 18.8 ล้านก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขอให้เช็คด้วยนะครับ ว่าทรัพย์ของเรานั้น จนถึงวันเกษียณยังจะสามารถปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ได้อยู่


 

5. ปรับแผนลงทุนหลังเกษียณ

กรณีแก้ช่วงก่อนเกษียณ (Pre-Retirement) ลำบาก การแก้ช่วงหลังเกษียณ (Post-Retirement) ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมาว่าต้องมีเงินทุนเกษียณ 18.8 ล้านบาทนั้น เกิดจากการตั้งสมมติฐานว่า หลังเกษียณเราจะไม่ลงทุนให้มีความเสี่ยงมากนัก คือจะลงทุนแค่ให้เงิน 18.8 ล้านบาทโตเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ 3% เท่านั้น ทำให้ต้องใช้เงินเยอะ

แต่หากเราสามารถจัดพอร์ตหลังเกษียณให้มีอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (โดยยังเสี่ยงขึ้นไม่มาก) เช่นสามารถลงทุนหลังเกษียณได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5-7% ต่อปี เงินลงทุนที่จำเป็นต้องใช้ก็อาจไม่ต้องมากถึง 18.8 ล้านบาทก็เป็นได้ ส่วนเรื่องว่าจะจัดยังไงนั้น ลองอ่าน บทความนี้ เป็นแนวทางได้ครับ


 

6. หารายได้หลังเกษียณ

แนวทางนี้อาจมีหลายๆ คนร้อง “ยี้” เพราะทำงานมาตลอดชีวิตก็เหนื่อยอยู่แล้ว นี่เกษียณแล้วก็ยังจะต้องทำงานอีกอย่างนั้นหรือ ? แน่นอนว่าถ้าเลือกได้ การมีรายได้เพียงพอใช้ตอนเกษียณโดยไม่ต้องทำอะไรมันก็คงดีกว่า แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ มันก็จำเป็นต้องทำ… อันที่จริงก็มีคนในวัยเกษียณมากมายที่ยังทำงานอยู่ บางคนนั้นไม่ได้ทำแค่เพราะมันจำเป็น แต่ทำเพราะมัน “สนุก” และทำให้ยังมี “ชีวิตชีวา” อยู่ ไม่แก่เร็วหมดพลังรีบตายไปเสียก่อน

มีอาชีพมากมายที่คนในวัยเกษียณสามารถทำได้ โดยเฉพาะอาชีพที่ใช้แรงน้อยลง แต่ใช้ความเก๋า ใช้สติปัญญา ใช้ประสบการณ์ ใช้ความสัมพันธ์หรือเครือข่ายที่แต่ละคนมีมากขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษา/วิทยากร/โค้ช นายหน้า นักเขียน ฯลฯ และในอนาคตเมื่อสังคมเคลื่อนเข้าสู่ภาวะ “สังคมผู้สูงอายุ” มากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าโอกาสทางอาชีพของคนในวัยเกษียณจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

นอกจากการทำงานเพื่อหารายได้หลังเกษียณแล้ว อาจมีแหล่งรายได้หรือวิธีการจัดการแบบอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง เช่น

  • การขายบ้านหรือขายทรัพย์ เพื่อนำมาเป็นทุนเกษียณ เช่น การขายบ้านใหญ่ หรือบ้านในเมือง ซึ่งมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับชีวิตในวัยเกษียณ มาอยู่บ้านที่ขนาดเล็กลง บ้านชานเมือง หรือบ้านในต่างจังหวัด ก็อาจช่วยให้มีทุนเกษียณหลักล้านมาช่วย
  • ในต่างประเทศ มีแนวโน้มเกิดการแต่งงานครั้งที่ 2 (Second Marriage) เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งคือการแต่งงานของคนที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณหรือวัยเกษียณ อาจเพราะสามีหรือภรรยาเสียชีวิตไปก่อน หรือมีเหตุให้แยกทางกัน การแต่งงานครั้งที่ 2 มักเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จึงช่วยให้คู่แต่งงานใหม่ในวัยชรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นกว่าการอยู่คนเดียว และยังสามารถใช้บ้าน รถ หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างร่วมกันได้ ทำให้ประหยัดขึ้น

 

7. ปรับลดเป้าเกษียณ

วิธีนี้คงเป็นวิธีที่ “รุนแรง” ที่สุด เพราะเหมือนเป็นการบอกให้ “ลดคุณภาพชีวิต” ลง ซึ่งก็อาจจะไม่เสมอไป เพราะบางครั้งเราวางแผนไว้ “เว่อร์” เกินไป การปรับลดเป้าเกษียณอาจหมายถึงการปรับเป้าหมายให้มีความ “สมจริง (Realistic)” มากขึ้น

เวลาผมสอนเรื่องการวางแผนเกษียณ จึงมักต้องย้ำเสมอว่าให้คิดให้ดีๆ ว่าเราจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเกษียณอย่างไร ถ้านึกไม่ออกก็ลองดูจากญาติผู้ใหญ่ที่เรารู้จักประกอบไปด้วยก็พอช่วยได้ ยังไงเสียการวางแผนมันก็ต้องมีความผิดพลาดอยู่แล้ว แต่การคลาดเคลื่อนจากจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องที่สุด ย่อมดีกว่าการคลาดเคลื่อนไปจากจุดเริ่มต้นที่มั่วๆ มา

ทั้งนี้เมื่อจะวางแผนลดรายจ่ายหลังเกษียณรายการไหนลง เราก็ควรต้องเตรียม “มาตรการ” ไว้รองรับด้วย เช่น หากจะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาพยาบาลลง มาตรการรองรับอาจได้แก่ การศึกษาสวัสดิการพื้นฐานของภาครัฐที่มีให้ เช่น ถ้าจะใช้บัตรทอง ก็ควรต้องรู้เกณฑ์ว่าใช้อย่างไร ต้องไปที่โรงพยาบาลไหน ครอบคลุมอะไรต่างๆ แค่ไหน รวมทั้งการตั้งใจดูแลสุขภาพเชิงป้องกันให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องอาหาร อารมณ์ การออกกำลังกาย ฯลฯ นั่นคือ ถ้าจะต้องเผชิญภัยจริงๆ อย่างน้อยเราก็ต้องเลี่ยงไม่พุ่งชนแบบจังๆ หลบได้ เบี่ยงได้ ก็ต้องพยายามทำให้มากที่สุด เพื่อลดความเสียหาย

นอกจากนั้น ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้ลดทุนเกษียณได้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการ เลื่อนระยะเวลาเกษียณออกไป เช่นในกรณีนี้ การเลื่อนการเกษียณอายุ จากอายุ 55 ปีเป็น 60 หรือ 65 ปี จะช่วยให้เงินทุนที่ต้องเตรียมไว้หลังเกษียณลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มจำนวนปีให้เราสามารถเก็บออมและสะสมเงินทุนได้มากขึ้นด้วย

ทางเลือกนี้สำหรับบางคนก็คงถือเป็นทางเลือกที่ “ไม่พึงประสงค์” เท่าไร เพราะเหมือนได้พักผ่อนในวัยเกษียณช้าลง แต่สำหรับบางคนอาจจะ Like เลยก็ได้ เพราะยังแข็งแรงหรือยังสนุกกับงานอยู่ รีบเกษียณไปก็ไม่รู้จะไปทำอะไร บางทีชีวิตเหี่ยวเฉาไม่ Active ไปดื้อๆ ก็มี


 

บทสรุป

จะเห็นว่าการวางแผนการเงินให้รัดกุมนั้น เราสามารถใส่รายละเอียดเข้าไปได้มากมาย ถ้าตันทางนี้ ก็ยังขยับทางโน้นได้เสมอ หรือกรณีเลวร้ายสุด ถ้าปรับอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อยก็ได้รู้ล่วงหน้า จะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้ถูก

ดังนั้น ลองพิจารณาดูนะครับ ว่าสำหรับเราแล้ว เราจะเตรียมการอย่างไร แค่ไหน เพราะไม่มีใครที่วางแผนที่จะล้มเหลวหรอก… มีแต่จะล้มเหลวเพราะขาดการวางแผนเท่านั้น!