สมมติว่าเพื่อนเราบอกว่า เค้าเพิ่งซิ่งรถจากกรุงเทพไปถึงปากช่องได้ในเวลาเพียงชั่วโมงเดียว คิดเป็นความเร็วประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง… เราจะกล้าเลียนแบบเค้าไหม ?

คนทั่วไป คงไม่คิดจะเลียนแบบอะไรแบบนั้น

เพราะคนที่รอดจากการทำแบบนี้ อาจจะมีแค่ไม่กี่คน แล้วเจ้าเพื่อนคนนี้ถ้าให้มันลองทำอีกครั้ง มันก็อาจจะทำไม่สำเร็จ รถไถลลงข้างทางแถวไหนซักแห่ง แย่น้อยหน่อยก็คงเจ็บ ซวยหน่อยอาจไม่ได้กลับมาเล่าวีรกรรม

การลงทุนเองก็เหมือนกันครับ!

สมมติว่ามีกูรูหรือเทพด้านการลงทุนสักคนมาเล่าความสำเร็จของเค้าให้เราฟัง บอกว่าเค้ารวยเร็วมาได้ยังไง พร้อมชวนเราไปศึกษาวิธีการที่เค้าใช้ และยังบอกกับเราอีกว่า “ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้

เราจะแน่ใจได้ยังไง ว่า “เค้าคนนั้น” ไม่ใช่คนที่บังเอิญรอดจากการซิ่งรถด้วยความเร็วสูงมาโดยบังเอิญ อาจเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนที่รอดจากการทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง แล้วมาชวนเราให้ไปลองทำแบบเค้าดูบ้าง

  • เค้าอาจรวยเร็วมาโดยใช้มาร์จิ้นหรือกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนในหุ้นซิ่งในภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย
  • อาจโชคดีทุ่มลงทุนในวอร์แรนท์หรือ DW ถูกตัวเพียงไม่กี่ครั้ง
  • อาจทุ่มลงทุนในหุ้นขนาดเล็กเพียงตัวเดียวในพอร์ตแล้วหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • หรือกระทั่งอาจพนันกับ Option ที่อยู่ในสถานะ Deep Out-of-the-money (ราคาต่ำมาก) ในต่างประเทศ แล้วหุ้นแม่ดันขึ้นแรงพาให้ Option นั้นให้ขึ้นไปด้วย ทำให้กำไรทวีไปหลายเท่าตัวจนเปลี่ยนชีวิต

คือ ที่เค้าสำเร็จน่ะเค้าสำเร็จจริงๆ แต่วิธีการที่เขาใช้อาจ “พิเศษ” เกินกว่าที่คนทั่วไปจะทำซ้ำได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าผิดพลาดขึ้นมา ความเสียหายอาจรุนแรง ไม่ต่างจากรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูง แล้วไถลลงข้างทาง

สิ่งที่อยากชวนคิดคือ ถ้าจะไปปากช่องจริงๆ แล้วเหยียบประมาณ 80-90 มันก็ไปถึง เราก็ไม่ต้องเหยียบคันเร่งจนมิดก็ได้… จริงมั๊ยครับ ? 

ดังนั้น ถ้าเราจะลงทุน เรารู้รึยังว่า…


 

เราต้องทำกำไรหรือผลตอบแทนได้ขนาดไหนถึงจะบรรลุเป้าหมาย ?

เป้าหมายนั้น อาจหมายถึงอิสรภาพทางการเงิน อาจหมายถึงเงินทุนเกษียณที่เพียงพอ อาจหมายถึงเงินทุนเพื่อการศึกษาที่ดีของลูก หรือเป็นเงินที่เราอยากให้เป็นของขวัญเพื่อตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ในช่วงที่ท่านแก่เฒ่า ฯลฯ

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่จะออมรายเดือนและแบ่งโบนัสมาลงทุนเรื่อยๆ ทุกปี
ท่านรู้หรือไม่ว่าหากท่านอายุ 30 ปี เงินเดือน 25,000 ปรับขึ้นปีละประมาณ 4% ทุกปี การแบ่งเงินมาลงทุนเดือนละ 10% และแบ่งโบนัสมาลงทุนปีละ 1 เดือน ไปจนถึงอายุเกษียณ 60 ปี หากพยายามสร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยให้ได้ 8% ต่อปี ท่านจะมีเงินทุนเกษียนประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าทำได้ 10% ต่อปี ทุนเกษียณจะเพิ่มเป็นประมาณ 14 ล้านบาท และถ้าท่านมีฝีมือดี สร้างผลตอบแทนได้ 12% ต่อปี ยอดเงินนั้นจะเพิ่มไปถึง 20 ล้านบาท (จากต้นทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.2 ล้านบาท)

สำหรับท่านที่เป็นผู้ประกอบการ หากท่านสามารถแบ่งกำไรจากธุรกิจ
มาลงทุนได้เดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท แล้วลงทุนเป็นระยะเวลา 25 ปี ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 8% เงินนั้น จะโตเป็นประมาณ 8.8 ล้านบาท หากได้ 10% เงินจะโตเป็น 11.8 ล้านบาท และถ้าได้ 12% เงินลงทุนนั้นจะโตเป็นถึง 16 ล้านบาท (จากต้นทุนรวมทั้งสิ้น 3 ล้านบาท)

สำหรับท่านที่มีเงินก้อน เช่นมีเงิน 1 ล้านแรก ตั้งแต่อายุ 35 ปี
หากลงทุนและดูแลดีๆ จนถึงอายุ 60 โดยไม่ใส่เงินเพิ่มเลย ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี เงินจะโตขึ้นเป็น 6.8 ล้านบาท ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี เงินจะโตขึ้นเป็น 10.8 ล้านบาท ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 12% ต่อปี เงินจะโตขึ้นเป็นถึง 17 ล้านบาท (ต้นทุนรวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาท)

จากตัวอย่างที่ยกมา เป้าหมายผลตอบแทนประมาณ 8-12% ต่อปีนั้น ก็ยังจัดว่าอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ เป็นการขับรถด้วยความเร็วทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนด ยังไม่ได้ซิ่งจนสุ่มเสี่ยงเสียหาย

  • สถิติผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เปิดตลาดเมื่อปี 2518
    ก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 11-12%
  • สถิติผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1926-2014
    หุ้นก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ 10–12% (หุ้นใหญ่ 10% ส่วนหุ้นขนาดเล็ก 12%)

ด้วยสถิติประมาณนี้ หากหวังสูงหลัก 10-12% การลงทุนในกองทุนหุ้น และ/หรือ กองทุน LTF/RMF ที่ลงทุนในหุ้น ก็น่าจะให้ผลตอบแทนระดับนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศที่มีกองทุนให้เลือกลงทุนอยู่ หากหวังต่ำลงมา การผสมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (เช่น Fund of Property Fund) เข้าไปบ้าง อาจจะประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ต ก็น่าจะยังให้ผลตอบแทนในขอบล่างของตัวอย่าง แถวๆ 8% ต่อปี ในระยะยาวได้ โดยที่ไม่ต้องเร่งความเสี่ยงและเสาะหาวิธีการที่ “พิเศษ” มากขึ้นไปกว่านั้น

คำถามคือ…


 

เรารู้รึยังว่าจำเป็นต้องได้ผลตอบแทนประมาณไหน เพื่อบรรลุเป้าหมาย ?

เพราะความสามารถในการออม (Input) ที่เรามี คงไม่เท่ากับที่ผมยกตัวอย่างมาเป๊ะๆ มูลค่าของเป้าหมาย (Output) และระยะเวลาการลงทุน (Horizon) ก็คงไม่เท่าด้วยเช่นกัน

เพราะถ้ายังไม่รู้ เราอาจกำลังเหยียบคันเร่งจนมิด เพื่อจะเร่งขับรถให้ถึงที่หมาย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว สามารถ “ผ่อนคันเร่ง” ลงบ้าง เพื่อขับชิวๆ ซึมซับกับบรรยากาศระหว่างทาง โดยที่ยังคงถึงที่หมายได้ภายในกำหนดก็เป็นได้

ลองหาคำตอบให้กับตัวเองดูสิครับ

ถ้าอ่านข้างบนแล้ว อยากลองวางแผนการลงทุนให้ตัวเอง อยากรู้ว่าผลตอบแทนระดับไหนที่ “เพียงพอ” ต่อการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เชิญลองเรียนรู้ผ่านวีดีโอชุด “การวางแผนการลงทุน (Investment Planning)” ซึ่งในทุกๆ ตอนจะมีคำอธิบาย ตาราง และ Excel ที่จำเป็นสำหรับช่วยวางแผนเตรียมไว้ให้ใช้อย่างครบถ้วน

หากสงสัยว่าการสร้างผลตอบแทนระดับ 8-12% ในระยะยาวนั้นเป็นไปได้จริงหรือ อยากแนะนำให้ลองเรียนรู้จากวีดีโอชุด “การลงทุนในกองทุนรวม (Mutual Fund Investment)” โดยสามารถเริ่มจาก “ตอนสุดท้าย” ก่อนก็ได้ จะทำให้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ ว่ากองทุนประเภทไหน เหมาะกับเป้าหมายลักษณะไหน และหวังผลตอบแทนได้เท่าไร

ถ้าเรียนแล้วติดใจ อยากจะรู้มากขึ้นอีก วีดีโอบทเรียนทั้งหมดของผม รออยู่ที่ หน้านี้ นะครับ เชิญเรียนรู้กันได้ฟรีๆ ครับ แต่ถ้าหลังจากศึกษาทั้งหมดแล้ว ค้นพบตัวเองว่าต้องการจะใช้วิธีการลงทุนที่ “พิเศษ” ขึ้นไปกว่านี้ ได้มากกว่านี้ เร็วกว่านี้ ผมเองไม่ได้ห้ามครับ แต่อยากบอกว่า ผลลัพธ์ที่พิเศษ ก็มีให้กับคนที่พยายามมากเป็นพิเศษ ถ้าท่านมั่นใจว่ามีความตั้งใจทุ่มเทศึกษา ผมคิดว่าก็ไม่เสียหายอะไรที่จะ Aim for the Best แต่อย่าลืม Prepare for the Worst ด้วยแล้วกันนะครับ

1 COMMENT

  1. วอร์เรน บัฟเฟต “ อย่าเชื่อใครเพียงเพราะเค้ามีสถานะเหนือกว่าหรืออายุมากกว่า เช่น ครูจะพูดถูกก็เพราะสิ่งที่ครูพูดมันถูก ไม่ใช่ถูกเพราะครูเป็นครู “
    หนังสือเศรษฐีชี้ทางรวย “ ตอน..กำแพงแห่งบาบิโลน “
    พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ “ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ดี ที่ดีคือเดินสายกลาง ”
    ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here