ผมเป็นคนที่ชอบกินกาแฟสดจนถึงขั้น “ติดงอมแงม”
เนื่องจากชอบกิน “เย็น” เท่านั้น ไม่กินแบบร้อน
เลยอาศัยกาแฟ “ฟรี” ของออฟฟิศไม่ได้
ดังนั้น แม้จะอยากประหยัด ก็ยังต้องซื้อทุกวัน
สมัยนั้นผมทำงานออฟฟิสใจกลางเมืองย่านสีลม
ในขณะที่พี่ๆ น้องๆ ส่วนใหญ่ซื้อกาแฟมีระดับ
จากร้านแบรนด์ฝรั่ง เช่น Starbucks, Au Bon Pain ฯลฯ
ผมยังคงซื้อกาแฟแก้วละ 30 กินทุกๆ วัน
พร้อมๆ กับท่องไว้ในใจว่า ช่วงนี้เราอยู่ในช่วง “สะสม”
เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่ากำลังทำอะไรกับชีวิต
แม้จะอยากกินกาแฟแพงๆ แบบคนอื่นบ้าง
ก็จะยอม “ชะลอ” ความอยากนี้ไปก่อน
ไว้วันหน้าเป้าหมายสำเร็จ ค่อยกินก็ได้
ทุกๆ สิ้นปี จะเป็นช่วงที่ผมตื่นเต้นมากเมื่อโบนัสออก
ที่ตื่นเต้นที่สุดก็คือ จะได้นำเงินโบนัส
ไปเติมใน “กองทุนสู่อิสรภาพทางการเงิน” ของตัวเอง
ทำให้ย่นระยะเวลาถึงเป้าหมายได้มากขึ้น
แต่ที่ตื่นเต้นรองลงมา ซึ่งแทบไม่มีใครรู้
นอกจากคนใกล้ตัวไม่กี่คน นั่นคือ
วันนี้เป็นวันที่ผมจะถือโอกาสกินกินกาแฟแพงๆ กับเค้าบ้าง “ปีละครั้ง” เป็นการให้รางวัลตัวเอง
ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะเข้า Starbucks
เลือกซื้อกาแฟสดเย็นแก้วหนึ่ง ซึ่งหนีไม่พ้น
Iced Latte ขนาด Tall (12 oz) ซึ่งเป็นเมนูเย็นใส่นม
ที่ถูกที่สุดของ Starbucks คือประมาณ 110 บาท
ซื้อก็เงอะๆ งะๆ เก้ๆ กังๆ สั่งไม่ค่อยเป็น
เพราะนานๆ จะเข้าร้านนี้ทีหนึ่ง แถมได้กาแฟแล้วก็ต้องงงต่อ
เพราะชิมแล้วจืด ก็เพิ่งรู้ว่าต้องปรุงหวานเอง (เขินเลย)
หาที่นั่งดีๆ พยายามดื่มด่ำกับบรรยากาศ
ที่ “เค้าว่ากันว่า” เป็น Starbucks Experience
หาไม่ได้ที่ไหน นี่ล่ะที่เราต้องยอมจ่ายแพงๆ
ซึ่งปีแรกๆ ก็ดีครับ มันก็ยัง “มโน” ไปว่า “เจ๋ง”
ผ่านมาหลายปี…
ปัจจุบันผมบรรลุเป้าหมายที่ต้องการแล้ว
สามารถที่จะกินกาแฟแพงๆ เมื่อไรก็ได้ วันละหลายๆ ครั้งก็ได้
แต่ผมกลับ “ไม่ตื่นเต้น” ที่จะกินมันแล้ว
จะเข้าไปก็เมื่อจำเป็นต้องใช้ “สถานที่” ของเค้า
หรือเมื่อมีใครนัดผมที่นั่นเท่านั้น
เพิ่งจะได้มา “พิจารณา” ความรู้สึก “อยาก” ณ ตอนนั้น
ว่ามันเป็นความอยากปลอมๆ เท่านั้นเอง
การโฆษณา การสร้างภาพลักษณ์ กระแสสังคม
มันทำให้เรามีมุมมองที่ “บิดเบือน” คิดว่ามันเจ๋ง
ต่อให้กินแล้วมันเฉยๆ หรือ มันไม่อร่อย
เราก็ยังจะแก้ตัวให้มัน ยังจะคิดว่ามันเจ๋งอยู่ดี
บรรยากาศมันก็ไม่ได้ขนาดนั้น
บางแห่งก็วุ่นวาย บางแห่งก็หนาวไป บางแห่งก็ร้อนไป
ที่นั่งก็สูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง ทำงานได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ
ไม่ค่อยมีสมาธิ ยิ่งถ้าวันไหนมี 1 แถม 1 นี่
จบกันเลยกับ Starbucks Experience
คิดตามประสา คนที่สนใจเรื่องเงินแล้ว
ผมว่าส่วนต่าง 110 – 30 = 80 บาทนั้น… มันไม่คุ้มเลย!
80 บาท ต่อวัน เท่ากับ 2,400 บาทต่อเดือน หรือปีละ 28,800 บาท
มากกว่าเงินเดือนผมสมัยที่ทำงานปีแรกๆ ซะอีก
คิดเล่นๆ ว่าถ้าคนวัยทำงาน ได้ออมเงิน “ส่วนต่าง” นี้
ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน อายุซัก 25 ปี ออมไปถึงอายุเกษียณคือ 60 ปี เป็นเวลา 35 ปี
แล้วเอาไปลงทุน ได้ผลตอบแทนซัก 12% เงินส่วนต่างแค่นี้ จะโตเป็น 15 ล้านบาท
สามารถใช้เกษียณได้สบายๆ ไม่ต้องเพิ่มเงินอะไร แถมก็ยังได้กินกาแฟ (แก้วไม่แพง) อยู่ทุกๆ วัน
คิดให้กว้างขึ้น มันก็ไม่ได้มีแค่เรื่องกาแฟ
ส่วนเพิ่มที่ “ไม่คุ้ม” จ่าย ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง
เช่น ราคามือถือ ระหว่างรุ่นความจุมาก เช่น 64GB, 32GB
กับรุ่นความจุพอใช้ 16GB ก็จะต่างกันมาก
จริงๆ ก็ใช้รุ่นกลางๆ พอพื้นที่เหลือน้อย ก็โอนย้ายเข้าไปเก็บในคอมพ์ได้
แต่เราก็ยังนิยมซื้อรุ่นความจุเยอะๆ ดองไฟล์ไว้ในเครื่อง โดยที่แทบไม่เคยเปิดดูไฟล์พวกนั้นเลย
บางท่านรู้อย่างเดียวว่า ต้องเอาตัว Top
ราคารถยนต์รุ่น Top กับรุ่นกลางๆ หรือรุ่นรอง Top ก็เหมือนกัน
จะเห็นอีกเช่นเคยว่า ต้องจ่ายเพิ่มมาก บางรุ่นจ่ายเพิ่มกันเป็นแสน เพื่อจะกระโดดไปเป็นรุ่น Top
ทั้งๆ ที่สิ่งที่ได้เพิ่มมานั้น ไม่ได้มีค่าขนาดนั้น หรือบางคนไม่เคยได้ใช้เลยด้วยซ้ำ
หากช่างสังเกตสักนิด ก็จะพบว่าแพ็คเก็จสินค้าและบริการต่างๆ
มักจะมี “ส่วนเพิ่มที่ไม่คุ้มจ่าย” ลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ซึ่งผู้ขายก็ชอบกระตุ้นให้เราต้องจ่ายส่วนต่างตรงนั้นเพิ่มขึ้น
พยายามสร้างภาพ สร้างข้อความหว่านล้อม
สร้างกรอบความคิดให้เราคล้อยตาม เพื่อให้เราจ่ายให้มากที่สุดให้ได้
ประเด็นของผม ไม่ใช่บอกว่าห้ามกิน ห้ามใช้ ห้ามซื้อ
หรือให้ประหยัดเพื่อวันหน้า จนไม่ต้องมีความสุขวันนี้นะครับ
ผมแค่อยากบอกว่า เราสามารถมีความสุขวันนี้ได้ “พอสมควร”
และสามารถเตรียมความพร้อมให้กับวันข้างหน้าได้ดีขึ้น ไปพร้อมๆ กันได้
แค่เราใช้ “ปัญญา” ในการเลือกบ้าง แยกให้ออกระหว่าง “คุณค่าแท้” กับ “คุณค่าเทียม”
ในหลวงท่านก็สอนให้เรา “พอประมาณ” และ “มีเหตุผล”
เราก็ถึงกับเอา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไปเขียนใส่ในรัฐธรรมนูญ
แต่ในชีวิตจริง เราทำกันแล้วหรือยัง ?
พฤติกรรมเล็กๆ นิสัยเล็กๆ ที่เราทำทุกวันนี่แหละครับที่จะมีผลกับชีวิตเรามาก
ไม่ใช่ Action ใหญ่ๆ ที่เห่อทำกันเป็นช่วงๆ หรอก!
ผมก็ให้รางวัลกับ กาแฟ”S” เฉพาะเวลาพิเศษ หรือ จำเป็นต้องนัดเจอใคร เพื่อดูเรื่องงาน แต่ก็แอบบ่อยกว่า ประมาณเดือนละครั้งได้ แต่หลังๆเริ่มลดลง หากาแฟร้านทางเลือกมากขึ้น (ผมกินแต่กาแฟร้อน งดน้ำตาล น้ำเชื่อม)
การตัดสินใจกระทำของคนมันมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ตัว คือ อารมณ์ กับ เหตุผล
อย่างเรื่องของกาแฟ
กาแฟร้านหรู ความอร่อยก็ไม่ได้ต่างจากร้านธรรมดามากนัก แต่ทำไมราคาถึงต่างกันมากมาย และกาแฟแพงทำไมคนถึงแย่งกันซื้อ
มันเป็นเรื่องของอารมณ์นำเหตุผลครับ คนที่เข้าไปซื้อเขาจะรู้สึกเท่ รู้สึกเป็นคนมีระดับ มีฐานะ มีรสนิยม และอื่นๆ เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม ฉะนั้นแพงเท่าไหร่ไม่ว่า ขอให้ได้รับการยอมรับนับถือก็พอ
กาแฟที่คุณว่าผมก็เคยลองแล้ว ในความรู้สึกผมมันก็คล้ายๆ กาแฟทั่วไปนั่นแหล่ะ หรือว่าปากผมไม่ถึงไม่รู้นะ แยกไม่ออกว่าอันไหนธรรมดาอันไหนเทพ แต่ถ้าปากผมไม่ถึงก็ดีเหมือนกัน ผมจะได้ไม่ถวิลหามันให้เปลืองเงิน ผมก็เป็นคนชอบกาแฟ ดื่มทุกวัน กาแฟของผมแก้วละ 3 บาท ชงเองที่บ้านและที่ทำงาน ดื่มก็อร่อยดี นี่เรียกว่าใช้เหตุผลนำอารมณ์ความรู้สึก
นักการตลาดเข้าใจประเด็นนี้ดี เขาจึงมักปลุกอารมณ์คนซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึก อัดข้อมูลเข้าไปว่ากาแฟดีต้องเป็นอย่างไร กินแล้วจะได้อรรถรสอย่างไร และอื่นๆ อีกมาก เดี๋ยวก็มีคนแห่มาซื้อด้วยอารมณ์ความรู้สึก
เอาตัวอย่างที่เห็นชัดกว่านี้อีกตัวอย่างก็แล้วกัน ว่าด้วยเรื่องของปลาเนื้ออ่อน ปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ถ้าซื้อที่ตลาดสด กก.ละ 250 แต่ซื้อในห้าง 499 ปลาเนื้ออ่อนเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ความสดเท่ากัน ปลาเนื้ออ่อนยังเลี้ยงขายไม่ได้ เป็นปลาที่ต้องจับจากธรรมชาติเหมือนกัน แล้วปลามันต่างกันตรงไหน ราคาถึงต่างกันมาก มันเป็นเรื่องของการตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์นำเหตุผลนั่นเอง
ตัวอย่างใกล้ตัวอีกตัวอย่าง เรื่องการแต่งงาน แค่เรื่องชุดเจ้าสาว บางคนเสียเงินหลักพัน แต่บางคนเสียเงินหลักแสน ชุดก็ใส่วันเดียว ทำไมเสียเงินต่างกันมาก ไม่ว่าชุดจะถูกหรือแพงก็ได้แต่งงานเหมือนกัน ได้อยู่กับคนรักเหมือนกัน ทำไมต้องผลาญเงินเล่น มันเป็นเรื่องของอารมณ์นำเหตุผลอีกนั่นแหล่ะ