หลายท่านที่เคยมีประสบการณ์ในการวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับตนเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการศึกษาดีๆ ให้บุตร การวางแผนเกษียณอายุ ไปจนถึงการวางแผนสร้างทรัพย์สินที่จ่าย Passive Income เพื่อให้อิสรภาพทางการเงินกับตนเองในอนาคต คงจะพบว่า การจะบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้เร็วนั้น เราจำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ดี นั่นคือ…
- มีรายได้ที่ดี
- มีรายจ่าย หรือภาระต่างๆ ที่ไม่มากเกินไป
- มีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงพอ
แน่นอนว่าทั้ง 3 ปัจจัยต่างก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ถ้าถามว่า “ปัจจัยใดสำคัญที่สุด” ผมคิดว่าปัจจัยที่ 1 คือการ “มีรายได้ที่ดี” มีความสำคัญที่สุด
นั่นก็เพราะปัจจัยที่ 2 คือเรื่องรายจ่ายนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เรามีอำนาจควบคุมสูง แต่ให้ประหยัดอย่างไร เราก็ยังคงต้องใช้จ่าย ยิ่งมีภาระมากขึ้นเช่นมีครอบครัวมีลูก รายจ่ายที่สามารถประหยัดได้ก็มักจะลดลง ยิ่งถ้าพยายามกดดันตัวเองมากเกินไป ความสุขในปัจจุบันก็จะลดลงด้วย ดังนั้น ส่วนต่างที่เกิดจากการประหยัดนั้นจึงมีขอบเขตที่จำกัด
ส่วนปัจจัยที่ 3 เรื่อง ผลตอบแทนการลงทุนนั้น ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ยังมีปัจจัยภายนอกเช่นภาวะตลาดที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งต่างกับเรื่องของรายได้ที่ผมคิดว่าเราควบคุมได้มากกว่า และการเพิ่มรายได้นั้นหลายๆ กรณีเป็นอะไรที่เพิ่มแล้วเพิ่มเลย ไม่ค่อยปรับลดลงมาอีก
เพิ่มรายได้แบบมนุษย์เงินเดือน
แนวทางการเพิ่มรายได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ทำงานกินเงินเดือนนั้น ก็มีอยู่หลากหลายวิธี ตั้งแต่การทำอาชีพเสริม เช่น ธุรกิจส่วนตัวต่างๆ หรือ การค้าขายออนไลน์ ที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำได้ บางคนเอาเวลาว่างไปขับรถรับจ้าง (เช่น Uber หรือ Grab) ไปทำธุรกิจขายตรง ไปเป็นตัวแทนประกันชีวิตก็มี
ส่วนท่านที่มีทักษะความเชี่ยวชาญมากหน่อย คือมีความเป็น Specialist ในด้านต่างๆ ก็สามารถที่จะใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเองไปสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งมักจะดีกว่าเรทเงินเดือนจากงานประจำ อย่างผมเองสมัยก่อนก็หารายได้เสริมจากงานวิทยากร ซึ่งค่าแรงดีมากเมื่อเทียบกับเงินเดือน บางงานทำแค่วันเดียวก็ได้รายได้เพิ่มเกือบเท่าเงินเดือนทั้งเดือน ซึ่งนอกจากงานวิทยากรแล้ว Specialist หลายๆ ท่านก็ยังสามารถรับงานที่ปรึกษา จัดสัมมนา แต่งหนังสือ ทำคอร์สออนไลน์ หรือรับงาน Freelance ไปพร้อมๆ กับการทำงานประจำได้
แต่ช่องทางทั้งหมดที่กล่าวมาข้างบนนั้น ก็ต้อง “ขวนขวาย” พอสมควร เพราะเป็น “งานเพิ่ม” จากภาระงานเดิม จึงมีคนที่ “ใจถึง” ทำได้ไม่มาก
คำถามคือ ถ้าเรามีข้อจำกัดทำงานเสริมไม่ได้ เรายังมีทางเลือกในการเพิ่มรายได้อยู่มั๊ย ?
ยกระดับตัวเอง… เพิ่มรายได้จากงานประจำ
ก็ถ้าทำงานเสริมไม่ไหว… ทางเลือกสุดท้ายคือการกลับมาทำงานหลักให้ดีที่สุดนั่นล่ะครับ!
ส่วนจะทำยังไงนั้น ผมอยากเล่าเรื่อง “คน 3 ระดับ” ที่เป็นหลักคิดที่ผมใช้มาตั้งแต่ปีแรกๆ ของการทำงานให้ทุกท่านได้ลองคิดตาม โดยหลักคิดนี้ผมได้รับการอบรมสั่งสอนจาก ดร.สมจินต์ ศรไพศาล (กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย) นายของผม ณ ขณะนั้น ซึ่งในบทความนี้ผมมีดัดแปลงเป็นภาษาและความเข้าใจของผมนิดหน่อย เพราะจำประโยคเป๊ะๆ ที่ท่านสอนไม่ได้ทั้งหมด
เรื่องมันเกิดช่วงปีแรกๆ ของการทำงานของผม ซึ่งเป็นปีที่ผมได้รับโบนัสและการปรับขึ้นเงินเดือนค่อนข้างมาก ซึ่งโดยธรรมเนียมนายก็จะบอกเหตุผลให้ฟัง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่อง “คน 3 ระดับ” โดย ดร.สมจินต์ บอกผมว่าสำหรับท่านซึ่งเป็นผู้บริหาร มีลูกน้องที่ต้องรปกครองนั้น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประเมินและตัดสินผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งท่านแบ่งคนเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 : ทำงานได้ตามที่สั่ง
คนทำงานกลุ่มนี้ มีมากที่สุดในทุกๆ องค์กร ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจดำเนินไปได้ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็ยังต้องการการกำกับดูแลอย่างมาก จะให้เค้าทำอะไรก็ต้องบอก ต้องเจาะจง ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติงานให้ เมื่อเค้าติดขัดอะไรเค้าก็จะมาถาม เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องส่งงาน หลายๆ ครั้งก็ต้องลุ้นว่างานจะเสร็จมั๊ย และยังต้องลุ้นอีกต่อด้วยว่า งานที่ทำมันจะ “ใช้ได้” รึเปล่า ส่วนถ้าช่วงไหนไม่ได้มีงานอะไรที่มอบหมายเป็นพิเศษ คนทำงานกลุ่มนี้ก็จะไม่รู้ว่าควรทำอะไรดี
หากถามว่าพนักงานกลุ่มนี้ ควรจะได้ค่าตอบแทนมากๆ รึเปล่า ? เราน่าจะตอบกันได้ว่า “ไม่ใช่” และในความเป็นจริง คนทำงานกลุ่มนี้ ก็จะได้รับค่าตอบแทนในเรทปกติ เป็นเรทค่าเฉลี่ยๆ ที่คนส่วนใหญ่ได้กัน (นั่นก็เพราะคนกลุ่มนี้มีมากที่สุดในทุกๆ องค์กร) เช่น ถ้าคนส่วนใหญ่ได้โบนัสกัน 2 เดือน เงินเดือนขึ้น 5% กลุ่มนี้ก็ได้กันประมาณนั้น บวกลบก็ไม่มาก
ระดับที่ 2 : ทำงานได้ดีกว่าที่สั่ง
คนทำงานกลุ่มนี้ พัฒนาขึ้นกว่ากลุ่มแรกมาก แม้นายยังต้องมอบหมายงานเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ต้องเจาะจงรายละเอียดอะไรมากนักแล้ว เพราะคนกลุ่มนี้ “รู้งาน” รู้ว่าติดขัดจะต้องไปถามใคร ไปหาข้อมูลที่ไหน เป็นพวกที่สั่งงานแล้วแม้จะเงียบหาย แต่เมื่อถึงกำหนดส่ง ก็จะมีงานมาส่งตรงเวลาทุกครั้ง และคุณภาพงานก็ดี ในระดับที่นาย “ไว้วางใจ” คือแค่สั่งงานเสร็จ ก็ “อุ่นใจ” แล้ว ว่างานนี้เสร็จตรงเวลาและดีแน่ๆ
หลายๆ ครั้งคนกลุ่มนี้ยังทำงานได้ดีเกินกว่าความคาดหมาย เพราะมีการ Add Value หรือคิดรายละเอียดของงานเพิ่มให้ในบางประเด็นที่นายคิดไม่ถึง จนนายอาจต้องยิ้มเมื่อได้เห็นงานที่คนกลุ่มนี้ทำส่ง ซึ่งนั่นทำให้เมื่อมีงานสำคัญในครั้งต่อๆ ไป คนกลุ่มนี้ จะเป็นคนกลุ่มแรก ที่นายจะจ่ายงานให้ ซึ่งบางครั้งก็หนักไปบ้าง แต่มันจะ “เคี่ยวกรำ” คนกลุ่มนี้ให้แกร่งขึ้นไปอีก
แน่นอนว่าผลประโยชน์ค่าตอบแทนที่คนกลุ่มนี้ได้รับย่อมจะสูงกว่าคนกลุ่มแรก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรด้วยว่ามีความ “ยืดหยุ่น” และดูแล “คนเก่ง” ได้ดีขนาดไหน แต่จากประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นคนกลุ่มนี้มา เราจะรู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ เมื่อได้รู้ว่าสิ่งที่เราได้รับนั้นดีกว่าค่าเฉลี่ย เพราะงานที่เราทำนั้นก็มีมาตรฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่นกัน (แต่ถ้าเมื่อไรไม่ได้อย่างที่คิด ก็น้อยใจเหมือนกันนะ)
ระดับที่ 3 : ไม่จำเป็นต้องสั่ง
จะบอกว่าไม่ต้องสั่งอะไรเลยมันก็จะเว่อร์เกินไป เพียงแต่งานพื้นฐานต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสั่งหรือมอบหมายคนกลุ่มนี้อีกแล้ว เพราะเค้ารู้หน้าที่ และ มีความรับผิดชอบสูง แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มที่ 2 คือความสามารถในการ “คิดไปข้างหน้า” ว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งที่ควรทำ (แต่ยังไม่มีใครทำ)
คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ทันสถานการณ์ ทันสมัย เข้าใจแนวโน้มต่างๆ ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง ให้องประชุม มักจะเป็นคนที่เสนอแนวความคิดใหม่ๆ เป็นคนที่อาจดูพูดมาก ช่างเสนอแนะ ดูจะชอบ “หาเรื่อง + หางานเข้าตัว” ในสายตาของคนกลุ่มอื่นๆ และมักจะเป็นต้นเหตุให้คนกลุ่มอื่นๆ ต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะดันไปสร้างงานเพิ่มให้เค้า แต่ก็เป็นคนที่ “อยู่ในสายตา” ของผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กร
เรื่องค่าตอบแทนคนกลุ่มนี้ได้ดีมาตั้งแต่ตอนที่เป็นคนระดับที่ 2 แล้ว แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้จะได้เพิ่มขึ้นคือ “หน้าตา” หรือ “ตำแหน่ง” และโอกาสในการได้รับการผลักดันขึ้นเป็นผู้บริหารระดับที่สูงๆ ขึ้นไป ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคนที่มี “สปิริตของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit)” ทั้งๆ ที่ทำงานประจำอยู่ คือเค้าคิด เค้าทำงานเหมือนกับบริษัทเป็นของเค้า ไม่ได้ต้องรอให้ใครมาบอกอะไร แต่คิดฝันถึงความก้าวหน้าต่างๆ ที่จะทำให้บริษัทอยู่เสมอ
ใครที่คิดจะลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจส่วนตัว ผมคิดว่าควรจะเป็นคนระดับนี้ให้ได้ก่อน เพราะเมื่อออกมาทำธุรกิจเองแล้ว ไม่มีใครมาสั่งงาน มามอบหมาย มาโมติเวทให้เราคิดเราทำอะไรอีกต่อไป เราเองต้องเป็นผู้ผลักดันทุกอย่างให้เกิดขึ้นเองทั้งสิ้น
เราเป็นคนระดับไหน ?
ในวันที่ผมได้ยินเรื่อง “คน 3 ระดับ” ครั้งแรกนั้น นายผมบอกว่าผมเป็นคนระดับที่ 2 ซึ่งปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้ว ผมเชื่อว่ามันก็น่าจะพัฒนาขึ้นบ้าง เพราะตอนนี้ก็ออกมาทำงานของตัวเองโดยไม่มีนายจ้างแล้ว และระหว่างทางของการพัฒนานั้น ทั้งทักษะ ทั้งประสบการณ์ และรายได้มันก็เติบโตขึ้นมามากอย่างน่าตกใจ
รายได้ต่อเดือนจากสองหมื่นกว่าบาท ในเวลาไม่ถึง 5 ปี ก็ขึ้นมาเป็นเลขหกหลักได้ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมากนั้น เมื่อนำไปรวมกับอีก 2 ปัจจัยคือการใช้จ่ายอย่างประหยัดพอเพียง การลงทุนที่ดี ทำให้เป้าหมายทางการเงินต่างๆ ที่วาดฝันไว้ สามารถบรรลุได้รวดเร็วขึ้น
เห็นตัวเองได้ดีแรกๆ ก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องฟลุ๊ค คิดว่ามันคงเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นกับแค่ตัวเอง แต่เมื่อมีโอกาสได้ให้คำปรึกษากับคนจำนวนมากขึ้น (ช่วงหลังนี้ ปีหนึ่งผมจะมีโอกาสได้โค้ชชิ่งลูกศิษย์แบบ Face-to-Face ประมาณ 100 คนขึ้นไป) ผมเริ่มได้ประจักษ์กับความจริงว่า มันไม่ได้มีแค่ผมหรอกที่ได้แบบนี้ เพราะลูกศิษย์จากหลายๆ สาขาอาชีพ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน อายุประมาณยี่สิบปลายๆ จนถึง สามสิบต้นๆ ก็มีรายได้แถวๆ หกหลักกันอีกหลายคน ซึ่งถ้าอายุเท่านี้ ทำกันได้ขนาดนี้ เมื่อเติบโตขึ้นไป มันก็จะมากขึ้นอีก
ประเด็นตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเป็นคนระดับไหน ได้รายได้เท่าไรหรอกครับ แต่ประเด็นมันคือ “เราเป็นคนระดับไหน” ต่างหาก เพราะถ้าเราเองยังเองยังมี “Value” ที่ไม่มากพอ ยังเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่มมากๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สร้างคุณค่าได้สมกับสิ่งที่ควรได้ เราก็กำลังเรียกร้องในสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” อยู่
ส่วนถ้าใครที่คิดว่าตนเองเป็นคนระดับที่สูงขึ้นแล้ว มีคุณค่าที่สุกงอม สร้างประโยชน์ได้มาก แต่ก็ยังได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ผมเองก็คิดว่า “เรามีอิสระที่จะเลือก” เช่นกัน ดังนั้น ก็อย่าเสียเวลาอยู่กับองค์กรหรือนายที่ไม่เห็นคุณค่าของเรานานนัก ชีวิตก็สามารถก้าวต่อไปได้
แต่บอกเลยว่า ต่อให้ค่าตอบแทนท่านไม่เพิ่ม แต่ทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ที่หล่อหลอมเป็นอุปนิสัยของท่าน มันจะติดตัวท่านไปตลอด และมันมีคุณค่ายิ่งกว่ารายได้ที่เป็นตัวเงินในระยะสั้นๆ เป็นไหนๆ ครับ
การหาเงินก็สำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าการบริหารจัดการเงินที่หามาได้ครับ
หาได้ เดือน 100,000 ใช้ 100,000 จะเหลืออะไร
หาได้เดือน 9,000 ใช้ 5,000 เหลือเดือน 4,000
1 ปี ก็ 48,000 แล้วนำไปลงทุนให้เงินงอกเงย ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 20 ปีผ่านไป คนละเรื่อง
การบริหารจัดการเงินที่หามาได้ก็คือ การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ แล้วนำเงินเหลือเก็บไปลงทุนนั่นเอง
คุณจะเห็นว่าคนแรกไม่รวย ถึงแม้จะมีรายได้มากกว่ามาก
คนที่สองรวย เพราะบริหารจัดการเงินที่หามาได้ดีกว่า ไม่ใช่รายได้มากกว่า
คนส่วนใหญ่หาเงินมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองครับ แต่คนส่วนใหญ่กลับจนเพราะนิสัยและพฤติกรรมเป็นแบบคนจน
คนส่วนใหญ่เมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้น คุณอาจคิดว่าเขาควรจะรวยขึ้น แต่ความจริงไม่
คนเราเมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สมองก็คิดแต่จะหาทางใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เหมาะสมกับเกียรติตำแหน่ง/ฐานะที่เพิ่มขึ้นใหม่
T.Harv Eker บอกว่า มันมีเครื่องควบคุมระดับเงินอยู่ในแต่ละคน ซึ่งมันจะไปกำหนดความจน/ความรวยของแต่ละคน ถ้าเครื่องควบคุมเงินของคุณอยู่ในระดับหมื่น ถึงคุณจะหาเงินได้เป็นแสนเป็นล้าน เดี๋ยวคุณก็ใช้เงินจนเหลือเงินหมื่น แต่ถ้าเครื่องควบคุมระดับเงินของคุณอยู่ที่ระดับ 10 ล้าน เดี๋ยวคุณก็สร้างมันขึ้นมาได้ ดังนั้นถ้าอยากรวยจึงต้องปลูกจิตสำนึกให้เครื่องควบคุมระดับเงินอยู่ในระดับสูงก่อน
คุณเอมีนิสัยและพฤติกรรมเป็นแบบคนรวยอยู่แล้ว จึงคิดว่าการหาเงินสร้างรายได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ยิ่งหาได้มากก็จะยิ่งเก็บเพื่อลงทุนเพิ่มได้มากเพราะนิสัยการใช้ชีวิตเรียบง่ายของคุณเอทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากนัก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบนั้น ถ้าคิดตามกฏ 80/20 คุณเอก็จะจัดเป็นคนในกลุ่ม 20 % ส่วนคน 80 % ที่เหลือก็จะอยู่ในกลุ่มตรงข้าม คนกลุ่มนี้ไม่อาจหักห้ามใจต่อการใช้จ่ายได้ ได้เงินมาเท่าใดก็ไม่เหลือ ดังนั้นนิสัยและพฤติกรรมเรื่องการใช้จ่ายจึงเป็นปัญหามากที่สุด และสำคัญที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่
ส่วนเรื่องคน 3 ระดับนั้น มันมีความลึกซึ้งมากกว่าที่คุณเอคิด
คุณเอเป็นคนระดับ 2,3 ที่โชคดีที่ได้ทำงานในองค์กรที่ให้ผลตอบแทนตามความสามารถ องค์กรนี้ให้ความสำคัญกับคนเก่ง คนเก่งจึงมักได้ดิบได้ดีกับองค์กรนี้
แต่ความเป็นจริง สถานที่ทำงานสร้างรายได้ส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนี้ครับ
ผลการวิจัยก็มีออกมาแล้ว เขาพบว่าคนที่มีสติปัญญาดีมักจะมีโอกาสได้งานมากกว่าคนปานกลาง แต่เมื่อทำงานไปแล้วคนปานกลางกลับมีโอกาสเจริญก้าวหน้าได้ดีกว่า
ไทยเป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออก คนแถบนี้ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพหรือระบบอุปถัมป์มากกว่าผลงาน
คนเก่งมักทำให้เจ้านายและเพื่อนรู้สึกเสียหน้า อย่าเติบโตเลย ลองไปอ่านวรรณกรรมเรื่องสามก๊กนะครับ ศึกษาชีวิตคนเก่งเพื่อนขงเบ้งที่ชื่อชีซี
” ดีครับท่าน เยี่ยมครับนาย ” วลีอมตะที่ทำให้คนได้ดี วลีนี้ออกจากปากคนเก่งหรือเปล่า?
ดังนั้นคุณควรเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละแห่งด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบที่คุณเอเคยทำงานด้วย
การทำงานในองค์กรส่วนใหญ่คนเก่งมักไม่ค่อยได้ดี แต่ความเก่งความฉลาด ขยันทำงาน ขยันคิด ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ดีในองค์กร แต่สิ่งเหล่านี้มันกลับช่วยหล่อหลอมให้คุณมีความคิด/ความรู้และประสบการณ์ชำนาญเหนือคนอื่น บุคคลเหล่านี้ถ้ามีธุรกิจหรือการลงทุนของตัวเองก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่ามาก
ดังนั้นบวกลบคูณหารแล้ว ขยันทำงานเถอะครับ เพราะมันจะเป็นต้นทุนชีวิตให้เราไปทำอย่างอื่นประสบความสำเร็จมากกว่า
หลังจากได้อ่าน หัวข้อ คุณเป็นคนระดับไหน ก็ได้เงินระดับนั้น รู้สึกดีมาก และเข้าใจที่ผู้เขียนสื่อ แค่เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็นคนประเภทไหน (ไม่อยากเข้าข้างตัวเอง…555) ถ้าสมมุติ ตอนนี้อยู่ในประเภท 2 แล้วเราสามารถยกระดับของตัวเองไปเป็นระดับ 3 ได้มั้ย รบกวนช่วยชี้แจ้งด้วยค่ะ